"...ภาคประชาสังคมและภาครัฐนำเสนอ BCG Model ในมุมมองของแต่ละภาคส่วน เห็นได้ว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจน อีกทั้งคำตอบจากหน่วยงานภาครัฐก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า BCG Model เป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนรายใหญ่หรือไม่ ตอบเพียงแค่ 'เขาอาจจะมองในอีกมิติหนึ่ง' ซึ่งเป็นคำตอบที่ชวนให้ขบคิดว่าสรุปแล้วเศรษฐกิจแบบ BCG นี้เป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนรายใหญ่หรือไม่..."
การประชุมสุดยอดผู้นำเอเปกที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565 ประเทศไทยมีฉันทามติร่วมกับสมาชิกประเทศที่เข้าร่วมประชุม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว แต่ขณะเดียวกันภาคประชาสังคมและภาคประชาชนบางส่วนกลับออกมาต่อต้านระบบเศรษฐกิจข้างต้น โดยกล่าวว่าเศรษฐกิจแบบ BCG เป็นระบบที่เอื้อต่อกลุ่มทุนรายใหญ่
สืบเนื่องสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอข่าวเกี่ยวกับประเด็น BCG ในมุมมองของประชาชนในช่วงเวลาที่ผ่านมา ทั้งในการชุมนุมกลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 และในวงเสวนาFTA Watch และเครือข่าย
ซึ่งภาคประชาชนและประชาสังคมออกมากล่าวถึงโครงการต่าง ๆ ภายใต้ BCG Model ที่ดำเนินการโดยภาครัฐและภาคเอกชน ประเด็นที่ถูกกล่าวถึงส่วนมาก คือ การฟอกเขียวภายใต้คำว่า BCG ที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนรายใหญ่ในประเทศไทย โดยตัวแทนภาคประชาชนและภาคประชาสังคม Greenpeace Thailand ได้อธิบายถึงที่มาของประเด็นข้างต้น
BCG Model ไม่ใช่ไม่ดี แต่ในเชิงปฏิบัติเป็นเศรษฐกิจเขียวลายพราง
นางสาวจริยา เสนพงศ์ หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน Greenpeace Thailand กล่าวว่า แนวคิดของเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model ที่ภาครัฐนำเสนอไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้าย สิ่งที่องค์กรและแนวร่วมกังวลคือ การใช้คำว่าเศรษฐกิจสีเขียวมาบังหน้าการดำเนินธุรกิจที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินหรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ดำเนินการอย่างไม่ใส่สิ่งแวดล้อมแต่ใช้คำว่า BCG มาครอบไว้
“ตัวของ BCG เองไม่ได้ real ขนาดนั้น ตัวแนวคิดมันได้ สร้างเศรษฐกิจที่เป็นสีเขียว แต่ถ้าเราดูเนื้อหาในข้างใน การพัฒนาพื้นที่ในแต่ะพื้นที่ มันก็มีความสุ่มเสี่ยงเหมือนกัน ซึ่งจริง ๆ ภาครัฐเองก็ยังไม่ได้มีการชี้แจงแนวทางที่ชัดเจน ไม่มีการกางให้เห็นเลยว่าเวลาเราพูดถึง BCG model จะมีที่ไหนที่เป็นโรงงานอะไรบ้าง และทำอะไรบ้าง” นางสาวจริยากล่าว
นางสาวจริยากล่าวต่อว่า แผนของ BCG ยังคงคลุมเครือไม่มีความชัดเจน ทำให้กลุ่มธุรกิจบางกลุ่มดำเนินการอย่างซ่อนเร้นโดยดำเนินธุรกิจที่ไม่ได้สร้างความยั่งยืนตามจุดประสงค์ของแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งการกระทำเช่นนี้ของกลุ่มธุรกิจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ เช่น โครงการที่อมก๋อยที่ภาครัฐและภาคธุรกิจดำเนินการร่วมกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่คือ ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อเขตพื้นที่ของป่าต้นน้ำที่มีความสำคัญเฉพาะลักษณะของพื้นที่ หรือโครงการเขตอุตสาหกรรมที่จะนะ ที่ได้รับผลกระทบด้านมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นในบริเวณอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนในพื้นที่ อีกทั้งต้องมีการประเมินในเชิงยุทธศาสตร์ ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ และการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน สิ่งเหล่านี้จะต้องไม่หายไปจาก BCG model
Carbon Credit เป็นประเด็นที่น่ากังวลและทางออกของปัญหา
