"...ข้อมูลเปรียบเทียบขยะพลาสติกในประเทศไทยจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า ปี 2563 มีอัตราการเพิ่มของปริมาณขยะพลาสติกจาก ปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา แต่สถิติการจัดการขยะพลาสติกปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีการตื่นตัวต่อการจัดการขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตถ้ามีการจัดขยะพลาสติก นำมารีไซเคิลมากขึ้น ลดปริมาณขยะให้น้อยลง..."
.............................................
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงาน Climate Care Forum #1: Survive Climate Tipping Point ในโอกาสครบรอบ 1 ปี โครงการ Care the Whale @รัชดา เตรียมขยายผลจากพื้นที่ต้นแบบการเรียนรู้การบริหารจัดการขยะ ขยายสู่ความร่วมมือนอกพื้นที่ ภายในงานมีการจัดเสวนาหัวข้อ 'ขยะล่องหน : ถอดบทเรียน สู้โลกร้อน' โดยมี ต้นแบบการบริหารจัดการขยะทั้งในส่วนชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน อีกทั้งศิลปิน ร่วมการเสวนา
@'วัดจากแดง' ต้นแบบการจัดการขยะ กระจายความรู้สู่ชุมชน
พระมหาประนอม ธมฺมาลงฺกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง จังหวัดสมุทรปราการ ผู้เป็นต้นแบบการบริหารจัดการขยะในชุมชน กล่าวว่า พลังงานเป็นที่ต้องการของทุกภาคส่วน ไม่เว้นแม้แต่การบิณฑบาตของพระ ปัจจุบันมีการบริโภคพลังงานทั้งรูปแบบรูปธรรมและนามธรรม พลังงานรูปธรรม เช่น อาหาร เมื่อบริโภคเสร็จแล้ว เหลือทิ้งเป็นขยะ วัดจากแดงจึงมีกระบวนการคัดแยกขยะ โดยขั้นแรกคือการชั่งน้ำหนักเพื่อเก็บข้อมูล และนำขยะเศษอาหารและเศษกิ่งไม้ไปทำปุ๋ยต่อไป ในช่วงแรกขยะจำพวกพลาสติกเผาทิ้ง ต่อมาเมื่อปี 2548 มีการประชุมหารือ โดยสรุปนำขยะพลาสติกไปนึ่งเป็นน้ำมัน แต่ไม่คุ้มเนื่องจากเครื่องเล็กและขยะพลาสติกน้อย และต่อมาได้มีโครงการจากภาครัฐและเอกชนเข้ามาช่วย จนสำเร็จเป็นวัดต้นแบบในการจัดการขยะ อีกทั้งทางวัดได้นำธรรมะมาเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในการจัดการขยะอีกด้วย
@'ลดขยะ'-'ลดโลกร้อน' ต้องเริ่มจากต้นทางการผลิต
ดร.ไชยยศ บุญญากิจ รองประธานเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาวะโลกร้อนคือปัญหาที่สะสม เมื่ออุณหภูมิโลกแแม้เพียงเพิ่มขึ้น 1-2 องศา ก็ไม่มีทางที่จะลดลง ฉะนั้นสิ่งที่มนุษย์ควรเตรียมพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงคือ การลดการบริโภค บริโภคหรือใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น จากสถิติที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความสามารถเชิงนิเวศสวนทางกับรอยเท้านิเวศที่วัดจากปริมาณผลผลิต หรือประเทศไทยผลิตมากกว่าการสร้างหรือทดแทน จะเห็นจากสถิติได้ว่าเมื่อประเทศพัฒนามากขึ้น อัตราเชิงนิเวศยิ่งผันผวนมากขึ้น
ดร.ไชยยศ กล่าวอีกว่า โครงการ 'Care the whale' อยู่ในวงจรการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน ในขั้นตอนการจัดการขยะ การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยฉลากสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับการให้ข้อมูลผู้บริโภค อีกทั้งทางผู้ผลิตสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ทำให้เกิดการปรับปรุงด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ส่วน ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวว่า ในประเทศไทย พลังงานคือส่วนสำคัญที่เกี่ยวโยงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึงร้อยละ 69 ในขณะนี้ภาคเอกชนได้มีการตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีการปรับเปรียบในกระบวนผลิตหรือกระบวนการในการดำเนินธุรกิจ การจัดการขยะเป็นหนึ่งในความรับผิดชอบของทุกคน แต่ในต้นทางคือผู้ผลิตนั้น จะทำอย่างไรให้ขยะน้อยลง เช่น การลดการบบรจุภัณฑ์ หรือการออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่สองผลดีทั้งสองด้านทั้งต่อผู้ผลิตที่ลดต้นทุน และกับโลกในด้านสิ่งแวดล้อม ในขณะนี้เป็นการจัดทำโดยความสมัครใจ แต่ในอนาคตอาจจะมีการผลักเป็นการบังคับเชิงกฎหมาย
