ส่งท้ายปี โฆษกรัฐบบาล เผยแผนงาน ปี 2563 รัฐบาลประยุทธ์เร่งแก้ปัญหาปากท้อง ออกแบบมาตรการสอดรับกับรายกลุ่มเป้าหมาย เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ลูกจ้าง และผู้ประกอบการ SMEs และ startups
วันที่ 31 ธันวาคม ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกรัฐบบาล ระบุถึงแผนงานรัฐบาล ปี 2563 เร่งแก้ปัญหาปากท้อง ออกแบบมาตรการสอดรับกับรายกลุ่มเป้าหมาย เกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ ลูกจ้าง และผู้ประกอบการ SMEs และ startups โดยเน้นมาตรการให้เหมาะกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
1. กลุ่มเกษตรกร มุ่งสร้างเกษตรครบวงจร และเกษตร BCG : โดยประเมินผลของมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ทำมาในปี 2562 เพื่อพิจารณาทบทวนออกมาตรการที่จะนำไปสู่การสร้างเกษตรครบวงจรและเกษตร BCG โดยจะต้องใช้ตลาดนำการผลิต กล่าวคือ การใช้ข้อมูลความต้องการของตลาดในประเทศ ตลาดส่งออก และตลาดสินค้าเกษตร BCG และเกษตรแปรรูป ที่ชัดเจนมาช่วยกำหนดแผนการผลิตพืชแต่ละชนิดให้กับเกษตรกร ควบคู่ไปกับแผนบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรตามบริบทของพื้นที่ แผนการทำเกษตรแปลงใหญ่และการใช้นวัตกรรมเพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ตาม ในระยะเปลี่ยนผ่าน อาจจะยังต้องมีการสนับสนุนต้นทุนการผลิตสำหรับพืชบางชนิด ทั้งนี้ การทำประกันภัยพืชผลจากความเสี่ยงของภัยธรรมชาติยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ สุดท้าย นโยบายที่รัฐบาลจะมุ่งไปสู่ คือ นโยบายรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าเกษตรผ่านมาตรการที่เหมาะสมสำหรับพืชแต่ละชนิด เช่น มาตรการสินเชื่อชะลอการขาย สินเชื่อรวบรวมข้าวเพื่อดูดซับปริมาณผลผลิตจากท้องตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกพร้อมกัน หรือมาตรการส่งเสริมให้นำพืชผลทางการเกษตรไปใช้มากขึ้น โดยหลีกเลี่ยงการแทรกแซงกลไกราคาตลาด อย่างเช่น นโยบายส่งเสริมน้ำมันไบโอดีเซล บี10 เป็นต้น
2. กลุ่มผู้มีรายได้น้อย : ปรับและกำหนดเกณฑ์เพื่อขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อย และพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างครอบคลุม ศึกษาทบทวนโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้นำเอาข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการ 14.6 ล้านคน มาวิเคราะห์และพิจารณาทบทวนการกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติของผู้มีรายได้น้อย เพื่อนำไปสู่การขึ้นทะเบียนผู้มีรายได้น้อยประจำปี 2563 เพื่อคัดกรองให้ได้ผู้มีรายได้น้อยจริงมาเข้าสู่มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิต 4 ด้านหลัก คือ 1) สวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ควรจะจัดสรรตามความจำเป็นที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เกษตรกร 2) การพัฒนาทักษะทางอาชีพ ที่สอดคล้องกับบริบทของการทำงานและการจ้างงานในพื้นที่ 3) การหางานให้ทำ ทั้งงานที่มีนายจ้าง การรับงานไปทำที่บ้าน และอาชีพอิสระ 4) การเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งหมดนี้ เพื่อนำไปสู่การให้โอกาสกับผู้มีรายได้น้อย เพื่อช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างยั่งยืน
3. กลุ่มผู้สูงอายุ จัดสวัสดิการที่เหมาะสมและส่งต่อการจ้างงาน : ประชากรไทยที่มีอายุเกิน 60 ปี มีจำนวนประมาณ 11.35 ล้านคน ในจำนวนนี้ 8.4 ล้านคนได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ที่เหลือได้รับบำนาญของหน่วยงานที่เคยสังกัด มีผู้สูงอายุที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรวม 5 ล้านคน ทั้งนี้ ผู้สูงอายุ 4.06 ล้านคน ยังคงทำงานอยู่ โดยเป็นแรงงานนอกระบบรวม 3.59 ล้านคน ซึ่งส่วนมากคืออาชีพเกษตรกร นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ โดยได้มอบหมายกระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ การจัดสวัสดิการที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุที่มีความแตกต่างกัน เช่น ผู้สูงอายุติดเตียง ติดบ้าน ติดสังคม รวมตลอดถึงมาตรการส่งเสริมให้บุตรหลานดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว เพื่อสร้างสังคมกตัญญู
4. กลุ่มลูกจ้าง ยกระดับคุณภาพชีวิต : พี่น้องประชาชนที่เป็นลูกจ้าง 14.6 ล้านคน ที่ถึงแม้จะมีรายได้เกิน 100,000 บาทต่อปี จึงไม่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่อาจมีค่าครองชีพที่สูง โดยเฉพาะลูกจ้างที่ทำงานในเมือง จึงได้มอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมกับภาคเอกชน ในการกำหนดมาตรการดูแลลดภาระค่าครองชีพให้กับลูกจ้าง โดยนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐพิจารณาหามาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระหนี้นอกระบบให้กับกลุ่มลูกจ้างต่อไปด้วย นอกจากนี้ ในรายที่ถูกเลิกจ้างงาน รัฐบาลจะได้เข้าช่วยพัฒนาทักษะและหางานให้ทำต่อไป
5. กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs และ startups : กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดจิ๋ว เล็ก ถึงกลาง รวมถึงสตาร์ทอัพ นับเป็นฟันเฟืองหลักในระบบเศรษฐกิจของไทยที่รัฐบาลไม่เคยละเลยมาโดยตลอด และจะยกระดับการดูแลพัฒนาผู้ประกอบการในปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นด้านนวัตกรรม ความรู้ แหล่งเงินทุน และการปลดล็อกเงื่อนไขที่ทำให้เกิดข้อจำกัดต่อผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