ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ แนะรัฐบาลใหม่ เร่งเตรียมความพร้อมแรงงานกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุเกิน 40 ปี -การศึกษาไม่เกิน ม.ต้น หวั่นตกงานเพราะตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ยกสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง ทั้งพัฒนาทักษะที่มีอยู่ และเสริมทักษะใหม่
ดร.เสาวรัจ รัตนคำฟู นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์ถึงการประเมินผลงานรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยคณะผู้ประเมินจากทีดีอาร์ไอ (อ่านประกอบ:TDRI ประเมินผลงาน ปฏิรูป 5 ปี รัฐบาลประยุทธ์ (1): ติดตามความคืบหน้าแก้ปัญหาประเทศ) โดยเฉพาะในเรื่องสวัสดิการสังคมและการลดความเหลื่อมล้ำ ที่รัฐบาลประยุทธ์ 1 ให้ความสำคัญน้อยมาก คือ การเตรียมความพร้อมรับมือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวมเร็ว (Technological Disruption ) ของแรงงานกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุเกิน 40 ปี และมีการศึกษาไม่เกินมัธยมต้น ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 40 ของแรงงานไทยทั้งหมด
ดร.เสาวรัจ กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ควรเร่งเตรียมความพร้อมของแรงงานกลุ่มเสี่ยง ทั้งการพัฒนาระบบเพื่อสร้างทักษะที่เหมาะสมกับประชากรกลุ่มเสี่ยง และเตรียมสร้างตาข่ายสังคม (Safety Net) เพื่อรองรับแรงงานที่ตกงานจากการตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี
"แรงงานเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องเรื่องดิจิทัลที่มีคุณภาพสูงเราก็มีไม่พอ แถมแรงงานทั่วๆ ไปที่มีทักษะด้านนี้ก็น้อยมาก ดังนั้นรัฐบาลใหม่ควรให้ความสำคัญ ให้องค์ความรู้เกี่ยวกับดิจิทัลกับแรงงาน"
นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ยกตัวอย่าง ประเทศสิงคโปร์ เมื่อเห็นคนขับแท็กซี่จะถูก Disrupt โดยแอพลิเคชั่น ก็มีการจัดอบรม 1 วันให้กับคนขับแท็กซี่ในการใช้แอพลิเคชั่น ซึ่งสามารถทำได้ทันที หรือแม้แต่เรื่องของการแจกคูปองให้คนสิงคโปร์ไปเรียนรู้ทักษะอะไรก็ได้ กลายเป็นทางเลือกของการพัฒนาทักษะที่มีอยู่ (Reskilling) และเสริมทักษะใหม่ (Upskilling)
"ปัจจุบันรัฐบาลในอดีตให้ความสำคัญตรงจุดนี้น้อยมาก แม้ว่า เราจะมีกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม ทำเรื่องนี้บ้าง แต่ก็พบว่า ยังน้อยอยู่ หรือกระทรวงแรงงานจัดอบรมทักษะต่างๆ ก็อยากให้มีตัวชี้วัดง่ายๆ แบบรัฐบาลสิงคโปร์จัดอบรมทักษะดิจิทัลไปแล้ว เขาจะวัดว่า คนสิงคโปร์มีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ มีการทำงานที่สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือไม่ เป็นต้น"