โฆษก ศบค. แถลง การติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) สะสมของประเทศไทยอยู่ที่ 1,771 ราย รายใหม่ 120 ราย และเสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย เป็นเพศชายอายุ 79 ปี อาศัยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีประวัติเป็นโรคเรื้อรัง และไปประเทศมาเลเซีย และนักธุรกิจอายุ 58 ปี กลับมาจากประเทศอังกฤษ
วันที่ 1 เมษายน ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “COVID-19” ณ ทำเนียบรัฐบาล นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของโลกและประเทศไทยว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก อยู่ที่ 8.5 แสนคน มีอาการหนักจำนวน 3.2 หมื่นคน หายป่วย 1.7 แสนคน เสียชีวิต 4.2 หมื่นราย
ลำดับประเทศสหรัฐอเมริกายังมียอดผู้ติดเชื้อไวรัสฯ มากที่สุด รวม 1.8 แสนคน เพิ่มขึ้นวันเดียวกว่า 2 หมื่นคน รองลงมา คือ อิตาลี สเปน ฝรั่งเศส
ส่วนตัวเลขการติดเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด -19) สะสมของประเทศไทยอยู่ที่ 1,771 ราย รายใหม่ 120 ราย และเสียชีวิตเพิ่มอีก 2 ราย (รวมเสียชีวิตสะสม 12 ราย) เป็นเพศชายอายุ 79 ปี อาศัยใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีประวัติเป็นโรคเรื้อรัง และเดินทางไปประเทศมาเลเซีย และนักธุรกิจอายุ 58 ปี กลับมาจากประเทศอังกฤษ
นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวถึงผู้ป่วยสะสม กราฟยังพุ่งทะแยงขึ้น ผู้ป่วยรายใหม่ 120 ราย แม้จะดีขึ้น แต่ยังไม่น่าพึงพอใจ ผู้ป่วยรายใหม่ แบ่งเป็น กลุ่มประวัติผู้ป่วยสนามมวย สถานบันเทิง และงานบุญประเทศข้างเคียง กลุ่มที่สอง คนไทยที่กลับจากประเทศ
สำหรับการวิเคราะห์ผู้ป่วยรายใหม่ 3-4 วันนี้ พบยังกระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพ และปริมณฑล ดังนั้นการเดินทางในกรุงเทพ และปริมณฑล จึงเป็นความเสี่ยงทั้งสิ้น เพราะสามารถแพร่เชื้อไปได้ถึง 3 คน
"มาตรการ การอยู่บ้าน แต่จำนวนการติดเชื้อในบ้านไม่ลดลง ตัวเลขช่วงปลายเดือนเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับตอนต้นเดือนมีนาคม หากไม่เพิ่มระยะห่างของบุคคลภายในบ้าน ตัวเลขการติดเชื้อก็จะไม่ลดลง" โฆษก ศบค. กล่าว และว่า การเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ การกักกันตัวก็พบว่า ยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร การปิดสถานที่ชุมชน สถานบันเทิง ทั้งหลาย ดูจำนวนผู้ติดเชื้อแล้ว พบว่า มาตรการนี้ต้องเข้มข้นขึ้น
โฆษก ศบค. กล่าวถึงไทม์ไลน์โควิด-19 ตลอดเดือนมีนาคม ถือว่าประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติ หากไม่ทำแบบนี้ คนไทยไม่ร่วมมือ ผู้ป่วยติดเชื้อจะกระจายไปทั่วประเทศ เห็นได้จาก หลัง 14 มีนาคม และ 21 และ 27 มีนาคม และ 31 มีนาคม พบผู้ป่วยติดเชื้อกระจายทั่วประเทศหมดแล้ว
"ีรัฐมีเป้าหมายคนไทยที่ร่วมมือมากกว่า 90% หากคนไทยยังร่วมมือกันเป็นส่วนน้อย การต่อสู้กับโรคนี้ไม่มีทางสำเร็จ"
พล.ต.ท. ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวเสริมถึงกรณียังพบมีประชาชนไม่ปฏิบัติตามที่รัฐประกาศ มีกรณีตัวอย่างเป็นการขอความร่วมมือแต่ยังฝ่าฝืน เช่น การไปตั้งวงสนุกสนาน มั่วสุม จัดปาร์ตี้ยาอี ถือว่า กระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ผิดพ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยังมีกักตุนแอลอฮอล์ หน้ากาก ซึ่งโทษแรงจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท
"มีกรณีไปกระทำการเหมือนดูเล็กน้อย แต่สร้างความตื่นตระหนก เช่น การเอาน้ำลายไปป้ายรถไฟฟ้า ที่ผ่านมาศาลสั่งลงโทษทันที 15 วัน เรายังพบมีการไปแอบเล่นการพนันในสวนในป่า ถือเป็นการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.การพนันฯ และผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ดังนั้นขอพี่น้องประชาชนอย่าฝ่าฝืน เพราะนายกฯ ได้กำชับบังคับใช้กฎหมายจริงจัง ลงโทษสถานหนัก ไม่รอลงอาญา"