เทวัญ แจงเหตุปิดศูนย์กักตัว บุคคลเฝ้าระวัง ทำตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก ให้เก็บตัวที่บ้าน โฆษกสธ.ระบุทำตามมาตรฐาน มีการแยกบุคคลที่เสี่ยงสูง หรือเสี่ยงน้อย หากเสี่ยงสูงไม่มีถิ่นที่อยู่ มีพฤติกรรมไม่ร่วมมือ ศูนย์ใหญ่ๆ ยังคงอยู่ ขณะที่ศูนย์ระดับจังหวัดดำเนินการโดยคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด การแยกตัวอยู่ที่บ้าน พบสามารถทำได้ดีกว่าในหลายๆ ประเทศ
วันที่ 11 มีนาคม ณ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวตอนหนึ่ง โดยตอบคำถามถึงการยกเลิกศูนย์กักกักในภูมิภาคต่างๆ ว่า การปิดศูนย์เก็บตัวบุคคลเข้าข่ายเฝ้าระวัง และให้กลับไปเก็บตัวในภูมิลำเนาของแต่ละคนนั้น ส่วนราชการ ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. แพทย์ประจำตำบลเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด รวมถึงให้ความรู้ประชาชนรอบๆ ข้าง ว่า ผู้มาเก็บตัวคือผู้เฝ้าระวังเท่านั้น ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19
"วิธีนี้ ถือเป็นมาตรฐานของทุกประเทศ ใช้วิธีนี้ คือ เฝ้าระวังที่บ้าน แต่ต้องให้ความรู้ญาติพี่น้อง ให้ระมัดระวังตัวเอง ล้างมือบ่อยๆ ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข"
ด้านนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเสริมถึงการกักตัวที่บ้าน ว่า เป็นมาตรฐานทางวิชาการขององค์การอนามัยโลก โดยการแยกบุคคลที่เสี่ยงสูง หรือเสี่ยงน้อย หากเสี่ยงสูงไม่มีถิ่นที่อยู่ มีพฤติกรรมไม่ร่วมมือ ศูนย์ใหญ่ๆ ยังคงอยู่ ขณะที่ศูนย์ระดับจังหวัดดำเนินการโดยคณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัด การแยกตัวอยู่ที่บ้าน สามารถทำได้ดีกว่าในหลายๆ ประเทศ และองค์การอนามัยโลกก็ยอมรับ
"การกักตัวที่บ้าน สำหรับบุคคลเฝ้าระวัง เราจะดูท่านอยู่ในที่ที่เหมาะสมหรือไม่ ไม่ออกมาชุมชนหนาแน่น พร้อมแนะนำพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่นการล้างมือ แยกสำรับอาหาร อีกทั้งเรามีเทคโนโลยีในการติดตามพฤติกรรม และหากไม่สบายให้แจ้งทางการเราจะเข้าไปดูแล หากไม่ทำตามจะมีความผิดทั้งจำและปรับ"
โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ยังกล่าวถึงการเดินทางกลับประเทศ แล้วไม่พบการตรวจคัดกรองตามด่านต่างๆ นั้นว่า ด่าน 68 แห่งทั่วประเทศ ปฏิบัติงานร่วมกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง เวลาเราแยกกลุ่มเสี่ยง 4 ประเทศ จะมีหลุมจอดโดยเฉพาะ ระบบทั่วไปมีการตรวจบนเครื่อง และระบบซีซีทีวีกระจายอยู่ เมื่อเจ้าหน้าที่มอนิเตอร์พบจะแจ้งตำรวจตำรวจคนเข้าเมืองทันที ดังนั้น หากตั้งด่านกับบุคคลไม่เสี่ยงมาก จะทำให้เกิดความล่าช้า จึงจัดลำดับกลุ่มที่ทำอย่างเข้มข้น อย่างน้อยมี 3 ขั้นตอน ในสนามบิน
จากนั้น พล.ต.ท. ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงถึงสถานการณ์ปัจจุบัน อาจเป็นช่องทางให้บุคคล กลุ่มบุคคล ผู้ประกอบการบางราย รวมถึงมิจฉาชีพฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สร้างความเดือดร้อนหรือความวุ่นวาย ตื่นตระหนกให้แก่ประชาชนและสังคมได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้สั่งการให้ติดตามอย่างใกล้ชิด กำหนดมาตรการสำคัญเร่งด่วนเพื่อทุกหน่วยงานร่วมปฏิบัติทั้งปราบปรามและจับกุมผู้กระทำความผิด จับกุมผู้ที่จำหน่ายหน้ากากอนามัยโดยผิดกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การจับกุมผู้ที่โพสต์หรือส่งต่อข่าวปลอม (Fake News) สร้างความตระหนกให้แก่ประชาชนและสังคม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งเพิ่มความเข้มในการคัดกรองผู้ที่เดินทางจากนอกราชอาณาจักรโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดในทุกช่องทาง ทั้งเตรียมความพร้อมดูแลอำนวยความสะดวกในการรับตัวคนไทยที่จะเดินทางกลับประเทศ โดยบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงาน
พล.ต.ท. ปิยะ กล่าวถึงการซื้อสินค้าออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้าว่า ขอให้ผู้ซื้อเตรียมหลักฐาน รายละเอียด ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อซื้อขาย แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ทั้งนี้ หากประชาชนพบเบาะแสการกระทำผิดดังกล่าวต่าง ๆ สามารถแจ้งมายังหมายเลขโทรศัพท์ 1111, 191, 1599 หรือสถานีตำรวจได้ในทุกพื้นที่
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังและโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงถึงประเด็นมาตรการฟื้นฟู เยียวยาด้านเศรษฐกิจว่า ผลจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง และการค้าขายที่ซบเซา กระทบไปถึงภาคการผลิต อุตสาหกรรมของไทยที่มีประเทศจีนเป็นคู่ค้า ทั้งการนำเข้า และส่งออก ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้มีมาตรการเยียวยาและบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจในระยะที่ 1 ที่มุ่งเน้นลดภาระค่าใช้จ่ายแก่ผู้ประกอบการ เสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ ทั้งหมด 14 มาตรการด้วยกัน ส่วนแรก คือ การปรับโครงสร้างหนี้ทั้งผู้ประกอบการและประชาชน เช่น หนี้บัตรเครดิต มีแนวทางเปลี่ยนหนี้บัตรเครดิตให้มีระยะเวลายาวนานขึ้นและดอกเบี้ยต่ำลงกับทางธนาคารออมสิน ยืดระยะเวลาผ่อนชำระ ต่อมา คือ การลดภาระค่าไฟของประชาชน โดยกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทยออกมาตรการ 3 ด้าน ได้แก่ การคืนค่าประกันการใช้ไฟบางส่วน การลดค่าไฟในรอบบิลเดือนเมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน และ ยืดระยะเวลาการผ่อนชำระค่าไฟ รวมถึงการลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน เหลือ 4% ในช่วงระยะเวลา 6 เดือนนี้
นอกจากนี้ รัฐบาลยังเตรียมเงิน 2 หมื่นล้านบาทเพื่อป้องกัน เยียวยา และสร้างแรงจูงใจ ในการแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่อยู่นอกเหนือจาก 14 มาตรการ เช่น การเยียวยาผู้ถูกเลิกจ้าง การจัดหาอุปกรณ์ฆ่าเชื้อโรค เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเสนอแนวทางในการช่วยเหลือและรัฐบาลจะคอยออกมาตรการในการช่วยเหลือ เยียวยา ประชาชนให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่องต่อไป