ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ จี้รัฐบาลกล้าออกกม. PRTR รายงานชนิด-ปริมาณมลพิษปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม หลังพบ อย่างน้อย 36 ประเทศทั่วโลกบังคับใช้กฎหมายนี้ เพื่อแก้ปัญหามลพิษ ระบุไทยมีการทดลองทำโครงการนำร่องที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และสมุทรปราการเท่านั้น
วันที่ 6 มิถุนายน มูลนิธิบูรณะนิเวศ และภาคีเครือข่าย จัดสัมมนาพิเศษ เรื่อง วิกฤตสิ่งแวดล้อมไทย: ความล้มเหลวจากการควบคุมมลพิษอุตสาหกรรม ณ ห้องประชุม 1 สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ
ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดสัมมนาตอนหนึ่งถึงภูมิทัศน์ประเทศไทย หลังการเลือกตั้งว่า ที่ผ่านมามีการใช้กฎหมายที่เอื้อให้เกิดการลงทุนที่สะดวกขึ้น ทั้งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจ พิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และพระราชบัญญัติโรงงานฉบับใหม่ สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงเลวร้ายในตัวมันเอง ยังได้มีการยกเว้นให้โรงงานตั้งสะดวกขึ้น และลดเงื่อนไขการกำกับดูแลและควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาค้างคาในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมา
ศ.สุริชัย กล่าวอีกว่า นโยบายการกำกับ ดูแล ควบคุมมลพิษจากโรงงานไม่สามารถดูแลได้ดีกว่าเดิมเลย กลับแย่ลงเสียอีก ส่วนหนึ่งเพราะมีข้อจำกัดเรื่องเสรีภาพ การพูดจาในที่สาธารณะทำได้ยาก ต้องใช้ความพยายามหลายเท่าจากปกติ
"บรรยากาศที่ทำให้เกิดความเกรงกลัว ไม่กล้าพูดถึงความทุกข์ยากให้สังคมได้รับทราบนั้น ไม่เพียงเป็นผลเสียต่อสังคมโดยส่วนรวม สังคมส่วนรวมไม่ทราบ ประมาท คิดว่าทุกอย่างดำเนินการไปอย่างราบรื่นตามนโยบาย"
ด้านนางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงปัญหาการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษโรงงาน ภายใต้กฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะพ.ร.บ.โรงงาน พบว่า มีช่องโหว่ แม้อุตสาหกรรมนั้นๆ อันตราย ก่อผลกระทบรุนแรงมากเราจะไม่มีทางรู้เลยว่า โรงงานนั้นไปตั้งที่ไหน ก่อผลกระทบที่ไหนบ้าง รวมไปถึงกิจการคัดแยกและฝังกลบ กิจการรีไซเคิล (ที่ไม่เป็นของเสียอันตราย) ( รง. ลำดับที่ 105) ไม่ต้องทำ การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ESA) โดยจากการทำงานของมูลนิธิฯ โรงงานเหล่านี้เป็นโรงงานที่ก่อมลพิษต่อแหล่งน้ำใต้ดินสูงมาก
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวถึงกฎหมายเก่า ตามพ.ร.บ.โรงงาน 2535 จากโรงงานที่มีการกำกับดูแลเข้มงวด ปีนี้เป็นต้นไป โรงงานเหล่านั้นจะหลุดจากการกำกับดูแล โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้อนถิ่น (อปท.) กำกับดูแล มีเพียงประกาศกระทรวงสาธารณสุขคอยกำกับ ซึ่งมีความเข้มงวดน้อยกว่า ดังนั้นจึงเกิดคำถามว่า ศักยภาพ อปท.มีความสามารถ เชี่ยวชาญเพียงพอหรือไม่
"เรารู้สึกว่า กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังผลักภาระให้กับท้องถิ่น โดยไม่ได้หนุนเสริมหลายๆ จุด ให้ท้องถิ่นกำกับดูแลเรื่องนี้ได้"
นางสาวเพ็ญโฉม ยกตัวอย่างโรงงานก่อความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านรุนแรงโดยกฎหมายเดิมยังแก้ปัญหาไม่ได้ แต่กฎหมายโรงงานใหม่กลับแย่กว่าเดิม ใบอนุญาต ไม่มีอายุ ไม่มีกองทุนฟื้นฟู เอกชนตรวจสอบกันเอง และบทลงโทษก็ต่ำ
"ปัญหาพื้นฐานของประเทศไทยที่เราทำอะไรไม่ได้ แก้ไขปัญหามลพิษไม่ได้ เนื่องจากเราไม่มีข้อมูล ทั้งก่อนตั้งโรงงาน ข้อมูลการทำ EHIA,EIA ฯลฯ หรือเมื่อเปิดดำเนินการแล้ว ผลการปฎิบัติตามมาตรการ เงื่อนไขการประกอบกิจการโรงงาน ข้อมูลมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม (Pollutant Release and Transfer Register:PRTR) ยังไม่มีกฎหมายบังคับใช้ในประเทศไทย
สำหรับการพัฒนากฎหมาย PRTR หรือกฎหมายกำหนดให้มีการรายงานชนิดและปริมาณของมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมนั้น นางสาวเพ็ญโฉม กล่าวว่า ปัจจุบันมีอย่างน้อย 36 ประเทศทั่วโลกที่บังคับใช้กฎหมาย PRTR เพื่อแก้ปัญหามลพิษ หรือรวม 50 ประเทศทั่วโลกที่กำลังพัฒนากฎหมายนี้อยู่ สำหรับประเทศไทยมีการทดลองทำโครงการนำร่องที่จังหวัดระยอง ชลบุรี และสมุทรปราการ โดยมีสารมลพิษที่ต้องรายงาน 107 ชนิด
"ข้าราชการไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐบาลไทยไม่กล้าหาญที่จะออกกฎหมาย PRTR ทั้งๆ ที่ภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เห็นด้วย ทั้งนี้มูลนิธิฯ จัดทำร่างกฎหมาย PRTR ไว้แล้ว แต่จากเหตุการณ์บ้านเมืองไม่สงบ เราจึงระงับการรวบรวมรายชื่อเสนอกฎหมายฉบับนี้ออกไปก่อน เหตุผลทำไมเราต้องสนับสนุนกฎหมาย PRTR ยกตัวอย่าง เมื่อต้นปีเรามีปัญหาฝุ่น P.M.2.5 เราจะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้เลย เพราะไม่รู้ว่าโรงงานไหนปล่อยฝุ่นออกมา หรือมีโลหะหนัก สารอันตรายอย่างไรบ้าง หากเราอยากทำให้อากาศกรุงเทพฯ ดีขึ้น เมืองอุตสาหกรรมหลายๆ แห่งดีขึ้น เราต้องมีกฎหมายฉบับนี้ "
ขอบคุณภาพประกอบจาก:http://www.emissieregistratie.nl/erpubliek/bumper.en.aspx