“...ไม่อาจตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 264 ว่าให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเคยได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญปี 2557 เป็นระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 นี้ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างได้…”
กรณีศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินคดีความเป็นนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ว่าให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 ยังไม่ครบ 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ จึงยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปได้
โดยการพิจารณาตัดสินคดีนี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมติเสียงข้างมาก 6 เสียงต่อ 3 เสียง ที่ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีต่อไป
เสียงข้างมาก 6 เสียง ประกอบด้วย 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม, 2.นายปัญญา อุดชาชน 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ 5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ และ 6.นายวิรุฬห์ แสงเทียน
ส่วนอีก 3 เสียงข้างน้อย ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ และ 3.นายนภดล เทพพิทักษ์
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำคำวินิจฉัยส่วนตนของ 3 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ,นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ และ นายนภดล เทพพิทักษ์ ที่เห็นควรให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
และคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก คือ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
- คดี 8 ปีประยุทธ์ คำวินิจฉัย 'นครินทร์' : การผูกขาดอำนาจ อาจก่อให้เกิดวิกฤต-การทุจริต
- คดี 8 ปี ประยุทธ์ :เปิดคำวินิจฉัยเสียงข้างน้อย ‘ทวีเกียรติ' ไม่ให้มีการผูกขาดอำนาจ!
- คดี 8 ปี ประยุทธ์:คำวินิจฉัยเสียงข้างน้อย‘นภดล'ให้นับเวลาดำรงตำแหน่งนายกฯตามความเป็นจริง
ต่อไปนี้ เป็นคำวินิจฉัยส่วนตนของนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก อีก 1 ราย ซึ่งมีความเห็นว่า การเอารัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 มาตีความให้การนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเคยได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญปี 2557 ไม่สามารถทำได้
มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ประเด็นวินิจฉัย
ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่
ความเห็น
ต้องพิจารณาก่อนคือความเป็นนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 2560 ของพลเอกประยุทธ์เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อใด?
พิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดวิธีการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีไว้เป็น 2 กรณีซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับอื่นคือ การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 และการได้มาซึ่งบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามบทเฉพาะกาลมาตรา 272
‘บิ๊กตู่’ เป็นนายกตามมาตรา 159 รธน.60
การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 มีหลักการสำคัญว่า ให้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลที่พรรคการเมืองแจ้งรายชื่อไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง โดยจะต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงเป็นหลักการสำคัญประการหนึ่งของการได้มาซึ่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น เมื่อพลเอกประยุทธ์ได้รับความเห็นชอบตามมาตรา 159 และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 แล้ว พลเอกประยุทธ์จึงเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามหลักเกณฑ์และวิธีการของรัฐธรรมนูญปี 2560 โดยสมบูรณ์ และเป็นไปตามหลักทั่วไปของการมีผลใช้บังคับของกฎหมายและหลักความแน่นอนชัดเจนของกฎหมาย
กล่าวคือ การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ต้องพิจารณากระบวนการในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 ประกอบกับมาตรา 159 โดยเฉพาะเงื่อนไขในมาตรา 159 วรรคหนึ่งที่บัญญัติว่า
“สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร”
อันเป็นบทบัญญัติที่มีความหมายเฉพาะเจาะจงตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญปี 2560 คือบุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 เฉพาะจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น
แต่ยังมีกรณีที่ต้องพิจารณาต่อไปว่า คณะรัฐมนตรีซึ่งมีพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 นั้นเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วยหรือไม่ เพราะในรัฐธรรมนูญปี 2560 มีบทเฉพาะกาลตามมาตรา 264 ที่วรรคหนึ่งระบุว่า
“ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ (ฉบับปี 2560) จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่และให้นำความในมาตรา 2633 บังคับใช้แก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีโดยอนุโลม”
พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมในพิธีถ่ายภาพหมู่บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 62 ภาพจาก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
วินิจฉัย ม.264 บทเฉพาะกาล รธน.ให้อยู่ต่อ
พิเคราะห์แล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 264 วรรคหนึ่งเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันถึงหลักการความต่อเนื่องของคณะรัฐมนตรี กล่าวคือ แม้คณะรัฐมนตรีซึ่งมี พลเอกประยุทธ์ ในฐานะผู้ผูู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้บังคับ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 แล้วต้องถือว่าคณะรัฐมนตรีซึ่งแม้จะเข้าสู่ตำแหน่งโดยรัฐธรรมนูญฉบับอื่นก็ตามย่อมเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560ธรรมนูญปี 2560 เป็นต้นไปตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264 ดังกล่าว
ส่วนความมุ่งหมายประการที่สอง เพื่อนำหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้บังคับใหม่ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาใช้บังคับแก่คณะรัฐมนตรีที่มีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ด้วย อันเป็นไปตามหลักทั่วไปที่คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ประกาศขึ้นมาใหม่ทุกประการทันที เว้นแต่ในบทเฉพาะกาลนั้นจะมีข้อยกเว้นว่ามีให้นำเรื่องใดมาใช้บังคับแก่คณะรัฐมนตรีชุดที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ตามที่ปรากฏในมาตรา 264 วรรคสองแห่งรัฐธรรมนูญปี 2560 ว่า
“รัฐมนตรีตามวรรคหนึ่ง นอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญปี 2557 แล้วต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้สำหรับรัฐมนตรีตามมาตรา 160 ยกเว้น (6) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และต้องพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 170 ยกเว้น (3) และ(4) แต่ในกรณีตาม (4) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรา 98 (12) (13) (14) และ (15) และยกเว้นมาตรา 170 (5) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรา 184 (1)”
พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมในพิธีถ่ายภาพหมู่บริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 62 ภาพจาก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
ตีความ ม.264 รธน.มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่มีผล
ซึ่งเป็นการบัญญัติข้อยกเว้นในบางเรื่องเท่านั้น ดังนั้น หากมิได้มีการบัญญัติยกเว้นบทบัญญัติในเรื่องใดไว้ ก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในเรื่องนั้นๆทั้งสิ้น ความมุ่งหมายของบทเฉพาะกาลมาตรา 264 จึงเป็นไปตามหลักทั่วไปของการบังคับใช้กฎหมายคือ กฎหมายย่อมมีผลบังคับใช้นับแต่วันประกาศใช้เมื่อรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับวันที่ 6 เมษายน 2560 ย่อมมีความหมายว่าทุกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญย่อมมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป เว้นแต่ในบทเฉพาะกาลจะมีบทบัญญัติในเรื่องใดอย่างไม่มีผลใช้บังคับ
เป็นนายกฯ ตามมมาตรา 158 / บทเฉพาะกาล ม.264 เขียนใน รธน.หลายฉบับ
ดังนั้น ไม่ว่ากรณีใดๆ เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ใช้บังคับทุกอย่างจึงต้องถือว่าเริ่มต้นนับหนึ่งทันทีกรณีของมาตรา 158 วรรค 4 ในเรื่องระยะเวลา 8 ปีจึงต้องเริ่มรับทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลใช้บังคับ
จากหลักกฎหมายข้างต้นจึงวินิจฉัยได้ว่า มีเหตุผลที่จะต้องถือว่าพลเอกประยุทธ์ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติมาตรา 158 วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยเนื่องจากบทบัญญัติมาตรา 264 วรรคหนึ่ง ที่วา ‘ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้…’ จึงทำให้คณะรัฐมนตรีชุดดังกล่าวเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ด้วย
และด้วยเหตุเช่นนี้จึงถือว่า พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีตามบทบัญญัติมาตรา 158 นั่นด้วย รวมทั้งยังมีผลให้พลเอกประยุทธ์ต้องตกอยู่ในบังคับว่าจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมกันแล้วเกิน 8 ปีมิได้ตามมาตรา 158 วรรค 4 อีกด้วยเพราะรัฐธรรมนูญนี้มิได้ยกเว้นการบังคับใช้แก่พลเอกประยุทธ์ไว้ด้วยเช่นกัน
“รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง มีความมุ่งหมายให้เป็นบทบัญญัติที่ยืนยันถึงหลักความต่อเนื่องของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น บทเฉพาะกาลในลักษณะเดียวกันกับรัฐธรรมนูญมาตรา 264 นี้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับในอดีตที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นี้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับในอดีตที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เช่น รัฐธรรมนูญปี 2489 มาตรา 95, รัฐธรรมนูญปี 2492 มาตรา 186, รัฐธรรมนูญปี 2511 มาตรา 181, รัฐธรรมนูญปี 2517 มาตรา 235 รัฐธรรมนูญปี 2519 มาตรา 27 รัฐธรรมนูญปี 2534 มาตรา 215 รัฐธรรมนูญปี 2540”
