กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันบำราศนราดูร ร่วมกันพัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ในน้ำลาย ระบุ ได้ผลแม่นยำ มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับวิธีการตรวจจากสารคัดหลั่งหลังจากจมูกและคอหรือวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรม แถมยังราคาถูก เก็บตัวอย่างง่าย ทำได้ด้วยตัวเอง บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัยมากขึ้น ไม่ต้องใช้ชุดป้องกัน PPE
วันที่ 24 เมษายน 2563 ที่สถาบันบำราศนราดูร จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และนายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันบำราศนราดูร ร่วมกันแถลงข่าว การตรวจเชื้อโควิด 19 ในน้ำลาย ว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันบำราศนราดูร ได้ร่วมกันพัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อโควิด 19 ในน้ำลาย ซึ่งวิธีการตรวจดังกล่าวโรงพยาบาลรามาธิบดีได้ทำการวิจัยพบว่าได้ผลแม่นยำ มีประสิทธิภาพใกล้เคียงกับวิธีการตรวจจากสารคัดหลั่งหลังจากจมูกและคอหรือวิธีการตรวจหาสารพันธุกรรม (RT-PCR) ซึ่งวิธีการตรวจหาเชื้อในน้ำลายนี้ได้รับการยอมรับในหลายประเทศ
ส่วนข้อดีของตรวจหาเชื้อโควิด 19 ในน้ำลาย คือ ราคาถูก เก็บตัวอย่างง่ายกว่า สามารถเก็บได้ด้วยตัวเอง ทำให้บุคลากรปลอดภัยมากขึ้น ไม่ต้องใช้หรือลดการใช้ชุดป้องกัน PPE
กระทรวงสาธารณสุขใช้การตรวจหาเชื้อโควิด 19 ในน้ำลาย ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก และการค้นหาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการในชุมชน ทำให้ค้นหาผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว นำเข้าสู่ระบบการรักษา ป้องกันการแพร่ระบาดของโรค สามารถเริ่มดำเนินการได้ทันทีทุกพื้นที่ที่มีการระบาด ชุมชนแออัด หรือจุดเข้า-ออกของประเทศ ส่วนผู้เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคหรือ PUI คือ มีไข้ มีอาการระบบทางเดินหายใจที่มาตรวจรักษาในสถานพยาบาล จะใช้วิธีเก็บสิ่งส่งตรวจจากสารคัดหลั่งหลังจมูกและคอเป็นหลัก
สำหรับวิธีการเก็บน้ำลาย สามารถนำกระป๋องไปเก็บเองได้ที่บ้าน โดยต้องล้างมือให้สะอาด เทอาหารสำหรับเก็บตัวอย่างไวรัสลงในกระป๋องเก็บน้ำลาย ขากน้ำลายที่อยู่ในลำคอส่วนลึกเหมือนขากเสมหะปิดฝากระป๋องพันด้วยพาราฟิลม์และใส่ถุงซิปล๊อค 3 ชั้น และนำส่งห้องปฏิบัติการภายใน 5 ชั่วโมง ทั้งนี้ จะต้องไม่แปรงฟัน ใช้น้ำยาบ้วนปาก ดื่มน้ำ หรือเคี้ยวหมากฝรั่งก่อนเก็บน้ำลาย