นางสาวจริยากล่าวถึงประเด็นที่น่ากังวลเทียบเท่ากับ BCG Model คือ เรื่อง Carbon Credit เนื่องจากในปัจจุบันมีข้อตกลงการซื้อขายคาร์บอนแล้ว โดยประเด็น Carbon Credit เป็นเรื่องที่พูดถึงการซื้อ-ขายพื้นที่ป่า ซึ่งจะนำไปสู่การแย่งชิงพื้นที่ป่ากับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านั้น นอกจากนี้นางสาวจริยายังกล่าวเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ภาครัฐควรจะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการแต่ละโครงการของ BCG ให้ชัดเจน ต้องบอกถึงรายละเอียดของแต่ละโครงการว่ามีการดำเนินการอย่างไรบ้าง ต้องมีการประเมินยุทธศาสตร์ตั้งแต่ระบบการดำเนินโครงการต่าง ๆ ถ้าหากมีประชาชนไม่เห็นด้วยก็ควรนำโครงการนั้นมาพิจารณาใหม่และวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในด้านต่าง ๆ เช่น ด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ ทรัพยากร เป็นต้น
“อยากให้กางโมเดลมาทั้งหมด ทำข้อมูลเชิงยุทธศาสตร์ร่วมกันว่าโครงการไหนเป็น BCG แท้ อันไหนเป็น BCG เทียม เอามาดูกัน อีกอย่างที่มีความสำคัญคือ BCG ต้องไม่เป็นโครงการที่มาจาก top down flow มีภาคประชาสังคมและภาคประชาชนอยู่ในนั้นไหม ซึ่งถ้ามีในนั้น หมายความว่าโครงการ BCG ที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดจะต้องไม่ถูกประกาศออกมาว่านี่คือโครงการทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ หรือที่รัฐกำลังดำเนินการ แต่จำเป็นต้องเอากลับมาทบทวนทั้งแผงเลยว่าตรงไหนใช่ ตรงไหนปลอม แล้วก็วิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์ถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งผลกระทบที่เราจะต้องรับ ในมิติต้นทุนสุขภาพ ต้นทุนเศรษฐกิจ ต้นทุนทรัพยากร จะเกิดอะไรขึ้นกับพื้นที่เหล่านั้น อันนี้คือสิ่งสำคัญสูงสุดแล้วจึงมาตัดสินใจร่วมกัน จะได้ไม่เป็นเศรษฐกิจเขียวลายพราง” นางสาวจริยากล่าวทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตามประเด็นข้างต้นเป็นเพียงมุมมองของประชาชน แต่ยังขาดมุมมองของภาครัฐ ผู้สื่อข่าวจึงสืบค้นข้อมูลค้นหาหน่วยงานรัฐที่ดูแลเศรษฐกิจแบบ BCG พบว่าเว็บไซต์ www.bcg.in.th ระบุว่าสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นผู้ดูแลเกี่ยวกับระบบเศรษฐกิจดังกล่าว จึงติดต่อสัมภาษณ์หน่วยงานข้างต้นเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นที่ภาคประชาสังคมกล่าวถึง
ภาพจาก www.bcg.in.th
มุมมองของภาครัฐต่อ BCG Model
นายศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ประเทศไทยมีรากฐานที่ดีเหมาะสมที่จะดำเนินเศรษฐกิจสีเขียวหรือ BCG Model เนื่องจากทุกพื้นที่ใช้เศรษฐกิจแบบ BCG อยู่แล้ว แต่ไม่ได้ตระหนัก เช่น นำของเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์ในเชิงผลิตสินค้าและบริการท่องเที่ยว รวมไปถึงนำไปใช้ผลิตพลังงาน เป็นต้น อีกทั้งการใช้เศรษฐกิจแบบ BCG จะทำให้ประเทศไทยมีความยั่งยืนและมั่นคงมากขึ้น
“ถ้ามองในมิติแบบไม่เข้าข้างกัน ผมคิดว่าทุกที่ก็เริ่มจาก BCG กันอยู่แล้ว แต่ว่าไม่ได้ตระหนัก พอหน่วยงานรัฐหรือรัฐบาลชู BCG model ขึ้นมา คนก็จะสงสัยว่า มันคืออะไร แต่จริง ๆ เราเริ่มทำกันมานานแล้ว เอาของที่เหลือทิ้งแล้วมาใช้ประโยชน์ ทั้งในเชิงทำสินค้าขายและบริการท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งมาใช้ทำพลังงาน ที่เราเรียกว่า zero waste จริง ๆ เราทำกันอยู่แล้ว แต่ BCG มาทำให้เราตระหนักมากขึ้น” นายศรัณย์กล่าว
