รมว.คมนาคม ลงพื้นที่ติดตามจราจรติดขัดถนนพระราม 2 รอบ 2 พบภาพรวมการแก้ไขปัญหาตามข้อสั่งการเร่งด่วน เพิ่มช่องทางพิเศษในทางหลักก่อนถึงปากซอยพันท้ายนรสิงห์ คืบหน้า 75 %
วันที่ 29 กรกฏาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองปลัดกระทรวงคมนาคม และนายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการปรับปรุงทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 35 (ถนนพระราม 2) ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน - เอกชัย ตอน 3 บริเวณกิโลเมตรที่ 17+900 (ทางเข้าวัดพันท้ายนรสิงห์) เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด บรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนผู้ใช้ถนนพระราม 2 ภายหลังจากได้ลงพื้นที่ดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา
นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงการลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้พูดคุยหารือ พร้อมติดตามการดำเนินโครงการฯ และแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านการจราจรบริเวณถนนพระราม 2 ขณะนี้ภาพรวมการแก้ไขปัญหาตามข้อสั่งการเร่งด่วน อาทิ การเพิ่มช่องทางพิเศษในทางหลักก่อนถึงปากซอยพันท้ายนรสิงห์ การจัดการพื้นที่บริเวณปากซอยฯ ที่มีงานวางท่อระบายน้ำให้สามารถใช้งานได้ 2 ช่องจราจร เป็นต้น มีความคืบหน้า 75 % สามารถลดปริมาณการจราจรติดขัดสะสมจาก 2 กิโลเมตร เหลือเพียง 400 เมตร ภายใต้การบูรณาการร่วมกันทั้งประชาชนในพื้นที่ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ และกรมทางหลวง (ทล.) เพื่อให้การจัดการจราจรและการก่อสร้างฯ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่ผู้ใช้เส้นทางระหว่างที่มีการก่อสร้างฯ ซึ่ง ทล. ได้ติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ทางเลี่ยงครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ทางหลวงฯ 9 (ถนนกาญจนาภิเษก) ถนนพระราม 2 ทางหลวงฯ 338 (ถนนบรมราชชนนี) ทางหลวงฯ 3091 และทางหลวงฯ 3310 กว่า 50 ป้าย รวมถึงการเปิดพื้นที่ก่อสร้างเท่าที่จำเป็น
ส่วนการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 สายธนบุรี - ปากท่อ (ถนนพระราม 2) ตอนทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน - เอกชัย ความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร จำนวน 3 สัญญา ที่ยังไม่ได้ลงนามในสัญญานั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้กำชับให้วางแผนบริหารจัดการการก่อสร้างร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการจัดการจราจรระหว่างก่อสร้างให้เรียบร้อยก่อนลงนามในสัญญา
นอกจากนี้ทางหอการค้าจังหวัดสมุทรสาครและผู้ประกอบการสมาคมขนส่งในพื้นที่ มีความเห็นสอดคล้องกันในการพิจารณาเส้นทางขนส่งสินค้าเส้นทางอื่น เพื่อบรรเทาปัญหาผลกระทบด้านจราจรจากรถบรรทุก โดยเห็นว่าการขนส่งทางน้ำเป็นทางเลือกที่ดี สามารถลดต้นทุนและใช้เวลาใกล้เคียงกันกับการขนส่งทางถนน เบื้องต้นอาจใช้แพขนานยนต์ขนาดใหญ่ที่สามารถบรรทุกรถบรรทุกได้ 180 คันต่อเที่ยว ขนส่งรถบรรทุกจากอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธุ์ สู่ท่าเรือแหลมฉบัง จ้งหวัดชลบุรี
ทั้งนี้ เอกชนในพื้นที่มีความพร้อมด้านการลงทุน โดยกระทรวงฯ ต้องพิจารณาอำนวยความสะดวกด้านใบอนุญาต ด้านการก่อสร้างท่าเรือและด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากภาครัฐไม่สามารถดำเนินการในทุกเรื่องได้เพียงลำพัง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อให้การแก้ไขปัญหา การพัฒนา และการดำเนินโครงการต่าง ๆ สำเร็จลุล่วง สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
ที่มา: https://www.facebook.com/129521840456698/posts/2292232544185606/