ป.ป.ช.ร่วม กกต. เผยเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย คุมเข้มทั้งช่วงออกแบบ-พัฒนานโยบาย และการนำนโยบายไปปฏิบัติเมื่อเป็นรัฐบาล ‘ภักดี’ ชี้ทำมาตั้งแต่ปี 60 แต่ครั้งนี้จะเข้มข้นขึ้น ด้านรองเลขา กกต. เตือนทุกพรรคต้องทำตาม ฝ่าฝืนโทษหนัก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่และสร้างการตระหนักรู้ในการเลือกตั้งพรรคการเมืองนโยบายโปร่งใส รองรับการเลือกตั้งในปี 2566 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
@เกณฑ์มีขึ้น เพื่อให้ได้คนดีเข้าสภา
นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยว่า การจัดทำแผนแม่บทและเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงในการทุจริตเชิงนโยบายนั้น มีขึ้นเพื่อต้องการเห็นนัการเมืองซื่อสัตย์สุจริตมากขึ้น ถ้าคนใช้อำนาจเป็นคนดี ก็เหมือนคนสะอาดก็จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งสกปรก
โดยเกณฑ์ต่างๆเป็นเครื่องมือป้องกันว่า จะไม่เกิดการทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งทาง ป.ป.ช.ได้ส่งหลักเกณฑ์ให้ กกต. ไปแล้วเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีการปรับปรุงใหม่จากปี 2562 และการจัดทำเกณฑ์นี้เป็นการทำหน้าที่ตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.ป. การป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561
“พรรคการเมืองจะต้องส่งนโยบายมาที่ กกต. กกต.ก็จะเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ โดยเฉพาะคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งจะใช้เป็นข้อมูลประกอบการเลือกตั้งได้ ถือเป็นการให้ความรู้กับผู้ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งในการตัดสินใจให้คนที่เป็นคนดีเข้ามาใช้อำนาจ เป็นการแก้ปัญหาต้นทาง เป็นการสกัดกั้น ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560” นายอุดมระบุ
@วอนขอให้เลือกด้วยเหตุผล
นายอุทิศระบุว่า นอกจากนั้น สื่อมวลชนก็ต้องช่วยกันเผยแพร่และวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจด้วย ซึ่งการจะเลือกใครนั้น ไม่ควรใช้อารมณ์อย่างเดียว แต่ควรใช้เหตุผลด้วย มนุษย์มีสมอง 3 ส่วนต้องใช้สมองส่วนหน้าที่เกี่ยวกับการใช้เหตุผลเป็นหลัก ต้องคิดด้วยว่า หากเลือกไปแล้ว มันจะเกิดอะไรขึ้น เพราะสุดท้ายประชาชนจะต้องรับผลที่เกิดจากการเลือกตั้งด้วย การเลือกตั้งเหมือนปลูกพืช ปลูกข้าวต้องได้ข้าว ปลูกถั่วก็ได้ถั่ว ถ้าเลือกคนดีเข้ามาก็ดี แต่ถ้าเลือกไม่ดีก็เป็นภาระ ต้องมารับกรรม ซึ่งโทษใครไม่ได้เลย
เมื่อถามว่า เกณฑ์ชี้วัดในการเลือกตั้งปี 2562 ได้ใช้ประโยชน์แค่ไหน นายอุทิศตอบว่า ตอนนั้นมีพรรคการเมืองใช้ 20 พรรค แต่บางส่วนที่ตกหล่นอาจจะเพราะว่ามองเป็นเรื่องใหม่ โดยได้สรุปบทเรียนจากปี 2562 มาหารือร่วมกันทั้งกับ กกต. และพรรคการเมืองในรอบนี้เรียบร้อย
อุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มาภาพ: สำนักงาน ป.ป.ช.
@ทุจริตเชิงนโยบาย ผลกระทบร้ายแรง
ด้านนายภักดี โพธิศิริ อดีตคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การทุจริตเชิงนโยบายเป็นเรื่องที่ตนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเรื่องที่ผู้ใช้อำนาจรัฐมักจะใช้เป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ เกี่ยวข้องกับกระบวนการกำหนดนโยบายพรรคการเมือง 2 ช่วง ได้แก่ 1.ช่วงการออกแบบและพัฒนานโยบาย และ 2.การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ
ทั้ง 2 ส่วนนี้ หากปล่อยให้เกิดการทุจริตขึ้นจะมีผลกระทบค่อนข้างรุนแรง เพราะผู้ใช้อำนาจรัฐเป็นผู้ดำเนินการเอง และมีอำนาจที่จะดำเนินการอะไรก็ได้แม้กระทั่งออกกฎหมายเอื้อประโยชน์และพวกพ้องก็มีมาแล้ว
ในส่วนของการจัดทำเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ตนได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้ทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการชุดหนึ่ง เพื่อพัฒนาเครื่องมือนี้ตั้งแต่ปี 2560 และนำมาใช้ครั้งแรกในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562
@เกณฑ์ชี้วัดเน้นนโยบาย 2 ระยะ
นายภักดี ขยายความว่า จากที่บอกว่าเกณฑ์ที่กำหนดมี 2 ส่วนสำคัญ ที่จะคัดกรองนโยบายที่มีความเสี่ยงในการเกิดทุจริตเชิงนโยบาย
ในขั้นตอนแรก ช่วงการออกแบบและพัฒนานโยบาย จะเป็นส่วนที่สำคัญ เพราะนักการเมืองที่ประสงค์จะใช้โอกาสในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ อาจจะเสนอนโยบายบางเรื่องแฝงเร้นการหาประโยชน์ต่อตัวเองและพวกพ้อง ในส่วนนี้ พรรคการเมืองจะเกี่ยวข้องโดยตรง เพราะฉะนั้น จะต้องพยายามทำให้เห็นว่า กระบวนการจัดทำนโยบาย สะท้อนสิ่งที่ดำเนินการจริง และมีข้อมูลที่ประชาชนควรทราบว่า นโยบายนั้นมีการพัฒนาโดยคิดถึงผลกระทบในด้านต่างๆ มีความคุ้มค่าหรือไม่มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการทุจริต ซึ่งช่วยให้ประชาชนตัดสินใจได้ดีขึ้น
“แทนที่จะฟังแต่เพียงนโยบาย ซึ่งบางนโยบายก็น่าฟัง เช่น การเพิ่มค่าแรง เพิ่มเงินเดือน แต่ปรากฎว่าในข้อเท็จจริงไม่มีการวิเคราะห์ถึงความคุ้มค่าหรือแหล่งเงินที่จะใช้ตามนโยบายนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ให้คำหวานเฉยๆ ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่เราอยากจะใช้เครื่องมือให้เป็นประโยชน์ เมื่อประชาชนเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ ก็จะทำให้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นอย่างแท้จริง” นายภักดีกล่าว
@4 เกณฑ์ใหญ่ สกรีนนโยบาย
สำหรับเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบายในขั้นตอนการพัฒนานโยบายมีองค์ประกอบ 4 ด้าน ได้แก่
1.ประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตเชิงนโยบาย ต้องอธิบายได้ว่า แหล่งที่มางบประมาณมาจากไหน, เคยเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นในอดีตหรือไม่, มีกลุ่มเป้าหมายและผู้ส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ และเป็นนโยบายที่เกิดในช่วงที่พรรคเป็นฝ่ายบริหารประเทศ และวางเป็นแนวนโยบายตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งหรือไม่
2.วิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า ความเป็นไปได้ และความเสี่ยงของนโยบายด้วยการมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ
3.มีเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ของพรรคการเมืองในการต่อต้านทุจริต ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีใครพูดถึงนัก
4.มีการเสริมสร้างความโปร่งใสในการพัฒนานโยบายของพรรคการเมือง
พรรคการเมือง จะต้องเสนอเฉพาะ ‘นโยบายที่สำคัญของพรรคการเมือง’ เท่านั้น นิยามของนโยบายที่สำคัญของพรรคการเมือง คือ นโยบายที่พรรคเห็นว่า เป็นนโยบายที่หาเสียงไปแล้ว จะมีการนำมาปฏิบัติเมื่อได้เลือกเป็นรัฐบาลแน่นอน หรือเป็นเรื่องที่เกิดผลกระทบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขณะที่ขั้นตอนการนำนโยบายไปปฏิบัติ จะเป็นขั้นตอนที่จะประเมินเมื่อพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกมากที่สุดเข้าบริหารประเทศ และนำนโยบายที่หาเสียงไว้ แปลงเป็นแผนบริหารราชการแผ่นดิน ให้หน่วยงานต่างๆนำไปทำโครงการมา
ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหามากในด้านความเสี่ยงต่อการทุจริต เพราะไม่มีการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริต ไม่มีแผนบริหารจัดการความเสี่ยง ไม่มีการติดตาม ตรงนี้จึงมีเครื่องมือที่ป.ป.ช.ทำขึ้นมาช่วยภาครัฐลดความเสี่ยงเหล่านี้ลง และจะมีการเสนอข้อมูลเหล่านี้ไปให้สำนักงบประมาณรับทราบด้วย เพื่อประกอบการตัดสินใจในการอนุมัติงบประมาณ ต่อไป
“จะมีขั้นตอนในการทำให้การนำนโยบายไปปฏิบัติ มีการลดความเสี่ยงในการทุจริตลงไป และจะมีมาตรการจัดการความเสี่ยง ซึ่งเป็นเรื่องที่กำหนดไว้แล้วในกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น การทำสัญญาคุณธรรม เป็นต้น และเกณฑ์ที่พัฒนาขึ้นมา เป็นเครื่องมือที่ครบวงจร ทั้งช่วงการพัฒนาและการนำไปปฏิบัติ ก็หวังว่า เครื่องมือนี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการทุจริตเชิงนโยบายได้” นายภักดีสรุป
ภักดี โพธิศิริ อดีตคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่มาภาพ: ป.ป.ช.
