การที่รัฐบาลหรือกระทรวงสาธารณสุขละเลยไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด อาจจะส่งผลเสียอย่างมากต่อสังคมและประชาชน ทำให้มีการใช้กัญชาในกลุ่มเด็ก เยาวชนและประชาชนเพิ่มขึ้น จนส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ทำให้เกิดอาชญากรรม ปัญหาสังคม หรือเกิดการผูกขาดธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาของกลุ่มผลประโยชน์หรือนักการเมืองบางกลุ่ม
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : นายไพศาล ลิ้มสถิต กรรมการบริหารศูนย์กฎหมาย สุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขียนบทความเรื่อง ‘จุดอ่อนของร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ... ฉบับภูมิใจไทย’ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... ที่เสนอโดย พรรคภูมิใจไทย มีเนื้อหาน่าสนใจ แต่เมื่อพิเคราะห์เนื้อหาแล้วพบว่า ยังขาดความชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ และอาจส่งผลเสียต่อประชาชนมากกว่าผลดี
คำถามหลายข้อที่ยังคาใจประชาชนคือ ‘กัญชา’ ยังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามกฎหมายยาเสพติดอยู่หรือไม่ ประชาชนสามารถปลูกกัญชาได้เมื่อใด ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. .... ของพรรคภูมิใจไทยจะส่งผลเสียทำให้มีการใช้กัญชาอย่างไม่เหมาะสม จนเกิดผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างหรือไม่
ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 9 ธ.ค.2564 ซึ่งแม้ว่าจะมิได้ระบุว่ากัญชาเป็นยาเสพติด แต่กัญชาก็ยังมีสถานะเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขอยู่ เนื่องจาก ‘ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565’ ยังไม่มีผลบังคับใช้ ต้องรอเวลา 120 วันนับแต่วันที่ 9 ก.พ.2565 หรือราวต้นเดือน มิ.ย.2565
ฉะนั้น การปลูกกัญชาจึงยังเป็นความผิด หรือกรณีที่ผู้ป่วยนำกัญชามาใช้รักษาโรคหรือใช้ตามวิถีชีวิตโดยมิได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ยังมีความผิดอยู่ ผู้ป่วยที่ต้องการใช้ยาที่มีส่วนผสมของกัญชา จะต้องได้คำแนะนำจากแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้านสั่งจ่าย
ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. .... ที่เสนอโดย พรรคภูมิใจไทย แม้จะมีความมุ่งหมายที่ดี เพื่อให้มีการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ อุตสาหกรรม หรือการใช้เพื่อดูแลสุขภาพของประชาชน แต่ก็ขาดความชัดเจนของเนื้อหาในหลายประเด็น และอาจเกิดผลเสียบางประการต่อสังคม สรุปได้ดังนี้
1.เหตุผลตามร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่ระบุว่า ประมวลกฎหมายยาเสพติดมิได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากปัจจุบันกัญชายังเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อยู่ แม้ว่าจะไม่มีการบัญญัติกัญชาในประมวลกฎหมายยาเสพติดก็ตาม
อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขยังระบุให้กัญชายังอยู่ในรายชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 สะท้อนว่าก็ยังไม่มีผลใช้บังคับ ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ก็ทำให้เกิดปัญหาการตีความคำว่า กัญชา ไปต่างๆ นานา และยังไม่สอดคล้องกับนิยามของกฎหมายต่างประเทศ
2.หากกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติดประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติดแล้ว จะส่งผลทำให้ธุรกิจการค้ากัญชาไม่ว่าจะเป็นการผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออกกลายเป็นสิ่งถูกกฎหมาย
