"...ณ เวลานี้ 2 พรรคใหญ่ ฝ่ายประชาธิปไตย กวาดเก้าอี้ ส.ก.ไปได้มากถึง 34 เขตจาก 50 เขต ไม่นับรวมกับความเคลื่อนไหวของว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ แม้จะเป็นอิสระทางการเมือง แต่ยากที่จะปฏิเสธว่า ปรากฎการณ์นี้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงสนามเลือกตั้งใหญ่แน่นอน..."
1,386,215 เสียงของคน กทม. ส่ง ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ นั่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) คนที่ 17 ได้สำเร็จ
เป็นผู้ว่าฯ กทม.ที่มาจากการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทุบสถิติปี 2556 ของ ‘ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร’ ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกด้วยคะแนน 1,256,349 เสียง
ชัยชนะของ ‘ชัชชาติ’ ยังเกิดปรากฏการณ์ ‘แลนด์สไลด์’ หลังจากเขาผู้ที่ได้รับเลือกมากที่สุดในทุกเขต ทั้ง 50 เขตของ กทม.
แม้จะเปิดตัวในนามอิสระ แต่ภาพของ ‘ชัชชาติ’ ย่อมถูกสะท้อนบางมุมเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงทำให้บางกลุ่มขยายประเด็นเป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตามสนามผู้ว่าฯ กทม.สะท้อนความนิยม ‘ตัวบุคคล’ เป็นสำคัญ ส่วนผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) อาจจะสะท้อนความนิยม ‘พรรคการเมือง’ ต้นสังกัดของผู้สมัครที่จะส่งผลถึงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้อีกด้วย
ซึ่งการเลือกตั้ง ‘ระดับท้องถิ่น’ แม้จะนำมาเปรียบเทียบกับการเลือกตั้ง ‘ระดับชาติ’ ไม่ได้อย่างชัดเจน แต่คะแนนการเลือกตั้ง ส.ส. - ส.ก.ที่เกิดขึ้นใน กทม.ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกพรรคการเมืองย่อมนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับเตรียมเพื่อเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า
การเลือกตั้ง ส.ก.ครั้งนี้ มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 2,635,283 เสียง แบ่งเป็น บัตรดี 2,320,845 เสียง บัตรเสีย 113,945 เสียง และมีบัตรที่ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด 200,493 เสียงหรือ 7.61% ของผู้ที่ออกเสียงลงคะแนน
สำหรับผลการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้ 20 เขต พรรคก้าวไกล 14 เขต พรรคประชาธิปัตย์ 9 เขต กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 3 เขต พรรคพลังประชารัฐ 2 เขต และพรรคไทยสร้างไทย 2 เขต
มี 5 พรรค และ 1 กลุ่มการเมือง ที่ส่งผู้สมัครครบ-เกือบครบทั้ง 50 เขต ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคไทยสร้างไทย และกลุ่มรักษ์กรุงเทพ
หากนับเฉพาะคะแนนที่ประชาชนออกมาเลือกผู้สมัครจาก 5 พรรค 1 กลุ่มการเมืองนี้ จะมีทั้งหมด 2,215,899 เสียง จากบัตรดี 2,320,845 เสียง หรือคิดเป็น 95.48% ของผู้ออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- พรรคเพื่อไทย 620,009 เสียง หรือ 26.71%
- พรรคก้าวไกล 485,830 เสียง หรือ 20.93%
- พรรคประชาธิปัตย์ 348,852 เสียง หรือ 15.03%
- พรรคพลังประชารัฐ 274,970 เสียง หรือ 11.85%
- พรรคไทยสร้างไทย 241,75 เสียง หรือ 10.43%
- กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 192,725 เสียง หรือ 8.30%
ขณะที่การเลือกตั้งใหญ่ปี 2562 ในพื้นที่ กทม. มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 30 เขต ผลการเลือกตั้งทำให้พรรคพลังประชารัฐได้ 12 เขต พรรคอนาคตใหม่ (พรรคก้าวไกลในปัจจุบัน) 9 เขต และ พรรคเพื่อไทย 9 เขต ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เจ้าของพื้นที่เดิม ไม่ได้ ส.ส.แม้แต่เขตเดียว
โดยการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 มีบัตรดี 3,102,280 เสียง พบว่ามีการเลือกผู้สมัคร ส.ส.จาก 4 พรรคใหญ่ ดังนี้
- พรรคอนาคตใหม่ 804,272 เสียง หรือ 25.93%
- พรรคพลังประชารัฐ 791,893 เสียง หรือ 25.53%
- พรรคเพื่อไทย 604,699 เสียง หรือ 19.49%
- พรรคประชาธิปัตย์ 474,820 เสียง หรือ 15.31%
เมื่อเปรียบเทียบคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 กับ ส.ก.ปี 2565 พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
พรรคเพื่อไทย ที่เปิดตัว ‘อุ๊งอิ๊ง - แพทองธาร ชินวัตร’ บุตรสาวนายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะ ‘หัวหน้าครอบครัว’ นำทัพ ส.ก.หาเสียงในหลายพื้นที่ พร้อมการประกาศ ‘แลนด์สไลด์’ อาจส่งผลให้ความเคลื่อนไหวภายในพรรคหลังจากนี้เป็นเอกภาพมากขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้เผชิญปัญหา ‘เลือดไหล’
ผลลัพธ์สุดท้ายได้ ส.ก. 20 เขตจากคะแนนรวมทุกเขต 620,009 เสียง หรือ 26.71% ของบัตรดี หากเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 แม้ว่าจำนวนเสียงจะไม่แตกต่างกันมากนัก แต่สัดส่วนของคะแนนเพิ่มขึ้นถึง 7%
พรรคก้าวไกล ถูกจับตามองทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง เพื่อหาที่มาของฐานเสียงพรรคอนาคตใหม่ในอดีตว่ามาจากคะแนนนิยมของพรรค หรือเป็นผลพลอยได้จากการยุบพรรคไทยรักษาชาติ ?
ในการเลือกตั้งสนามนี้ แม้ว่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคอย่าง ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ จะคว้าอันดับ 4 จาก 253,851 เสียง แต่ผลการเลือกตั้ง ส.ก.ทำได้ 14 เขต จากคะแนนรวมทุกเขต 485,830 เสียง หรือ 20.93% ของบัตรดี
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับผลการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 พบว่า จำนวนเสียงลดลง 318,442 เสียง และมีสัดส่วนคะแนนลดลงประมาณ 5%
พรรคไทยสร้างไทย ที่นำทัพโดย ‘คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’ ประธานพรรค นำทีมงานแยกตัวจากพรรคเพื่อไทย ที่ถูกจับตามองว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ กทม. โดยเฉพาะผลกระทบที่อาจทำให้พรรคเพื่อไทยมีคะแนนนิยมลดลง
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้จะสามารถคว้าเก้าอี้ ส.ก.ได้เพียง 2 เขต แต่คะแนนเสียงรวมทุกเขตทำได้ถึง 241,975 เสียง หรือ 10.43% ของบัตรดี และเป็นที่น่าสนใจว่า มีคะแนนเสียงเกือบเทียบเท่าพรรคพลังประชารัฐที่มี 274,970 เสียง
พรรคประชาธิปัตย์ ที่พ่ายแพ้อย่างหมดรูปในการเลือกตั้ง ปี 2562 ทำให้ในพื้นที่ กทม.ไม่มี ส.ส.แม้แต่เขตเดียว นอกจากนั้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมายังต้องเผชิญวิกฤติศรัทธาจากปัญหาภายใน เกิดปรากฏการณ์เลือดเก่าไหลออก-ตัวบุคคลสร้างความเสื่อมเสียให้กับภาพลักษณ์ของพรรค
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ส.ก.ไปถึง 9 เขต คะแนนรวมทุกเขต 348,852 เสียง หรือ 15.03% ของบัตรดี แต่เมื่อเทียบกับคะแนนรวมปี 2562 ที่ได้ 474,820 เสียง แม้ว่าจำนวนเสียงจะลดลง 125,968 เสียง แต่สัดส่วนของคะแนนแทบไม่มีความแตกต่างกัน
ย่อมเท่ากับว่า พรรคประชาธิปัตย์ยังคงรักษาฐานเสียง-คะแนนนิยมไว้ได้อย่างน่าสนใจ
พรรคพลังประชารัฐ ถูกจับตามองในฐานะแกนนำรัฐบาล-แชมป์เก่าในพื้นที่ กทม.แต่ผลการเลือกตั้งครั้งนี้อาจจะทำให้หลายฝ่ายผิดหวัง เพราะกวาดที่นั่ง ส.ก.ได้เพียง 2 เขต คะแนนรวม 274,970 เสียงหรือ 11.85% จากบัตรดี
เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 ที่ได้ 791,893 เสียง พบว่าคะแนนลดลงมากที่สุดถึง 516,923 คะแนน สัดส่วนคะแนนหายไปมากกว่าเท่าตัว
คะแนนที่ลดลงอย่างน่าตกใจนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะถูกมองไปถึงคะแนนนิยมของรัฐบาลที่ลดลงไปด้วย โดยเฉพาะกับตัวนายกรัฐมนตรีอย่าง ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ที่เข้ารับตำแหน่งด้วยการเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐ
รวมถึงปัญหารอยร้าวภายในที่เกิดขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา ย่อมทำให้ความเป็นเอกภาพของพรรคพลังประชารัฐสั่นคลอน โดยเฉพาะพื้นที่กทม. ที่ได้รับผลกระทบแน่นอนจาก กรณี 3 ทหารเสือ กปปส. อย่าง ‘ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ-พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ - สกลธี ภัททิยกุล’ ที่อำลาแยกทางออกจากพรรค
ไม่นับรวม กรณีที่ ‘ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า’ ส.ส.พะเยา อดีตเลขาธิการพรรค พร้อม 18 ส.ส. แยกออกไปทำพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งปรากฎตัวความเคลื่อนไหวหลายครั้งในฐานะผู้สนับสนุนกลุ่มรักษ์กรุงเทพ ซึ่งถือว่าเป็นคู่แข่งในสนามเลือกตั้ง ส.ก.
อย่างไรก็ตาม ยังมี กลุ่มรักษ์กรุงเทพ กลุ่มการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง ส.ก.โดยเฉพาะ และมีแม่ทัพใหญ่เป็นถึงอดีตผู้ว่าฯ กทม.คนเก่า ‘พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง’ ที่สุดแล้วคว้าเก้าอี้ ส.ก.มาได้เพียง 3 เขต คะแนนรวม 192,725 เสียง หรือ 8.30% ของบัตรดี
จึงเป็นโจทย์ที่น่าจับตาว่า คะแนนที่กลุ่มรักษ์กรุงเทพได้ไปในสนาม ส.ก.นั้น เมื่อถึงคราวเลือกตั้ง ส.ส. อาจจะยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ?
กรณีกลุ่มรักษ์กรุงเทพที่มี 192,752 เสียง เป็นเอกภาพกับพรรคพลังประชารัฐ ที่มี 274,970 เสียงจะมีคะแนนรวม 467,722 เสียง ถือว่ามีมากกว่าพรรคประชาธิปัตย์ และมีเสียงสูสี-ใกล้เคียงกับที่พรรคก้าวไกลได้ในครั้งนี้
แต่ต้องไม่ลืมว่า ร.อ.ธรรมนัส ที่แยกตัวออกไปทำพรรค ก็ประกาศตัวสนับสนุนกลุ่มรักษ์กรุงเทพมาโดยตลอด ย่อมสร้างแรงสั่นสะเทือนถึงคะแนนในส่วนนี้ที่จะไม่คืนกลับไปที่พรรคพลังประชารัฐด้วยเช่นกัน
และเป็นโจทย์ใหญ่ที่พรรคพลังประชารัฐต้องคิดหนัก หากยังต้องการยึดฐานที่มั่นสนาม กทม.ไว้ได้ดังเดิม
ทั้งนี้ เมื่อรวมเสียงการเลือกตั้งจากฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ ที่นำโดย พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคไทยสร้างไทย และไม่นับรวมพรรคการเมืองขนาดเล็ก
พบว่าการเลือกตั้ง ส.ก.มีคะแนนรวม 1,347,814 เสียง หรือ 58.07% ของบัตรดี เมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 พรรคเพื่อไทย และ พรรคอนาคตใหม่ มีคะแนนเสียงรวม 1,408,971 เสียง เท่ากับมีคะแนนลดลง 61,157 เสียง ซึ่งถือว่าคะแนนนิยมไม่แตกต่างจากเดิมมากนัก
ส่วนอีกฟาก ‘ฝ่ายรัฐบาล’ ที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคกล้า รวมถึงกลุ่มรักษ์กรุงเทพ และไม่นับรวมพรรคการเมืองขนาดเล็ก
พบว่าการเลือกตั้ง ส.ก.มีคะแนนรวม 868,085 เสียง หรือ 37.40% ของบัตรดี เมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ และ พรรคประชาธิปัตย์ มีคะแนนเสียงรวม 1,266,713 เสียง เท่ากับมีคะแนนลดลงมากถึง 398,628 เสียง
อาจพอสรุปได้ว่า ภาพรวมของฝ่ายรัฐบาลมีคะแนนนิยมลดลงเป็นอย่างมาก ปัญหาใหญ่ที่สุดมาจากพรรคพลังประชารัฐที่ต้องรีบฟื้นความเชื่อมั่นให้ได้โดยเร็ว ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ถือว่ารักษาฐานเสียงเดิมไว้ได้
ขณะที่ฝ่ายประชาธิปไตย ทั้งพรรคเพื่อไทย-พรรคก้าวไกล ความแตกต่างของคะนนรวมอาจไม่มีนัยสำคัญ และยังมีเวลาทำพื้นที่-เพิ่มความนิยมได้อย่างต่อเนื่องหลังจากนี้
เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า สนามเลือกตั้ง ส.ส.ส่วนหนึ่งมีฐานที่มั่นสำคัญจาก ส.ก.
ณ เวลานี้ 2 พรรคใหญ่ ฝ่ายประชาธิปไตย กวาดเก้าอี้ ส.ก.ไปได้มากถึง 34 เขตจาก 50 เขต ไม่นับรวมกับความเคลื่อนไหวของว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ แม้จะเป็นอิสระทางการเมือง แต่ยากที่จะปฏิเสธว่า ปรากฎการณ์นี้สร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงสนามเลือกตั้งใหญ่แน่นอน