@กกต.ย้ำชัด พรรคการเมืองต้องปฏิบัติตาม
ด้าน พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ รองเลขาธิการ กกต. กล่าวว่า นอกจากการดำเนินการเรื่องนี้ จะเป็นหน้าที่ของ กกต.แล้ว ตามมาตรา 57 พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ก็ระบุให้ กกต. ดำเนินการด้วย โดยได้มีหนังสือแจ้งพรรคการเมืองไปแล้วว่า จะต้องดำเนินการ ซึ่งในมาตรานี้กำกับไว้ว่าจะต้องดำเนินการตามเพราะหากไม่ทำอาจมีความผิดทางอาญาตามมาได้
ในมาตรา 57 ได้กำหนดว่า พรรคการเมืองจะต้องกำหนดนโยบายของพรรคโดยคิดถึงความเห็นของสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคประจำจังหวัด ซึ่งการทำสาขาพรรค แต่ละพรรคจะต้องมีอย่างน้อย4 สาขา ซึ่งสาขาพรรคและตัวแทนพรรคประจำจังหวัดจะมีบทบาทในการทำไพรมารีโหวต เพื่อคัดเลือกตัวแทนของพรรค ที่จะลงสมัครชิงตำแหน่ง ส.ส.แต่ละเขต แม้แต่นโยบายก็ต้องคำนึงถึงแต่ละพื้นที่ด้วยไม่ใช่เอาแต่กรรมการบริหารพรรคอย่างเดียว
ส่วนนโยบายที่ต้องใช้งบประมาณดำเนินการ มีกรอบกำหนดไว้ 3 ประเด็น ได้แก่ ที่มาของเงินที่จะทำนโยบายมาจากไหน, ความคุ้มค่าและประโยชน์ที่จะได้รับ และผลกระทบและความเสี่ยงของนโยบาย จะต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจและรับทราบให้ครบถ้วน
“สิ่งนี้ไม่ใช่งานของ กกต. เป็นงานของพรรคการเมืองและประชาชน ประชาชนจะเข้าใจว่ามาตรา 57 เขียนแบบนี้ เวลาปฏิบัติออกมาทำอย่างไรจะเข้าใจมากขึ้น” รองเลขา กกต.ระบุ
ทั้งนี้ หากพรรคไม่ปฏิบัติตาม กกต.จะต้องเตือนก่อนว่า ให้ทำตาม หากไม่ทำอีก มีโทษตามมาตรา 121 พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 คือ ปรับ 500,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังไม่ปฏิบัติตามให้ถูกต้อง นอกจากนี้ จะมีผลกับการหาเสียงด้วย หากหาเสียงไม่เหมือนกับนโยบายที่ต้องทำตามเกณฑ์และประกาศไว้ หรือหาเสียงในนโยบายที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นของพรรค ก็จะมีโทษเหมือนกัน คือโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้ง 20 ปี
พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ รองเลขาธิการ กกต. ที่มาภาพ: กกต.
อ่านประกอบ
‘สุภา’ มองพรรคการเมืองหาเสียงไม่จริงใจ แนะเลือกที่ทำนโยบายเพื่อประชาชนจริง