เครือข่ายต้านน้ำเมา บุกยื่นหนังสือ รมว.ท่องเที่ยวฯ ค้านนโยบายเปิดสถานบันเทิง ตี 4 อัดอย่าหน้ามืดมุ่งหาเงิน จนลืมผลกระทบทางสังคม ตั้งคำถาม “อุบัติเหตุเจ็บ ตาย พิการ จากน้ำเมายังไม่พออีกหรือ”
วันที่ 22 สิงหาคม เวลา10.00 น. ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายชูวิทย์ จันทรส ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ พร้อมด้วย นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา นำกลุ่มเหยื่อเมาแล้วขับ เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายลดอุบัติเหตุ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชนและนักศึกษากว่า 40 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผ่านทางนายอารัญ บุญชัย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงฯ เพื่อคัดค้านการขยายเวลาปิดสถานบันเทิงผับบาร์เป็น ตี 4
ทั้งนี้เครือข่ายได้เปิดปราศรัยในประเด็นผลกระทบ ทั้งในมิติอุบัติเหตุ ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาต่อเด็กและเยาวชน อาชญากรรม มิติทางเศรษฐกิจที่ได้ไม่คุ้มเสีย พร้อมทั้งแต่งกายล้อเลียนเป็นผีเหยื่อเมาแล้วขับ ผีทะเลาะวิวาท ร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ชื่อ “หยุดขยายเวลาปิดผับ หยุดทำสังคมเสื่อม”
นายชูวิทย์ กล่าวว่า จากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอให้ขยายเวลาปิดสถานบันเทิงผับบาร์เป็นเวลา 04.00 น.จากเดิม 02.00น. เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ โดยจะไปทำการศึกษาก่อนว่า พื้นที่ไหน ควรจะทำ เพื่อขอหารือกับนายกฯในการประชุม ครม. ต่อมานายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า จะดำเนินการทั่วประเทศ เพื่อเป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย เน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติและเตรียมลงพื้นที่พบปะกับผู้ประกอบการสถานบันเทิงใน พัทยา จังหวัดชลบุรี คาดว่า จะช่วยเพิ่มค่าใช้จ่ายกินดื่มอีก 25% จากปัจจุบันที่มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้เฉลี่ย 5,000-6,000 บาท อย่างไรก็ตามแม้ว่าล่าสุดนายกรัฐมนตรีได้ออกมาให้ความเห็นว่าเรื่องนี้เป็นแค่เพียงแนวคิดเท่านั้น ต้องไปทำการศึกษาให้รอบคอบก่อน ก็มิได้หมายความว่าเรื่องดังกล่าวจะยุติ
นายชูวิทย์ กล่าวว่า เครือข่ายฯ ต้องการมาแสดงจุดยืนและคัดค้าน มาตรการขยายเวลาปิดสถานบันเทิงจากเดิมตี 2 เป็น ตี 4 และจะสานพลังจากทุกภาคส่วนเพื่อต่อต้านเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด เนื่องจากเป็นแนวคิดที่ไม่รอบคอบ อ้างเพิ่มการท่องเที่ยว การจับจ่าย เอาข้อมูลหรืองานวิชาการที่ไหนมารองรับ ตัวเลข 25 % มาได้อย่างไร ต้องเอาความจริงมาตีแผ่กัน
อย่างไรก็ตามเมื่อวิเคราะห์จากข่าวที่ปรากฏทางสื่อมวลชนในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา จะพบว่า ทั้งอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท ฆ่ากันตาย ตลอดจนความรุนแรงในครอบครัว ปล้นจี้ ผู้ก่อเหตุมักจะกินดื่มมาจากสถานบันเทิง และมีจำนวนไม่น้อยที่ก่อเหตุในสถานบันเทิงด้วยจากการเมาขาดสติ