3.กัญชามีสาร THC ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท การบริโภคที่ไม่เหมาะสม ย่อมส่งผลเสียสุขภาพของผู้ใช้ คนในครอบครัว บุคคลอื่น คนในชุมชน และสังคม จึงควรมีการควบคุมที่เหมาะสม มีมาตรการป้องกันของชุมชน การฟื้นฟูบำบัด และไม่จำเป็นจะต้องเป็นการลงโทษอาญาเพียงอย่างเดียว ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่มีมาตรการจัดการในเรื่องนี้
4.คณะกรรมการกัญชา กัญชง ส่วนใหญ่เป็นผู้แทนส่วนราชการมากถึง 18 คน แต่ผู้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 7 คน (อาจแต่งตั้ง 2-3 คนก็ได้) และไม่มีการกำหนดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ไม่มีตัวแทนองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรที่เกี่ยวข้อง
5.การกำหนดประเภทใบอนุญาตกัญชา กัญชง ไม่สอดคล้องกับแนวทางการกำหนดประเภทใบอนุญาตกัญชาและกัญชงในต่างประเทศ ซึ่งจะมีการแบ่งแยกกันอย่างชัดเจน และมีประเภทย่อยเพิ่มเติม และมีการกำหนดค่าธรรมเนียมที่ค่อนข้างต่ำ และควรมีการปรับปรุงทบทวนทุก ๆ 5 ปี เพื่อนำรายได้เป็นของแผ่นดิน อีกทั้งไม่ควรบัญญัติให้เป็นรายได้ของ อย. เพราะปัจจุบัน อย.มีรายได้จากกองทุนยาเสพติดมหาศาล และจะเป็นกรณีเสียวินัยทางการคลัง ขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
6.การอนุญาตให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกกัญชา กัญชงในครัวเรือนโดยการจดแจ้ง อาจไม่เหมาะสมและสร้างผลเสียบางประการ ไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติและกฎหมายพัฒนาแล้ว แม้ว่าการนำใบกัญชาหรือกัญชงที่มีสาร THC ต่ำและมีสาร CBD CBDA และสารอื่นไปชงเป็นชาหรือประกอบอาหารจะค่อนข้างปลอดภัย แต่ก็ควรได้รับคำแนะนำจากผู้มีความรู้ เช่น ไม่ควรนำใบกัญชา กัญชงมาสูบเพราะจะส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจอย่างมาก
7.หากกัญชาไม่ถือเป็นยาเสพติดประเภท 5 และไม่มีมาตรการดูแลที่เหมาะสม อาจส่งผลทำให้การเสพหรือใช้กัญชาเพื่อสันทนาการสามารถทำได้โดยเสรี ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีความพร้อมในเรื่องนี้
8.การอนุญาตให้โฆษณากัญชาได้เมื่อได้รับใบอนุญาต หลักการนี้ไม่สอดคล้องกับกฎหมายในหลายประเทศที่จะห้ามโฆษณาหรือชักจูงให้การใช้กัญชา เพื่อป้องกันผลเสียต่อสุขภาพ ครอบครัว ชุมชน สังคม เว้นแต่จะเข้ากรณียกเว้นที่อนุญาตให้สามารถทำได้ในบางกรณีตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขที่กำหนดไว้
9.กระบวนการรับฟังความเห็น ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของพรรคภูมิใจไทยทางเว็บไซต์สภาผู้แทนราษฎรทำอย่างรวบรัด ไม่มีการเปิดเวทีสาธารณะให้มีการถกเถียงในวงกว้าง
กัญชายังถือเป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศคือ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยสารเสพติด ค.ศ.1961 การเสนอร่างกฎหมายกัญชา กัญชงของพรรคภูมิใจไทยจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ กระทรวงสาธารณสุขควรเสนอร่างกฎหมายกัญชา กัญชงประกบร่างของภูมิใจไทย เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบ และควรมีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นในวงกว้าง มีการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมายฉบับนี้
การที่รัฐบาลหรือกระทรวงสาธารณสุขละเลยไม่เสนอร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด อาจจะส่งผลเสียอย่างมากต่อสังคมและประชาชน ทำให้มีการใช้กัญชาในกลุ่มเด็ก เยาวชนและประชาชนเพิ่มขึ้น จนส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว ทำให้เกิดอาชญากรรม ปัญหาสังคม หรือเกิดการผูกขาดธุรกิจเกี่ยวกับกัญชาของกลุ่มผลประโยชน์หรือนักการเมืองบางกลุ่ม