กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยผลตรวจสารเคมี 'พาราควอต' ในผัก 128 ตัวอย่าง พบร้อยละ 26.6 เกินมาตรฐานร้อยละ 6.3 ชนิดผักที่เกินมาตรฐาน ได้แก่ คะน้า กะหล่ำ ผักหวาน ถั่วฝักยาว พริกขี้หนู ส่วนผลไม้สด 40 ตัวอย่าง พบตกค้างร้อยละ 12.5 เกินมาตรฐานร้อยละ 5 ผลไม้ที่ตรวจพบ คือ ส้ม
เมื่อเร็วๆ นี้ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตรวจเฝ้าระวังสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเป็นประจำทุกปี ด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2550 ได้มีการเฝ้าระวังสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ประเภทสารกำจัดแมลง โดยสุ่มเก็บตัวอย่างผักผลไม้ ผักพื้นบ้าน จาก 5 ภูมิภาค 10 จังหวัด และผลการตรวจวิเคราะห์อ้างอิงเกณฑ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้างและมาตรฐานสากล (CODEX)
ผลการตรวจวิเคราะห์ในสารเคมี 3 ชนิด คือ สารไกลโฟเสต สารคลอร์ไพรีฟอส และสารพาราควอต ได้ผลดังนี้
- สารคลอร์ไพรีฟอส มีการตรวจในผักผลไม้ 240 ตัวอย่าง เก็บจากตลาดสด 10 ตลาดจากจังหวัดราชบุรี ปทุมธานี ระยอง ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา ตรัง เชียงใหม่ พิษณุโลก ผลการตรวจผัก 160 ตัวอย่าง ตรวจพบสารตกค้างร้อยละ 16.9 เกินมาตรฐานร้อยละ 13.8 ชนิดผักที่เกินมาตรฐาน ได้แก่ ใบบัวบก ผักชี/ผักชีฝรั่ง ถัวฝักยาว มะเขือยาว/มะเขือเปราะ สะระแหน่ ผักแพรวและคะน้า ส่วนผลไม้ 80 ตัวอย่าง พบการตกค้างร้อยละ 6.2
- สารไกลโฟเสต จากมีกระแสข่าวการใช้สารไกลโฟเสตในนาข้าว ซึ่งอาจพบการตกค้าง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้สุ่มตัวอย่างน้ำจากแหล่งเพาะปลูกนาข้าว สวนผัก จำนวน 10 ตัวอย่าง ตรวจพบ 1 ตัวอย่าง ซึ่งเป็นน้ำจากนาข้าว ปริมาณที่พบ 2.8 ไมโครกรัมต่อลิตรที่จังหวัดราชบุรี
และสารพาราควอต เก็บตัวอย่างผักและผลไม้สดจาก 8 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น สงขลา ตรัง เชียงใหม่ พิษณุโลก ผลการตรวจผัก 128 ตัวอย่าง ตรวจพบร้อยละ 26.6 เกินมาตรฐานร้อยละ 6.3 ชนิดผักที่เกินมาตรฐาน ได้แก่ คะน้า กะหล่ำ ผักหวาน ถั่วฝักยาว พริกขี้หนู ส่วนผลไม้สด 40 ตัวอย่าง พบการตกค้างร้อยละ 12.5 เกินมาตรฐานคิดเป็นร้อยละ 5 ผลไม้ที่ตรวจพบได้แก่ ส้ม
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ เครือข่ายหลายแห่งเพื่อเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในอาหาร และ Thai-PAN ได้ประสานงานกันในเรื่องเฝ้าระวังสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในผักและผลไม้สดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมากรมและ Thai-PAN มีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันในการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ โดยห้องปฏิบัติการที่ Thai-PAN ส่งตัวอย่างตรวจเป็นห้องปฏิบัติการที่ตั้งอยู่ในประเทศอังกฤษ ชื่อบริษัท Concept Life Sciences ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจาก United Kingdom Accreditation Service : UKAS เป็นหน่วยรับรองระบบงานห้องปฏิบัติการของสหราชอาณาจักร(อังกฤษ) มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับจากหน่วยรับรองระดับสากลระหว่างประเทศ ILAC (International Laboratory Accreditation Cooperation) เช่นเดียวกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์” นายแพทย์โอภาส กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/