"เราขอตั้งคำถามกับกระทรวงท่องเที่ยวว่า วันที่ทุกฝ่ายทุ่มเทในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบติเหตุเมาแล้วขับ ปัญหาทะเลาะวิวาท ความรุนแรงและอาชญากรรม ที่มีแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วมสำคัญ กระทรวงไม่รู้ร้อนหนาวถึงความยากลำบากในการทำงาน และความสูญเสียที่เกิดขึ้นเลยหรือ คิดเป็นแต่จำนวนนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินเพียงอย่างเดีย ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าใจมาก งานวิจัยพบว่าเงิน 1 บาท ที่เราได้จากวงจรน้ำเมา ความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องจ่ายในการดูแลรักษา ค่าเสียโอกาสในการทำงานและอื่นๆรัฐต้องจ่ายไปถึง 2 บาท ได้ไม่คุ้มเสียอยู่แล้ว ยังจะมีการขยายเวลาเสี่ยงขึ้นไปอีก"
ด้าน นายคำรณ กล่าวถึงการที่ประเทศไทยจะเอาจุดขายในการเพิ่มเวลาเมา ขณะที่ต่างประเทศมีแต่จะจำกัด ควบคุม ถามว่า เหตุใดจึงไม่สนใจผลกระทบอันตราย อุบัติเหตุเจ็บตายพิการ ทะเลาะวิวาท และสร้างความรำคาญให้ประชาชนคนในชุมชนมากขึ้น แค่ปิดตามเวลาปกติเจ้าหน้าที่ยังเอาไม่อยู่ ควบคุมปัญหาไม่ได้ ดังนั้นในเรื่องนี้เครือข่ายฯ ขอคัดค้านจนถึงที่สุด ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.ไม่มีหลักฐานในเชิงประจักษ์ ว่าการขยายเวลาจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ หรือเป็นแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจริง ที่สำคัญยังไม่มีประเทศไหนในโลกที่ออกมาตรการนี้เพื่อจูงใจนักท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจ
2.ในการดำเนินการตามแนวคิดนี้ต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ซึ่งจะเป็นการทำลายเจตนารมณ์ของกฎหมายเหล่านั้นโดยสิ้นเชิง เช่น พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ที่จำกัดเวลาขายไว้แค่เที่ยงคืน และการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้บุคคลที่มึนเมาครองสติไม่ได้ รวมถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 22/2558,46/2559 ว่าด้วยเรื่องการควบคุมร้านเหล้าผับบาร์รอบสถานศึกษาที่กำหนดพื้นที่ควบคุมเอาไว้ ก็ต้องถูกแก้ไขลดทอนพื้นที่ควบคุมลงไป เพียงเพื่อเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยว รวมไปถึง พ.ร.บ.สถานบริการ และกฎหมายอีกหลายฉบับ
3. การขยายเวลาดังกล่าวจะเกิดผลกระทบตามมาในทุกมิติทั้งอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท ความรุนแรงทางเพศ ความไม่สงบสุขในชุมชน คดีความและอาชญากรรมย่อมตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมีข้อมูลเชิงประจักษ์ชัดเจน ว่าผลกระทบทางสังคมในแทบทุกเรื่องมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเป็นปัจจัยร่วมสำคัญ การป้องกันแก้ไขปัญหาที่ภาครัฐ และทุกภาคส่วนได้ทุ่มเทสรรพกำลังลงไป จะไม่มีความหมายและถอยหลังลงคลอง
4.เม็ดเงินที่คาดการว่าอาจจะเกิดขึ้น จะกระจุกตัวอยู่กับร้านเหล้าผับบาร์ กับคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น มิได้เป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนในพื้นที่ เจ้าของพื้นที่ตัวจริง เหมือนกับการท่องเที่ยวในรูปแบบอื่น ที่ประชาชน ชุมชนในพื้นที่ได้ประโยชน์ มีความยั่งยืน ไม่เสี่ยง
5.กระทรวงควรตระหนักว่า ประเทศไทยมีดีมากกว่า การให้ร้านเหล้าผับบาร์เป็นจุดขาย เราคงไม่ภาคภูมิใจการสร้างจุดขายที่ผิดเพี้ยนแบบนี้ สิ่งที่กระทรวงควรทำคือเร่งพัฒนาสร้างความปลอดภัยในการท่องเที่ยว ให้กับนักท่องเที่ยวมากกว่าสร้างความเสี่ยงให้เกิดขึ้นเพียงเพราะหวังเม็ดเงิน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/