สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย พบว่า มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 7 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,954 ราย ใน 68 จังหวัด รวมหายป่วย 2,684 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต มีผู้เสียชีวิตสะสม 54 คน
วันที่ 30 เมษายน 2563 เวลา 11.30 น. ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แถลงข่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย พบว่า มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 7 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,954 ราย ใน 68 จังหวัด รวมหายป่วย 2,684 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต มีผู้เสียชีวิตสะสม 54 คน
สำหรับ 7 รายใหม่ เป็นครั้งแรกตรวจเลขไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ สัมผัสจากผู้ป่วยก่อนหน้านี้ ขณะที่ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์ระวังสอบสวนโรค (PUI) รวมทั้งสิ้น 6.2 หมื่นราย ทำให้ ตั้งแต่ 7-30 เมษายน เราสามารถดึงผู้ป่วยอาการน้อยๆ อาการไม่มากมาตรวจหาเชื้อได้เกือบครึ่งของช่วงเวลาที่ผ่านมา นี่คือความพยายามของกระทรวงสาธารณสุขดึงผู้ป่วยที่น่าสงสัย เข้ารับการตรวจหาเชื้อมากขึ้น
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวถึงสถานการณ์ต่างประเทศ พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดกว่า 3 ล้านคน เสียชีวิต 2.2 แสนคน และเสียชีวิตต่อวัน วันเดียวแตะหลักหมื่นคน เราจะเห็นความรุนแรงของโรคทางประเทศตะวันตกมากเหมือนเดิม ส่วนประเทศอินเดีย ตัวเลขสะสมผู้ติดเชื้อกว่า 3.3 หมื่นราย ทิศทางยังสูงอยู่ตลอดเวลา โซนเอเชีย สิงคโปร์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อแซงญี่ปุ่น เกาหลีใต้พบผู้ป่วยติดเชื้อพอๆ กับไทย
โฆษก ศบค. กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันจังหวัดท่องเที่ยว อย่างจังหวัดกระบี่ มีการเปิดศูนย์ตรวจเชื้อโควิด-19 แห่งแรก โดยสามารถทราบผลภายใน 4 ชั่วโมง สิ่งเหล่านี้ทำให้ระบบสาธารณสุขสามารถตรวจหาเชื้อรายใหม่ๆ ได้เร็ว
ศบค.เล็งออกมาตรฐานกลาง
สำหรับการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงแรก สิ้นสุดวันที่ 30 เม.ย. และมีต่ออายุถึง 31 พ.ค. โฆษก ศบค. กล่าวว่า การตรึงพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังคงเคอร์ฟิวเวลาเดิม การเดินทางเข้าออกประเทศทั้งทางบกและทางอากาศ ให้มีสถานกักกันที่รัฐจัดให้ ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมา เราตรวจพบติดเชื้อกว่า 80 กว่าคน หากไม่ให้อยู่สถานที่กักกันจะกระจายสู่สังคมและติดเชื้อร่วมหมื่นคน และยังคงมีการจำกัดการบินสายการบินระหว่างประเทศ ให้เฉพาะสายการบินบางประเภทเท่านั้นขอให้ชะลอการเดินทางข้ามจังหวัดโดยไม่จำเป็น ยังคงแนวทางทำงานที่บ้านให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 และไม่ให้ประชาชนเข้าไปสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก หรือสถานที่เสี่ยงแพร่ระบาดของโรค
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวถึงมาตรการผ่อนปรน โดยศบค.จะกำหนดให้มีมาตรฐานกลาง ของแต่ละกิจการและกิจกรรม ให้ผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดกำหนดรายละเอียดต่อไป การปฏิบัติแต่ละพื้นที่สามารถมีความเข้มข้นกว่าได้ แต่น้อยกว่ามาตรฐานกลางไม่ได้ คำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก สังคม เศรษฐกิจตามมา
" มาตรการผ่อนปรน 6 กลุ่มกิจกรรมและกิจการ เช่น 1.ตลาด 2.ร้านจำหน่ายอาหาร 3.กิจการค้าปลีก ส่ง 4.กีฬา สันทนาการ 5.ร้านตัดผม เสริมสวย 6.อื่นๆ เริ่มวันที่ 3 พ.ค." โฆษก ศบค. กล่าว และว่า มาตรการเสริม จะต้องใช้เวลาในการลงรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ผู้รับบริการ ผู้ให้บริการไม่ได้รับความเสี่ยง มาตรการออกมาทั้งหมดเพื่อคุ้มครองทั้งสองฝ่าย
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า 14 วันหลังจากนี้ รัฐบาลจะติดตามและประเมินผลตลอดเวลา หากมีผู้ติดเชื้อคงที่แสดงว่า ประชาชนให้ความร่วมมืออย่างดี เราก็สามารถเลื่อนในกิจกรรมอื่นๆที่มีความผ่อนคลายมากกว่านี้ แต่หากตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 2 หลัก 3 หลัก เราคงต้องยอมรับ และถอยหลังกลับมา ทบทวนมาตรการผ่อนปรนใหม่ทั้งหมด
"เราแบ่งมาตรการผ่อนปรนออกเป็น 4 ระยะ หรือประมาณ 2 เดือน โดยแต่ละช่วงมีระยะเวลา 14 วัน คือระยะของโรค"
ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวตอบคำถามถึงการห้ามขายเหล้า ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ว่าราชการจังหวัด และผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ออกข้อกำหนดห้ามจำหน่ายถึงวันที่ 30 เมษายน ซึ่งวันนี้ยังไม่มีคำสั่งเปลี่ยนแปลง หมายความว่า ยังคงห้ามขายเหล้าต่อไปถึงวันที่ 31 พฤษภาคม ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2563 (ฉบับที่ 4)
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากการคาดการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ พบตัวเลขต่ำมาหลายวันแล้ว อีกทั้งมีผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลก็ลดลง รวมถึงมีมาตรการควบคุมผู้เดินทางจากต่างประเทศ ฉะนั้นการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เชื่อว่า สามารถดำเนินการได้ดี ขอให้ประชาชนยังคงรักษาระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัย ภาคเอกชนขอให้พยายามทำงานที่บ้าน หลีกเลี่ยงไปในพื้นที่ชุมชน
"เชื่อว่า ตัวเลขผู้ป่วยจากนี้จะเพิ่มไม่เกิน 20-30 คน ก่อนรัฐจะออกมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 และ 3 ต่อไป"
นพ.สุขุม กล่าวอีกว่า สำหรับหาบเร่ แผงลอย รวมถึงร้านค้าริมทางเท้า สามารถกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ แต่ทำได้แค่จำหน่ายให้ซื้อกลับไปกินที่บ้านเท่านั้น โดยสรุปแล้วร้านอาหารที่จะกลับมาเปิดให้บริการนั่งกินที่ร้านได้ จะมีแค่เฉพาะ ร้านที่อยู่ในอาคารไม่เกิน 1-2 คูหาเท่านั้น
“แม้ว่าจะให้ร้านอาหารไม่เกิน 2 คูหากลับมาเปิดให้บริการนั่งกินได้ก็ตามปกติ แต่ยังคงต้องปฏิบัติตามมาตรฐานสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เช่น นั่งกินได้โต๊ะละ 1 คน แต่ละโต๊ะวันละระยะห่าง 1 เมตร คาดว่าจะมีประกาศในรายละเอียดต่อไป”
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า การผ่อนปรนทั้งหมดจะมี 4 ระยะ โดยในระยะแรกจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.เป็นต้นไป ส่วนการพิจารณาเปิดในระยะที่ 2 หรือ 3 จะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อ ในช่วง 14 วันที่มีการผ่อนปรน ตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะที่กิจการแและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงที่จะทำให้คนมีโอกาสสัมผัสกัน เช่น คอนเสิร์ต สนามมวย หรือสนามฟุตบอล จะเป็นสิ่งที่เปิดในระยะสุดท้าย
“กิจการและกิจกรรมในระยะที่ 2 และ 3 เป็นประเภทกิจกรรรมที่ต้องทำในระบบปิด เช่นในห้างสรรพสินค้า หรือร้านอาหารขนาดใหญ่ ซึ่งในระยะต่อไป นอกจากจะต้องทำตามเกณฑ์มาตรฐานกลาง ต้องมีการขออนุญาติท้องถิ่นหรือส่วนราชการในการเปิดกิจการ ที่จะมีการติดป้ายว่าเป็นร้านค้าปลอดภัย รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้กับผู้ที่เข้าไปใช้บริการด้วย”
ส่วน นายกลินท์ สารสิน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หาบเร่ แผงลอย จะกลับมาเปิดให้บริการได้ทั้งหมด รวมถึงร้านเสื้อผ้าด้วย แต่ทุกคนยังต้องทิ้งระยะห่างต่อกัน สวมหน้ากากอนามัยในการซื้อขายเช่นเคย ส่วนร้านอาหารที่มีเครื่องปรับอากาศ ยังขอความร่วมมือให้ไม่เปิดใช้ และเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศแทน
“คำจำกัดความของร้านอาหารที่เปิดบริการได้แล้ว คือร้านอาหารที่มีขนาดไม่เกิน 2 คูหา และอย่าเพิ่งเปิดแอร์ ขอให้เปิดหน้าต่างระบายอากาศหรือใช้เครื่องดูดอากาศหน่อยก็จะเป็นประโยชน์ ส่วนคนในครอบครัวเดียวกัน ระยะแรกยังนั่งกินโต๊ะเดียวกันไม่ได้ ถ้าเป็นไปได้ขอให้ทุกคนซื้อกลับไปกินที่บ้านก่อนจะดีกว่า”