นายกฯ ลั่นไม่พอใจหลังประกาศเคอร์ฟิว ยังพบผู้ฝ่าฝืน เตือนให้แก้ไขพฤติกรรม ย้ำชัดยังไม่มีแนวคิดขยายเวลา ห้ามออกนอกเคหสถาน พร้อมออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ให้ยกเว้นบางกลุ่มออกนอกเคหสถานช่วงเคอร์ฟิว 22.00-04.00 น.ได้
วันที่ 10 เมษายน เวลา 18.00 น. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรี ในฐานะประธานการประชุมศูนย์ โควิด-19 แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงความคืบหน้ามาตรการต่างๆ ในสถานการณ์ COVID-19 ดังนี้
มาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข มาตรการลดการแพร่กระจายเชื้อด้วยการเว้นระยะห่างทางสังคม การทำงานที่บ้าน กลไกการทำงานที่ขันแข็งของอสม.กว่า 1 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นมดงานทำงานแบบเดลิเวอรี่ หยิบยื่นสุขภาพดีถึงหน้าประตูบ้านทุกครัวเรือน เน้นผู้กักตัวและเฝ้าระวังเชื้อ เป็นระบบสาธารณสุขพื้นที่ที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย ขอบคุณอสม.ทุกคน
สำหรับหน้าการจัดหาหน้ากากอนามัย N95 เพิ่มอีก 2 แสนชิ้น และสามารถอบความร้อน นำกลับมาใช้ซ้ำได้ถึง 4 ครั้ง ส่วนโควต้าหน้ากากอนามัยสำหรับหมอและพยาบาลทั่วประเทศ อยู่ที่ 1.5 ล้านชิ้นต่อวัน หน้ากากผ้าสำหรับประชาชน แต่ละชุมชนผลิตและแจกจ่ายกันเอง ครบตามเป้าหมายกว่า 50 ล้านชิ้น
การนำเข้าฟาวิพิราเวียร์จากประเทศจีนและญี่ปุ่น ดำเนินการไปแล้ว 5 ครั้ง รวม 1.8 แสนเม็ด อยู่ระหว่างการจัดหาเพิ่มเติมอีก 2 แสนเม็ด รวมถึงการเตรียมเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วย 98 แห่ง ในกทม.และปริมณฑล หาห้องไอซียู เพิ่มอีก 80 เตียงเพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต ความพร้อมสถานที่กักตัว อีก 2 หมื่นคน และเน้นประเด็นการป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องติดเชื้อเพิ่มอีก
การป้องกันและการช่วยเหลือประชาชน ความมั่นคง การจำกัดการเดินทางระหว่างจังหวัด การประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศเป็นเวลา 6 ชั่วโมง ศบค.จัดให้มีกำลังพล 2 หมื่นนาย จุดตรวจกว่า 1 พันแห่ง พี่น้องประชาชนให้ความร่วมมือดีขึ้น แต่ก็ยังมีผู้ฝ่าฝืน มีการมั่วสุมกว่า 6,500 ราย ถือเป็นตัวเลขที่ไม่น่าพอใจนัก เป็นตัวเลขที่สูงเกินไป ในแง่การจำกัดการแพร่ระบาดของโรค ประชาชนส่วนหนึ่งต้องการให้ใช้กฎหมายเพิ่ม ให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น ประกาศเวลาเคอร์ฟิวมากยิ่งขึ้น
"บุคคลที่ขาดจิตสำนึกเหล่านี้ รวมทั้งขาดความรับผิดชอบ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ คนหาเช้ากินค่ำต้องลำบากในช่วงเวลานี้ ผมขอเตือนให้แก้ไขพฤติกรรมตนเอง ศบค.ยังไม่มีแนวคิดขยายเวลาเพิ่มเติม หรือเพิ่มการออกนอกเคหสถาน"
จากนั้น นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการควบคุมสินค้า มีสถิติการร้องเรียนการขายสินค้าราคาแพง การกักตุนสินค้า มีการจับกุมและดำเนินคดี รวมถึงการกระทำความผิดหน้ากากอนามัยและเวชภัณฑ์ เจลแอลกอลฮอล์ ชุดตรวจโควิด-19 ชุดวัดอุณหภูมิ รวมมูลค่า 177 ล้านบาท
นายกรัฐมตรี กล่าวถึงมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ยึดหลักการสำคัญ วันนี้เราต้องรอด วันหน้าเราต้องกลับมาเข้มแข็ง ออกมาตรการระยะ 1 ระยะ 2 ดูแลประชาชนทุกกลุ่ม และล่าสุดออกมาตรการเพิ่มเติมระยะที่ 3 รวม 1.9 แสนล้านบาท หรือร้อยละ 10 ของจีดีพี ประกอบด้วย
1.การออกพระราชกำหนดให้กระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาวงเงิน 1 ล้านล้านบาท แผนงานด้านสธ.แผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง และแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม
2.การออกพระราชกำหนดช่วยเหลือทางการเงิน แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รากฐานเศรษฐกิจของประเทศ วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ประกอบการ รวมถึงการพักชำระหนี้เงินต้น และดอกเบี้ย 6 เดือน ปรับโครงสร้างหนี้ให้ชำระหนี้ได้ตามกำหนด เอสเอ็มอีเข้าข่าย 1.7 ล้านราย
3. การออกพระราชกำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย สนับสนุนสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ป้องกันไม่ให้เกิดการขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ
4.การเตรียมยกร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณ เพื่อนำมาใช้แก้ไขและเยียวยาโควิด และสถานการณ์ภัยแล้ง รัฐบาลคาดว่าจะเร่งเสนอกฎหมายโดยเร็ว และทูลเกล้าฯ ได้ไม่เกินกลางเดือนมิถุนายน
5.5. คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการ การเพิ่มบุคลากรแพทย์ พยาบาล และข้าราชการของกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลของสถาบันอุดมศึกษา ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กว่า 45,000 อัตรา ทั้งในส่วนของอัตราข้าราชการตั้งใหม่ จำนวนกว่า 38,000 อัตรา และอัตราข้าราชการตั้งใหม่ สำหรับนักเรียนแพทย์ ปี 2563 จำนวนกว่า 7,000 อัตรา โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) พิจารณารายละเอียดให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ นอกจากนั้น รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการแพทย์แผนไทย โดยจะได้มีการพิจารณาดูแลด้วยการปรับเกลี่ยในระยะแรกจากอัตราที่ว่างอยู่ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะได้ดำเนินการและชี้แจงให้ทราบในโอกาสต่อไป
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ การเพิ่มจำนวนหน่วยใช้ไฟฟ้า “ฟรี” จาก 50 หน่วยต่อเดือน เป็น 90 หน่วยต่อเดือน สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพี่น้องประชาชน ซึ่งคาดว่าประชาชนได้รับผลประโยชน์ 6.4 ล้านราย การชดเชยการว่างงาน จากสถานการณ์การติดเชื้อโควิด เช่น การว่างงานจากการให้ปิดเมือง การประกาศเคอร์ฟิว การให้หยุดประกอบกิจการ
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงด้านการต่างประเทศ ที่เน้นการกักกันผู้เดินทางเข้ามาในประเทศนั้น โดยมีมาตรการชะลอการเดินทางกลับของคนไทยถึงวันที่ 18 เมษายน เพราะจากสถิติพบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จากผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศ รัฐบาลกำลังหามาตรการเยียวยา ในรูปแบบเงินช่วยเหลือลดค่าใช้จ่าย เป็นต้น
"นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2563 เป็นเวลา เกือบ 100 วัน เราต่อสู้สงครามโควิด-19 มาด้วยกัน การเตรียมความพร้อม ความเข้มงวดตั้งแต่เต้น ความเข้มแข็งระบบสาธารณสุขไทยทำให้เรามียอดผู้ป่วยในระดับที่ควบคุมได้ มีอัตราการเสียชีวิตต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศชั้นนำ เป็นข้อพิสูจน์ไทยมีประสิทธิภาพรับมือโควิด 19 ขอให้พวกเราทุกคนจงภูมิใจ เชื่อมั่น มีวินัย ผมขอสัญญา เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ขอให้พวกเราสู้ไปด้วยกัน หากเราเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว ไม่มีศึกใดที่เราเอาชนะไม่ได้ ขอให้พวกเราสู้ไปด้วยกัน"
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี ได้อวยพรเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ไทย ที่จะมาถึงในเร็ววันนี้ ขอให้พี่น้องประชาชนทุกคนมีความสุข สุขภาพแข็งแรง มีกำลังใจร่วมต่อสู้วิกฤตินี้ไปด้วยกัน และขอให้สงกรานต์นี้ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อครอบครัว กันให้มากที่สุด เราจะร่วมกันฝ่าฟันวิกฤติในครั้งนี้ให้จงได้ “ประเทศไทยจะต้องชนะ” อย่างแน่นอน
จากนั้น นายกรัฐมนตรี ลงนามในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ยกเว้นบางกลุ่มออกนอกเคหสถานช่วงเคอร์ฟิว 22.00-04.00 น.ได้ อาทิ ผู้เข้าออกเวรยาม กะ หรือการทำงานตามเวลาที่กำหนดไว้ตามปกติ การดูแลรักษาความปลอดภัย ผู้ประกอบอาชีพประมง กรีดยาง ตรวจรักษาสัตว์ เป็นต้น
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage