ป.ป.ช.เผยผลงานปี 65 รับเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์ CDC รวม 102 เรื่อง ตรวจสอบแล้ว 23 เรื่อง หนึ่งในนั้นมีกรณีตัดยอดภูเขา จ.เชียงราย พบออก น.ส.3 เนื้อที่ 24 ไร่ ทับ ‘ป่าน้ำมะ-ป่าสบรวก’ อาจดำเนินการโดยมิชอบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2565 นายนิวัตไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงผลงานขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันการทุจริต ในปีงบประมาณ 2565 สำหรับผลการขับเคลื่อนศูนย์ป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ ( (Corruption Deterrence Center - CDC) เดือน ม.ค.-เม.ย.2565 โดยมีเรื่องเข้ามา 102 เรื่อง แบ่งเป็น 5 เขตพื้นที่ ดังนี้
- ภาคกลาง จำนวน 23 เรื่อง อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 1 ภาค 7 และ กทม.
- ภาคเหนือ จำนวน 16 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 5 และ ภาค 6
- ภาคใต้ จำนวน 26 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 8 และ ภาค 9
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 30 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 3 และ ภาค 4
- ภาคตะวันออก จำนวน 7 เรื่อง โดยอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของสำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 2
นายนิวัติไชย กล่าวด้วยว่า สำหรับแหล่งที่มาเรื่องร้องเรียน 102 เรื่อง มาจากข่าวประชาสัมพันธ์ สำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัด 5 เรื่อง ชมรม STRONG ต้านทุจริต 36 เรื่อง สื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์ 61 เรื่อง โดย ป.ป.ช.เข้าไปดำเนินการป้องกัน ป้องปรามการทุจริตในพื้นที่ต่างๆ 23 เรื่อง หนึ่งในนั้น คือ กรณีที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ว่า มีการตัดยอดภูเขาสูงชันทั้งลูก ออกโฉนด ทำทางขึ้น เป็นที่ส่วนบุคคล ติดป้ายห้ามเข้า และให้นายหน้าประกาศขายที่ดินทาง Facebook โดยเหตุเกิดในพื้นที่เทศบาลตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย ทราบและลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า พื้นที่เกิดเหตุตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 บ้านสบรวก ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย พื้นที่ มีลักษณะเป็นภูเขาสูงชัน มีการไถที่ดินเป็นทางรถยนต์เพื่อขึ้นไปบนยอดเขา และบนยอดเขามีการขุดดินและ ปรับเกลี่ยดินเป็นบริเวณกว้าง โดยที่ดินดังกล่าวเป็นที่มีเอกสารหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) จำนวน เนื้อที่ 24 ไร่ 85 ตารางวา
จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศโดยเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) พบว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ‘ป่าน้ำมะและป่าสบรวก’ แต่กลับมีหลักฐานหนังสือรับรอง การทำประโยชน์ (น.ส.3) ซึ่งออกจากแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) และเจ้าของที่ดินเคยขอรังวัด เพื่อออกโฉนดที่ดินแล้ว แต่ไม่สามารถออกได้เนื่องจากที่ตั้งของที่ดินไม่ตรงกับเอกสารสิทธิที่ถือครองอยู่ โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย ได้ตั้งข้อสังเกตว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ดังกล่าว อาจดำเนินการโดยมิชอบ
สำหรับกรณีการขุดดินและปรับเกลี่ยดิน พบว่า มีการดำเนินการหลายครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเทศบาลตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ได้ออกใบรับแจ้งการขุดดินหรือถมดิน (แบบ ขถด.2) ขุดดินมีความลึกเฉลี่ย 17.70 เมตร พื้นที่ 12,928 ตารางเมตร กำหนดแล้วเสร็จภายใน 365 วัน โดยจะเริ่มขุดดิน ในวันที่ 1 ก.ค.2556 – 30 มิ.ย.2557 ซึ่งจากการตรวจสอบสภาพพื้นที่จริงเป็นที่น่าสงสัยว่า เพิ่งมีการขุดดินและปรับเกลี่ยดินได้ไม่นานเนื่องจากร่องรอยยังใหม่ อีกทั้งจากการคำนวณขนาดพื้นที่ขุดดิน ของเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ผ่านระบบภาพถ่ายดาวเทียม ในปี 2564 กลับพบว่า มีปริมาณพื้นที่ขุดดินประมาณ 34,348 ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าที่เคยได้รับใบแจ้งจากเทศบาลตำบลเวียง
กรณีนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ควบคุม กำกับ และตรวจสอบให้ดำเนินการขุดดินเป็นไปตามใบรับแจ้งตามพระราชบัญญัติการขุดดินและการถมดิน พ.ศ.2543 โดยประเด็นดังกล่าวรวมถึงกรณีการประกาศขายที่ดินทางสื่อสังคมออนไลน์นั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ติดตามประสานข้อมูลเอกสารจากหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมและจะรวบรวมเสนอให้สำนักไต่สวนคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงาน ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการต่อไป
นอกจากนั้น ป.ป.ช.ยังได้ตรวจสอบกรณีอื่นๆ อาทิ กรณีประชาชนตั้งข้อสงสัย โครงการทางลาดลำเลียงผู้โดยสารทุพพลภาพขึ้น - ลง อากาศยาน ณ สนามบินน่านนคร จังหวัดน่าน โดยระบุว่ามีการซื้อแล้วแต่ไม่ได้นำมาใช้งาน ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดน่าน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า ทางลาดลำเลียงผู้โดยสารฯ ดังกล่าว อยู่ในความรับผิดชอบดูแล ของท่าอากาศยานและมีการนำมาใช้งานตามปกติ ซึ่งขั้นตอนการใช้งานนั้นสายการบินจะต้องประสานมายัง ท่าอากาศยานเพื่อแจ้งความประสงค์ขอใช้งาน และจากการทดสอบการใช้งานทางลาดลำเลียงผู้โดยสารฯ ดังกล่าว พบว่า สามารถใช้งานได้ตามปกติ
โครงการจ้างก่อสร้างถนนลาดยางผิวทางพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต สาย พจ.ถ.18-025 DK2 บ้านแหลมสน อำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ระยะเวลาผ่านมาเพียง 1 เดือน พบผิวถนนแตกเป็นแนวยาว ซึ่งจากการลงพื้นที่ของสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร พบว่า ถนนสายดังกล่าว ยังอยู่ในระยะประกันสัญญา โดยผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบดำเนินการแก้ไขให้ถนนอยู่ในสภาพที่ไม่ชำรุดเสียหาย เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางสัญจรได้อย่างปลอดภัย ซึ่งผู้รับจ้างจะเข้าดำเนินการซ่อมแซมโดยจะมีผู้เชี่ยวชาญจากแขวงทางหลวงพิจิตรร่วมให้ข้อเสนอแนะเพื่อกำหนดแนวทางในการซ่อมแซมถนนให้เป็นไปตามหลักมาตรฐาน สามารถใช้งานได้โดยไม่เกิดการชำรุดเสียหายอีก ทั้งนี้ หากมีการตรวจพบว่าโครงการดังกล่าวมีการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดพิจิตร จะดำเนินการนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการของภารกิจด้านการปราบปราม การทุจริตต่อไป
เครือข่ายเฝ้าระวังการทุจริตภาคประชาชน Facebook เพจ คิด ทำ ทิ้ง เผยแพร่ ข้อมูลโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2562 – 17 ก.ย.2563 แต่ดูจากความคืบหน้าในการก่อสร้างแล้ว เกรงว่าปีนี้จะยังไม่ได้ใช้งาน ซึ่ง สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการก่อสร้างสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช งบประมาณ จำนวน 17,970,000 บาท อยู่ในความรับผิดชอบของ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ เนื่องจากประสบปัญหาเรื่องแนวเขตที่ดินที่ไม่ชัดเจน และมีสิ่งปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้าง จึงทำให้ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้าง เริ่มงานก่อสร้างได้ อีกทั้ง ระหว่างการก่อสร้างผู้รับจ้างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ทำให้การดำเนินการก่อสร้างล่าช้าและมีการขอขยายระยะเวลาในสัญญาจ้าง ซึ่งสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แนะนำให้ผู้รับผิดชอบโครงการออกประกาศชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนทราบ และเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จให้เร็วที่สุด