กรณีนี้จึงเห็นได้ว่าบทเฉพาะกาลตามมาตรา 264 วรรคหนึ่งมีความมุ่งหมายยืนยันถึงหลักความต่อเนื่องของคณะรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์จะเป็นคณะรัฐมนตรีที่อยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ แต่ทันทีที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 แล้วต้องถือว่าคณะรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ ที่แม้จะเข้าสู่ตำแหน่งโดยรัฐธรรมนูญฉบับอื่น ย่อมเป็นคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 264 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ทันที ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป ซึ่งคณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็จะต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ประกาศใช้ใหม่ทุกประการ เว้นแต่ในบทเฉพาะกาลจะมีข้อยกเว้นว่ามีให้นำเรื่องใดมาบังคับใช้กับคณะรัฐมนตรีชุดนี้
พลเอกประยุทธ์ พร้อมด้วยพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (กลาง) และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา (ซ้าย) ร่วมพิธีเปิดงานมอบความสุขให้กับประชาชน เดิน กิน ชิม เที่ยว Walking Street @ Silom ณ ถนนสีลม กรุงเทพฯ เมื่อ 22 ธันวาคม 2562 ภาพจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล
เตือนใช้ช่อง ม.264 ตีความอายุนายก ผิดหลักการกฎหมาย 2 ประการ
ดังนั้น การตีความการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ตามบทบัญญัติมาตรา 264 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญว่า สามารถนับย้อนลงไปถึงคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนซึ่งสิ้นผลบังคับใช้ไปแล้วนั้น จะเป็นการตีความรัฐธรรมนูญที่ขัดต่อหลักกฎหมาย 2 ประการคือ หลักความแน่นอนชัดเจนของกฎหมาย และหลักการคุ้มครองความสุจริตของบุคคล
ในหลักการความแน่นอนชัดเจนของกฎหมาย คือ นายกรัฐมนตรีที่เข้าสู่ตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญนี้จะต้องเป็นไปตามมาตรา 158 วรรคสอง (นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งสภาผู้แทนราษฎรให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159) และวรรคสาม ( ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี) ประกอบมาตรา 159 และจะมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 8 ปีตามมาตรา 159 วรรคสี่ (รัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมแล้วเกิน 8 ปีไม่ได้ ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่แต่มีให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง) ด้วย
ตีความให้มีผลย้อนหลัง ต้องมีกม.ลายลักษณ์เป็นฐานพิจารณา
ส่วนการขัดกับหลักการคุ้มครองความสุจริตของบุคคล กล่าวคือ บุคคลซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีก่อนรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้ ยอมเชื่อโดยสุจริตว่า ตนจะมีสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้ได้ หากเข้าเงื่อนไขตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งนี้ หากกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้วก็คือ หลักการให้กฎหมายมีผลย้อนหลังหรือการนับระยะเวลาย้อนหลังตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างไม่อาจเป็นไปได้ หากปราศจากตัวบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่ต้องใช้เป็นฐานในการพิจารณา
เพราะหากยอมให้มีการใช้หรือการตีความกฎหมายเช่นนั้นได้ จะเป็นบรรทัดฐานที่อาจมีการอ้างอิงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันทุกองค์กรว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วางบรรทัดฐานว่า สามารถใช้ถ้อยคำใดในตัวบทกฎหมายก็ได้เป็นฐาน เพื่อตีความให้บทกฎหมายนั้นๆ มีผลย้อนหลังลงไปได้โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวบทกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นฐานในการพิจารณา อาจจะเป็นการสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นแก่กับระบบกฎหมายไทย
เพราะกรณีที่มีการใช้กฎหมายย้อนหลังนั้นแม้แต่เป็นกรณีที่มีบทกฎหมายลายลักษณ์อักษรบัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้ใช้บังคับย้อนหลังได้ ศาลก็ยังต้องตรวจสอบด้วยว่าบทกฎหมายที่เขียนไว้ชัดเจนแล้วเช่นนั้น จะใช้บังคับแก่กรณีนั้นได้โดยชอบตามหลักนิติธรรมด้วยอีกหรือไม่
ดังนั้น จึงไม่อาจตีความรัฐธรรมนูญมาตรา 264 ว่าให้นับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเคยได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญปี 2557 เป็นระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 นี้ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างได้ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์จึงยังไม่สิ้นสุดลงและเมื่อได้วินิจฉัยเช่นนี้แล้วจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยประเด็นโต้แย้งอื่นของผู้ร้องต่อไปอีกเพราะไม่ได้มีผลให้คำวินิจฉัยนี้เปลี่ยนแปลงไปได้
ด้วยเหตุผลข้างต้นจึงวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์อย่างไม่สิ้นสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสองประกอบมาตรา 158 วรรค 4
พลเอกประยุทธ์ ขณะร่วมในกิจกรรมนําร่องถนนคนเดิน (Walking Street) ณ ถนนเยาวราช กรุงเทพฯ 15 ธันวาคม 2562 ภาพจาก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล