อินไซด์ ครม. ถกสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนใหญ่เห็นด้วย พร้อมมอบ ‘อนุพงษ์’ เคลียร์คำถาม ‘คมนาคม’ ด้าน ‘กฤษฎีกา’ ระบุ อสส.ตรวจร่างสัญญาเป็นไปตามกฎหมายครบถ้วน ส่วน ‘บิ๊กตู่’ เปรยรอบหน้าเคาะได้แล้ว ระบุ วันนี้พิสูจน์แล้วว่าใครเป็นอย่างไร
เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565 รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เต็มคณะครั้งแรกของปี 2565 ประเด็นที่ถูกจับตามากที่สุดคือ วาระขอความเห็นชอบผลการเจรจาและเห็นชอบร่างสัญญาร่วมทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีสังกัดพรรคภูมิใจไทย รวม 7 คน ยื่นหนังสือลาการประชุมส่วนหนึ่งเพื่อแสดงท่าทีคัดค้านวาระการพิจารณาดังกล่าว
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้เลื่อนวาระการประชุมมาเป็นวาระสุดท้าย และใช้เวลานานเกือบ 1 ชั่วโมงในการพิจารณา โดยมีการแสดงความคิดเห็นกันกันอย่างกว้างขวาง เริ่มจากเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาได้รายงานต่อที่ประชุมว่า อัยการสูงสุด (อสส.) ได้พิจารณาร่างสัญญาว่าเป็นไปตามกฎหมายครบถ้วนแล้ว และเห็นว่า หาก กทม.ยืนยันการยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ก็ไม่เป็นไร
- ไม่หัก'ภูมิใจไทย'! ครม.ยังไม่เคาะสัมปทานสายสีเขียว มอบ'มหาดไทย'ตอบ 4 คำถาม'คมนาคม'
- เปิดหนังสือ'อนุทิน'ค้าน ครม.ต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว'ศักดิ์สยาม'ติดภารกิจ ขอลาประชุม
- เปิดหนังสือลับ'ศักดิ์สยาม' ค้านรอบที่ 8 ต่อสัญญาสายสีเขียว ก่อนสัญญาณแตกหัก'บิ๊กตู่'?
ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย อธิบายว่า การพิจารณาในวันนี้ไม่ใช่การต่อสัมปทาน แต่เป็นการแก้ไขสัญญา เพื่อเป็นการแก้ปัญหาหนี้สินที่เกิดขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็น กทม. หรือรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวก็แก้ไขปัญหาไม่ได้ เอกชนต้องมาช่วย ประชาชนจะได้ประโยชน์ เราจะได้แก้ปัญหาหนี้สิน 5 หมื่นล้านบาท ส่วนการที่จะให้เอกชนลดค่าโดยสารให้ต่ำกว่า 65 บาทตลอดสาย ไม่สามารถทำได้อยู่แล้ว หากอยากได้ราคาถูก กทม.ต้องลดส่วนแบ่งรายได้เพื่อนำไปชดเชยค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ พล.อ.อนุพงษ์ ยังกล่าวกับที่ประชุมว่า ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 7 แล้วที่มีการเสนอเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุม ครม. แต่เมื่อมีข้อสงสัย และกระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือมาเมื่อวันที่ 7 ก.พ.โดยมีคำถามที่ต้องการให้ตอบ 4 ข้อ ส่วนใหญ่เราได้ชี้แจงไปหมดแล้ว เหลือเพียงประเด็นที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายที่ต้องทำให้ชัดเจน ก่อนนำมาเข้า ครม.
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ระบุว่า เหตุผลที่ต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุม ครม. เพราะทุกอย่างมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว ถ้าเราไม่ทำอะไร อาจจะผิดมาตรา 157 ถึงอย่างไรต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณา
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรีส่วนใหญ่เห็นด้วยที่เร่งพิจารณาเรื่องนี้ อาทิ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เห็นว่าเรื่องการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้า ครม.หลายรอบแล้ว หากต้องตอบคำถามแบบนี้เรื่อยๆ มันก็ไม่จบเสียที เช่นเดียวกับนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่กล่าวว่า เราควรตัดสินใจ เพราะประชาชนเลือกเรามาแล้ว ให้เราเป็นคนตัดสินใจ รัฐบาลควรแสดงความเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหาครั้งนี้ โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า “รอบหน้าเคาะได้แล้ว” ทำให้นายจุติบอกว่า อยากให้พิจารณาให้เสร็จภายในวันนี้เลย
ส่วนนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข เสนอแนะว่า ต้องตอบคำถามกับประชาชนให้เคลียร์ ต้องชี้แจงให้ได้ว่าถ้าผ่าน ผ่านเพราะอะไร หรือไม่ผ่านเพราะอะไร เช่นเดียวกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ที่ระบุว่า รัฐบาลควรตัดสินใจเรื่องนี้ได้แล้ว
อย่างไรก็ดี มีรัฐมนตรีบางคนแสดงความไม่มั่นใจในข้อกฎหมาย และพยายามถามซ้ำหลายครั้งว่าการเจรจาและร่างสัญญาไม่ขัดต่อหลักกฎหมายใช่หรือไม่ อาทิ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รมช.ศึกษาธิการ
นอกจากนี้ ยังมีช่วงหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปรารภถึงราคาค่าโดยสาร 65 บาท ว่า “ก่อนหน้านี้ก็เห็นด้วยกันมาแล้ว แล้วทำไมตอนนี้ถึงมาเปลี่ยนใจ”
ขณะที่ในช่วงท้าย พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวกับที่ประชุมว่า “วันนี้ผมพิสูจน์แล้วว่าใครเป็นอย่างไร ขอบคุณทุกคนที่อยู่ในห้องนี้” นอกจากนี้ ยังระบุอีกว่า “ปัญหานี้คาราคาซังมานานแล้ว อยากให้มันจบ” พร้อมกับถาม พล.อ.อนุพงษ์ด้วยว่า สามารถนำเรื่องกลับมาพิจารณาใน ครม.สัปดาห์หน้าได้เลยหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ตอบว่า ไม่น่าจะทัน แม้ว่าทุกคำถามจะตอบไปแล้ว แต่มีเรื่องต้องทำหนังสือถามไปหลายหน่วยงาน รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งไม่น่าจะทัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงพักเบรกการประชุม ซึ่งเกิดขึ้นก่อนจะพิจารณาวาระนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดคุยหยอกล้อกับรัฐมนตรีที่เข้าประชุมว่า “วันนี้บรรยากาศดูเหงาๆ รัฐมนตรีหายไปเยอะ สงสัยรถไฟฟ้ามาหานะเธอ” ทำให้คนที่อยู่บริเวณนั้นหัวเราะชอบใจ ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ ได้บอกกับคนอื่นๆด้วย ว่า “ผมเชื่อมั่นในฝ่ายกฎหมายของผม”