นายศรัณย์กล่าวยกตัวอย่างโครงการของภาครัฐที่มีความเกี่ยวข้องกับ BCG ว่า ในปัจจุบันกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีโครงการ U2T หรือมหาวิทยาลัยสู่ตำบล จึงมีการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินในชุมชนนั้น ต่อมาทางกระทรวงยังมีงบประมาณเหลือจึงนำมาต่อยอดโครงการเป็น U2T for BCG ที่ไม่ใช่แค่การจ้างงานเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการให้บัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่ทำงานร่วมกับ อว. ในการขับเคลื่อนโครงการที่มีความเกี่ยวข้องกับ BCG นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่ประสบความสำเร็จ เช่น การมีแพลตฟอร์มหมอพร้อมเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนหรือบริการทางการแพทย์ในช่วงโควิดได้สะดวกที่สุด ซึ่งก็เกี่ยวข้องกับ BCG ที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้
“ช่วงโควิด-19 มีแพลตฟอร์มหมอพร้อม ถ้าไม่มีหมอพร้อม การเข้าถึงวัคซีนของประชาชนจะลำบากมาก หรือแม้กระทั่ง Digital health pass ใครจะเดินทางออกนอกประเทศแล้วกลับเข้ามาใหม่ เดิมต้องไปขอกรมควบคุมโรค พอเรามีหมอพร้อม เราคลิกนิดเดียว เราได้ Digital health pass ที่เป็น pdf file มาลงมือถือเราได้เลย นี่เป็นการบริการทางการแพทย์ที่เข้าถึงประชาชนที่ได้ทำสำเร็จ หรือแม้กระทั่งตอนที่เรากักตัวที่บ้านหรือที่ชุมชน เจ้าหน้าที่มีอยู่นิดเดียว พยาบาล หมอ จะทำยังไงให้เขาดูแลคนป่วยที่อยู่ทางบ้านได้ ก็มีแฟลตฟอร์มที่เรียกว่า a-med telehealth รองรับการดูแลประชาชนไปล้านกว่าคน ขอใบรับรองแพทย์ได้ ขอชุดตรวจ atk ได้ นี่ก็เกี่ยวข้องกับ BCG ที่จะขับเคลื่อนให้ประชาชนที่ไม่แยกชนชั้นวรรณะ เข้าถึงความพร้อมตรงนี้ไปด้วยกัน” นายศรัณย์กล่าว
ตอบประเด็น BCG Model เอื้อกลุ่มทุนรายใหญ่ ‘อยู่ที่มุมมอง’
นายศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร กล่าวถึงประเด็นที่ภาคประชาชนกล่าวว่า BCG Model เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนรายใหญ่ว่า เขาอาจจะมองในอีกมิติหนึ่ง ตัวอย่าง BCG Model ที่ผ่านมา เช่น การบริการทางการแพทย์ที่มีแอพพลิเคชันหมอพร้อมหรือการดูแลผู้ป่วยโควิดในช่วงที่ผ่านมาของภาครัฐซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ BCG Model ที่ขับเคลื่อนในด้านความเท่าเทียม ทำให้ทุกคนเข้าถึงการได้รับบริการจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้รัฐมองว่าการร่วมมือกับเอกชนทั้งรายใหญ่อย่างกลุ่มทุนรายใหญ่ หรือรายเล็กอย่าง SME หรือ Start Up เป็นหนทางในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ นอกจากนี้การที่หน่วยงานภาครัฐจะดำเนินโครงการใด ๆ ในพื้นที่จะต้องมีการศึกษาผลกระทบต่อประชาชนในพื้นหลายครั้ง และต้องหาแนวทางแก้ปัญหาและดูแลประชาชนในกรณีที่เกิดปัญหา ไม่ได้ทิ้งให้ประชาชนเผชิญปัญหาเพียงลำพัง
“เราจะอาศัยเครือข่ายที่เขามีอยู่มาช่วยขับเคลื่อน ถ้ามองในมิติอาหารหรือเกษตร ก็จะเป็นเกษตรกร หรือคนที่ทำระดับชุมชน หรือคนที่ทำสินค้าส่งออก บางรายก็เป็น start up หรือ SME ก็มี เราไม่ได้จำกัดหรือพรางตัว เราร่วมด้วยช่วยกัน ไม่ได้แสวงหาผลประโยชน์จากบริษัทเขา แต่เราทำเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปอีกสเต็ปหนึ่งได้ เป็นการร่วมมือกันจากภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม” นายศรัณย์กล่าวทิ้งท้าย
และทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ภาคประชาสังคมและภาครัฐนำเสนอ BCG Model ในมุมมองของแต่ละภาคส่วน เห็นได้ว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจน อีกทั้งคำตอบจากหน่วยงานภาครัฐก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่า BCG Model เป็นการเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนหรือไม่ ตอบเพียงแค่ 'เขาอาจจะมองในอีกมิติหนึ่ง' ซึ่งเป็นคำตอบที่ชวนให้ขบคิดว่าสรุปแล้วเศรษฐกิจแบบ BCG นี้เป็นระบบเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนรายใหญ่หรือไม่
อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามต่อไปว่าภาคประชาชนและภาคประชาสังคมจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ภาครัฐรับฟังข้อเสนอ และภาครัฐจะดำเนินการตามที่ประชาชนเหล่านี้เรียกร้องหรือไม่