แม่วัยรุ่นอยู่ที่ไหน งานวิจัยพบ "ประจวบคีรีขันธ์" เป็นจังหวัดที่มีอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีสูงมาตลอด ปี 2559 สูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ
วันที่ 31 ตุลาคม กรมอนามัย ร่วมกับกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข สํานักบริหารการทะเบียน กระทรวงมหาดไทย สํานักงานสถิติแห่งชาติ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจําประเทศไทย (UNFPA ) เปิดตัวรายงานการบูรณาการข้อมูลเพื่อลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ณ ห้องแคทลียา 2 โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ กรุงเทพฯ
พญ. พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว เรื่อง “แม่วัยรุ่นอยู่ที่ไหน”
สำหรับสถานการณ์แม่วัยรุ่น พญ. พรรณพิมล กล่าวว่า จากที่เคยเพิ่มขึ้นปี 2543 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2556
"อัตราการคลอดในหญิงวัยรุ่นที่ลดลงปัจจุบันยังไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดให้มีแม่วัยรุ่นไม่เกิน 25 คนต่อประชากรวัยรุ่นหญิงอายุระหว่าง 15-19 ปี พันคนภายในปี 2569"
นอกจากนี้ ข้อมูลปี 2561 พบว่า แม่วัยรุ่น (อายุ 10-14 ปี) มีจำนวน 2,385 คน แม่วัยรุ่น (15-19ปี) มีจำนวน 70,181 คน โดยจำนวนแม่วัยรุ่นที่เกิดในแต่ละวันมีถึง 199 คน ซึ่งลดลงจากเคยมีจำนวนถึง 362 คนต่อวันในปี2554
"ข้อมูลแม่วัยรุ่นของไทยที่ผ่านมาใช้ข้อมูลจากฐานทะเบียนเกิดของกระทรวงมหาดไทยตามรายงานที่อยู่ในใบแจ้งเกิด ซึ่งพบว่า วัยรุ่น 1 ใน 4 ไม่ได้อาศัยอยู่ในจังหวัดที่ตนเองคลอดบุตร ทำให้ข้อมูลวัยรุ่นตามจังหวัดที่คลอดบุตรกับข้อมูลวัยรุ่นตามจังหวัดที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน มีความแตกต่างกัน"
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวอีกว่า เมื่อใช้เลขบัตรประจำตัว 13 หลัก เชื่อมข้อมูลการคลอดบุตรของวัยรุ่นจากฐานทะเบียนการเกิด ซึ่งบันทึกจังหวัดที่อยู่ตามใบแจ้งเกิด กับข้อมูลแม่วัยรุ่นตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน พบว่า ข้อมูลแม่วัยรุ่นของหลายจังหวัดเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก เช่น ชลบุรี ระยอง นครนายก สมุทรสาคร สระบุรี ภูเก็ต มีอะตราคลอดแม่วัยรุ่นน้อยลงมาก
" ข้อมูลอัตราการคลอดในวัยรุ่นของประเทศยังคงมีลักษณะแยกส่วน มีจุดแข็งและข้อจำกัดของแต่ละแหล่งข้อมูลที่ต่างกัน"
สถานการณ์แม่วัยรุ่นระดับอำเภอแตกต่างจากสถานการณ์ระดับจังหวัดมากในหลายพื้นที่ เช่น เชียงใหม่ และชลบุรี มีอัตราการคลอดในหญิงวัยรุ่นตามที่อยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ
แต่เมื่อพิจารณารายอำเภอ กลับพบว่า อำเภอออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี มีอัตราการคลอดในหญิงวัยรุ่นในระดับอำเภอสูงเป็นอันดับที่ 12 และ 14 ของประเทศ
ดังนั้น การมองสถานการณ์ในระดับจังหวัดจึงไม่เพียงพอ เนื่องจากอาจทำให้พื้นที่เสี่ยงบางแห่งถูกละเลยได้ การวิเคราะห์ในระดับอำเภอพบว่า อำเภอที่มีอัตราการคลอดในวัยรุ่นสูงเป็นอันดับต้น ๆ มักเป็นอำเภอที่อยู่ตามชายแดน หรือห่างไกลจากเขตเมืองของแต่ละจังหวัด โดยอำเภอเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในจังหวัดที่มีอัตราการคลอดสูงเสมอไป
หมายเหตุ: จังหวัดที่แม่คลอดบุตร = คนจากจังหวัดอื่นมาคลอด
ทั้งนี้ ผลการศึกษาแม่วัยรุ่นในประเทศไทย ใช้การวิเคราะห์ ข้อมูล จากข้อมูลการเกิดจากฐานทะเบียนราษฎร์ ปี 2559 และ 2561 และข้อมูลการเกิดจากสำมะโนประชากรและการเคหะ ปี 2543-2553 และข้อมูลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี ทั้งระดับประเทศและระดับจังหวัด ปี 2558-2559 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ
ความน่าสนใจผลการศึกษา หากดูข้อมูลรายจังหวัด จากการศึกษาสถานการณ์การคลอดของแม่วัยรุ่น พบว่า ประจวบคีรีขันธ์ เป็นจังหวัดที่มีอัตราการคลอดในวัยรุ่นอายุ 15-19 ปีที่ค่อนข้างสูงมาตลอด โดยในปี พ.ศ. 2559 อัตราการคลอดในวัยรุ่นของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์สูง เป็นอันดับ 1 ของประเทศ
ปัจจุบันจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มีแนวโน้มการลดลงของอัตราการคลอดในวัยรุ่นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2559 ถึง พ.ศ. 2561 โดยมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจนในเกือบทุกอำเภอ มีเพียงสองอำเภอเท่านั้น ได้แก่ อำเภอบางสะพานและสามร้อยยอด ที่อัตราการคลอดในวัยรุ่นยังคงเพิ่มขึ้น
ดร. วาสนา อิ่มเอม รักษาการหัวหน้าสำนักงานกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย กล่าวถึงรายงานชิ้นนี้ ใช้เวลาศึกษาไม่ต่ำกว่า 2 ปี และแม้ว่า สถานการณ์แม่วัยรุ่นในประเทศไทยโดยรวมจะดีขึ้น แต่ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นยังเป็นความท้าทายของประเทศ “วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน” มีหลักแนวคิดและคำมั่นที่ว่า “จะไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
คลิกดาวน์โหลด : รายงานฉบับสมบูรณ์แม่วัยรุ่นในประเทศไทย