@โควิดระบาด-ทำขยะพลาสติกเพิ่ม
ขณะที่ภาคเอกชน ผู้ผลิตพสลาติก นายสมศักดิ์ บริสุทธนะกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีบีไอ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ข้อมูลเปรียบเทียบขยะพลาสติกในประเทศไทยจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุว่า ปี 2563 มีอัตราการเพิ่มของปริมาณขยะพลาสติกจาก ปี 2562 เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา แต่สถิติการจัดการขยะพลาสติกปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จะเห็นได้ว่าประเทศไทยมีการตื่นตัวต่อการจัดการขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้น ในอนาคตถ้ามีการจัดขยะพลาสติก นำมารีไซเคิลมากขึ้น ลดปริมาณขยะให้น้อยลง อีกทั้งมีการจัดทำโครงการ อาทิเช่น โครงการ 'Care the whale' ก็จะเป็นความหวังที่จะฟื้นฟูโลกขึ้นมาได้
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ทางบริษัท มีการจัดทำโครงการ 'วน' ใช้แนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการของเสียให้ถูกนำกลับไปเป็นทรัพยากรหมุนเวียนอยู่ในระบบด้วยกระบวนการที่เหมาะสม ผ่านการออกแบบตัวสินค้า และระบบในการจัดเก็บขยะให้เกิดการนำสินค้ากลับมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบ สร้างการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจให้มากที่สุด และเกิดของเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด เช่น การตั้งจุดรับทิ้งขยะพลาสติกและนำกลับมารีไซเคิล เป็นต้น ขณะนี้มีการร่วมมือขยายโครงการกับบริษัท พฤกษา เพื่อเป็นการนำกระบวนการไปปรับใช้กับหมู่บ้านต่อไป
@ฝังกลบขยะเศษอาหารอีกหนึ่งปัจจัยทำโลกร้อน
ทางด้าน ดร.สุทัศน์ รงรอง ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดูอินไทย จำกัด กล่าวถึง จากขยะทั้งหมดที่ทิ้งในประเทศ แบ่งเป็น ขยะรีไซเคิล ร้อยละ 30 เช่น พลาสติก ขยะครัวเรือน ร้อยละ 3 อื่นๆ ร้อยละ 3 และที่มากที่สุด คือ ขยะธรรมชาติ เช่น เศษอาหาร เศษกิ่งไม้ เป็นต้น ร้อยละ 64 โดยคนทั่วไปจดจ่อกับขยะรีไซเคิล แต่ขยะธรรมชาติส่วนใหญ่นำไปทำเป็นปุ๋ยหรือฝังกลบ กระบวนการฝั่งกลบหรือหมักบ่ม ถ้าหากทำได้ไม่ดี จะเกิดก๊าซมีเทนซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยของภาวะโลกร้อน
ดร.สุทัศน์ กล่าวต่อว่า โดยการแก้ปัญหาเศษขยะธรรมชาติที่ไปจบที่ขบวนการฝังกลบ ควรเริ่มตั้งแต่ต้นทาง คือ การลดการผลิต ผลิตให้เหมาะสมกับความต้องการ, นำอาหารที่เหลือไปเป็นประโยชน์ต่อไป เช่น มอบให้แก่คนที่ต้องการ นำไปเป็นอาหารสัตว์, การส่งต่อให้อุตสหกรรมไปใช้ในการผลิต เช่น ผลิตเชื้อเพลิง และต่อมาคือการย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ โดยในปัจจุบันสามารถทำได้ในภาคส่วนของครัวเรือนแล้ว
@ลดขยะ-เปลี่ยนเศษด้าย เศษผ้าเป็นเสื้อใหม่
ส่วนการจัดการขยะของอุตสาหกรรมสิ่งทอ นายจิรโรจน์ พจนาวราพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แสงเจริญแกรนด์ จำกัด และผู้ก่อตั้ง บริษัท วิถี ไทย กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ผลผลิตจากอุสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า ต่างๆ ในกระบวนการผลิตสร้างขยะมากมาย จึงมีการปรับลดขยะโดยการนำผ้าที่เหลือหรือผ้าเก่ามาทำเป็นผ้าใหม่ เช่น ผ้าสีน้ำเงินเก่า มาตัดเย็บให้เป็นเสื้อผ้าสีน้ำเงินใหม่ หรือเศษผ้า เศษด้ายที่เหลือจากการตัดเย็บ นำมาเข้ากระบวนการผลิตใหม่อีกครั้ง เพื่อลดการนำวัตถุดิบใหม่มาใช้ทั้งหมด ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสื่อสารอธิบายทำความเข้าใจกับผู้ค้า กระบวนการทั้งหมดนี้มีต้นทุนค่อนข้างสูงในปัจจุบันและยังไม่เห็นผลกำไร แต่จะส่งผลด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
อ่านประกอบ:
'วราวุธ'ตั้งเป้าไทยเพิ่มพื้นที่ป่าเป็น 40% ภายใน 20 ปี
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage