“...หากบทเฉพาะกาลให้นับรวมวาระการดำรงตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ไม่เกิน 8 ปีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรค 4 ประกอบมาตรา 170 วรรค 2 ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 แล้ว บทเฉพาะกาลต้องบัญญัติให้มีความชัดเจนตามหลักความแน่นอนชัดเจนของกฎหมาย…”
กรณีศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินคดีความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ว่าให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ยังไม่ครบ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จึงยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้
โดยการพิจารณาตัดสินคดีนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมติเสียงข้างมาก 6 เสียงต่อ 3 เสียง ที่ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป
เสียงข้างมาก 6 เสียง ประกอบด้วย 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม, 2.นายปัญญา อุดชาชน 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ และ 6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน
ส่วนอีก 3 เสียงข้างน้อย ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ และ 3.นายนภดล เทพพิทักษ์
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำคำวินิจฉัยส่วนตนของ 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ,นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ และ นายนภดล เทพพิทักษ์ ที่เห็นควรให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
- คดี 8 ปีประยุทธ์ คำวินิจฉัย 'นครินทร์' : การผูกขาดอำนาจ อาจก่อให้เกิดวิกฤต-การทุจริต
- คดี 8 ปี ประยุทธ์ :เปิดคำวินิจฉัยเสียงข้างน้อย ‘ทวีเกียรติ' ไม่ให้มีการผูกขาดอำนาจ!
- คดี 8 ปี ประยุทธ์:คำวินิจฉัยเสียงข้างน้อย‘นภดล'ให้นับเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯตามความเป็นจริง
และคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก คือ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญและนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
- คดี 8 ปี ประยุทธ์ คำวินิจฉัยเสียงข้างมาก 'วรวิทย์' : เริ่มนับ 6 เม.ย.60 รธน.ประกาศใช้
- คดี 8 ปี ประยุทธ์ ‘บรรจงศักดิ์’ : ใช้ ม.264 ตีความย้อนหลังอายุนายกฯ ไม่ได้
ต่อไปนี้ เป็นคำวิยิจฉัยส่วนตนของนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็น 1 ในเสียงข้างมากที่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป โดยเหตุผลสำคัญคือ บทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด ดังนั้นเมื่อบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติการเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีไว้การเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องเริ่มนับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามหลักกฎหมายทั่วไปคือวันที่ 6 เมษายน 2560
มีรายละเอียด ดังนี้
ประเด็นวินิจฉัย
ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชาสิ้นสุดลงแล้วตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสองประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่
ความเห็น
พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดวาระและการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีมีทั้งบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่เป็นบทถาวรและบทเฉพาะกาล บทถาวรเป็นบทหลักโดยหากพิจารณาตามโครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่สำคัญและเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์การประกอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 158 159 และ 170
มาตรา 158 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระบวนการได้มาซึ่งบุคคลจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีการรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและการจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีรวมกันแล้วห้ามเกิน 8 ปีไม่ได้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่
มาตรา 159 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับสภาผู้แทนราษฎรเป็นองค์กรที่มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามและวิธีการแนวทางการเสนอชื่อรวมถึงมติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี
และมาตรา 170 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวและความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดเวลาตามมาตรา 158 วรรค 4
ส่วนบทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 264 เป็นบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติขึ้นให้ใช้เฉพาะในช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่งหรือเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เพื่อเชื่อมโยงให้เกิดความต่อเนื่องและป้องกันไม่ให้เกิดสุญญากาศในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือการบริการสาธารณะระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ถูกยกเลิกกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
หากบทถาวรหรือบทหลักของรัฐธรรมนูญฉบับเดิมและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามวิธีการและแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกัน จะต้องบัญญัติข้อยกเว้นไว้ในบทเฉพาะกาลเป็นสำคัญ หลักสำคัญของบทเฉพาะกาลต้องยึด ‘หลักความแน่นอนชัดเจนของกฎหมาย’ ซึ่งเป็นหลักสำคัญของหลักความมั่นคงทางกฎหมาย กล่าวคือ หลักความแน่นอนชัดเจนของกฎหมายเป็นหลักที่ฝ่ายนิติบัญญัติต้องบัญญัติกฎหมายให้มีความชัดเจนอย่างเพียงพอและต้องบัญญัติถึงหลักการทั่วไปที่จะต้องให้เข้าใจถึงหลักเกณฑ์ในทางกฎหมายได้อย่างชัดเจน
@ พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมในพิธีถ่ายภาพหมู่บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 62 ภาพจาก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
ตามประเด็นวินิจฉัยพิจารณาได้ดังนี้
1. บทเฉพาะกาลตามรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นบทบัญญัติที่เชื่อมโยงระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 และรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งนี้ บทเฉพาะการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 264 บัญญัติขึ้นตามหลักความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีโดยยกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามรวมถึงการพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีเท่านั้นเพื่อไม่ให้ขัดกับบทถาวรที่เป็นบทหลัก แต่ไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับวาระดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ หากบทเฉพาะกาลให้นับรวมวาระการดำรงตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ไม่เกิน 8 ปีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรค 4 ประกอบมาตรา 170 วรรค 2 ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 แล้ว บทเฉพาะกาลต้องบัญญัติให้มีความชัดเจนตามหลักความแน่นอนชัดเจนของกฎหมาย เช่นพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2551 มาตรา 76 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 2558 มาตรา 96 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 2559 มาตรา 87 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศิลปากร 2559 มาตรา 79 พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 2559 มาตรา 81 และพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 2560 มาตรา 83 ที่บัญญัติให้นับรวมวาระการดำรงตำแหน่งของอธิการบดีคณบดีตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฉบับเดิมที่ถูกยกเลิกเข้ากับพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยฉบับใหม่ด้วย
2. การเริ่มนับวาระดำรงตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาลไม่ได้บัญญัติชัดเจนว่า วาระดำรงตำแหน่งดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อใด ประกอบกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ถูกยกเลิกสิ้นผลไปแล้ว ด้วยเหตุนี้ ตามหลักกฎหมายทั่วไป เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการปฏิบัติราชการในการบริหารราชการแผ่นดินและถือเป็นบ่อเกิดของกฎหมายที่ใช้บังคับในสังคมตลอดจนเพื่อให้สอดคล้องกับหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 เมื่อบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติการเริ่มนับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้การเริ่มนับวาระดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีต้องเริ่มนับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามหลักกฎหมายทั่วไปคือวันที่ 6 เมษายน 2560
3. ข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 ซึ่งเป็นกรณีการขัดกันแห่งผลประโยชน์และลักษณะต้องห้าม, คำวินิจฉัยศาลธรรมนูญที่ 7/2562 เป็นกรณีการกระทำอันเป็นลักษณะต้องห้าม, คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5 2550 เป็นกรณีพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองอันเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคการเมืองจึงส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองตามกฎหมายโดยไม่ใช่โทษทางอาญาที่มีผลย้อนหลัง และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 24/26 4 อันเป็นกรณีการกระทำอันเป็นลักษณะต้องห้ามและส่วนการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติของกฎหมายที่ต่างกัน
ดังนั้นด้วยเหตุผลตามหลักกฎหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวการเริ่มนับวาระการดำรงตำแหน่งของพลเอกประยุทธ์จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น
จึงวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสองประกอบมาตรา 158 วรรคสี่