เด็กแห่เรียนทางออนไลน์จนระบบล่ม มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ชี้แรกตั้งเป้าให้รับชมผ่านทีวีเป็นหลัก ทดลองวันแรกผิดคาด เข้าดูทาง www.dltv.ac.th จนล่ม คาดว่า ภายในสัปดาห์นี้ แก้ปัญหาได้ ส่วนแอปพลิเคชั่นได้เพิ่มเซิร์ฟเวอร์ รองรับแล้ว แนะแพลตฟอร์มใหญ่ ยูทิวป์ เป็นอีกหนึ่งช่องทางการเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต
วันที่ 20 พฤษภาคม นายอำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการจัดการศึกษาทางไกลผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า การเตรียมความพร้อมการจัดการเรียนการสอนในช่วงโควิด19 โดยเฉพาะช่วง 18 พฤษภาคม - 30 มิถุนายน 2563 นั้น ถือเป็นการตรวจสอบความพร้อม ปรับพื้นฐาน เพื่อรองรับการเปิดภาคเรียน วันที่ 1 กรกฎาคม
"ช่วงเวลา 43 วันนี้ จึงเป็นการทดลอง เรียนรู้ และตรวจสอบทั้งระบบ"
เลขาธิการ สพฐ. กล่าวว่า การจัดการเรียนการสอนทางไกล แบ่งเป็น เรียนที่โรงเรียนในพื้นที่ปลอดภัย (On-site) เรียนผ่านช่องทางหลัก (On-air) และเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตและแอปพลิเคชั่น (Online) โดยใช้ On-air หรือทางทีวี เป็นตัวหลัก เพราะไม่ต้องใช้เงิน ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรมาก เชื่อว่า ทุกครอบครัวมีอุปกรณ์รองรับได้ และประชาชนส่วนใหญ่เข้าถึง
"เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม เราคลิกออฟเปิดการเรียนการสอนผ่านทีวี ปรากฎว่า หลายแห่งรับสัญญาณได้ บางแห่งรับสัญญาณไม่ได้ หรือรับสัญญาณได้แต่ครูหรือเจ้าหน้าที่ต้องลงไปปรับสัญญาณให้ มีต้องเดินทางไปเรียนที่ศูนย์เรียนรู้ ไปเรียนที่บ้านเพื่อน เรียนที่บ้านครู และโรงเรียน เป็นต้น " นายอำนาจ กล่าวถึงปัญหาที่พบ และว่า วิกฤติโควิดเป็นโอกาสทำให้เราเรียนรู้เทคโนโลยี ฉะนั้น การจัดการเรียนการสอนทางไกล คือการเตรียมความพร้อมของระบบ ขณะที่ผู้ปกครองช่วงเวลานี้ก็ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยครู บางบ้านผู้ปกครองมีเวลาดูแลบุตรหลานได้ บางบ้านไม่มีเวลาผู้ปกครองต้องทำงาน ในส่วนของนักเรียนเราก็หวังให้กระบวนการเรียนเช่นนี้ เป็นการปรับฐานความรู้ของนักเรียนไปในตัว
เลขาธิการ สพฐ. กล่าวอีกว่า เมื่อเปิดเรียนจริง 1 กรกฎาคม การเรียนในห้องเรียนเป็นหลักได้ 100% หรือไม่จะขึ้นอยู่กับศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ของรัฐบาล หากสถานการณ์โรคระบาดยังไม่คลี่คลาย 1 กรกฎาคม และเกิดเหตุเหมือนประเทศฝรั่เศสที่มีนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 ก็มีการปรับแผนให้เรียนที่โรงเรียนบางส่วน หรือแบ่งวันกันมาเรียน และใช้เรียนผ่านทางไกล เรียนผ่านอินเทอร์เน็ต และแอปพลิเคชั่น ประกอบไปด้วย
นายอนุสรณ์ ฟูเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ (DLTV) กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ที่วิกฤติถือเป็นช่วงเวลาของการปูพื้นฐานการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยี วันนี้กระทรวงฯ และสพฐ.ใช้การเรียนทางไกลเป็นหลัก เนื้อหาสาระของมูลนิธิฯ ถือได้ว่า มีมาตรฐานเพียงพอ ครอบคลุมการศึกษาตลอดชีวิตทุกช่วงวัย และใช้ได้ในทุกระดับชั้น
ด้านพันเอกกฤษฎาวุฒิ โสภิกุล อนุกรรมการด้านเทคโนโลยี มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ กล่าวถึงการจัดการเรียนการสอนทางไกล กับช่องทางการรับชมที่ต้องมีหลากหลายช่องทางนั้น เพราะข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ในประเทศไทยไม่เหมือนกัน
จากสถิติสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พบว่า การจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 เป็นการชมผ่านดาวเทียม 62% ดิจิทัลทีวี 45% เคบิลทีวี 5-6% และทาง IPTV 1%
"ตัวเลขเกินร้อย เพราะบางครอบครัวมีมากกว่า 1 ช่องทาง เวลาบวกตัวเลขมาจะเกินร้อย หลักๆ ส่วนใหญ่ 62% ในประเทศไทยใช้ระบบดาวเทียมในการดูทีวี" พันเอกกฤษฎาวุฒิ กล่าว และอธิบายต่อถึงระบบดาวเทียม แบ่งเป็น จานทึบ (Ku Band) และจานโปร่ง ( C Band) ซึ่ง Ku Band ทางมูลนิธิฯ ใช้ถ่ายทอดเป็นหลักอยู่แล้ว ถือมีปัญหาการรับสัญญาณน้อยสุด แต่ช่วง 2-3 วันที่ผ่านมาก็พบบางครอบครัว เป็นจานรับสัญญาณดาวเทียมรุ่นเก่า เครื่องรับสัญญาณรุ่นเก่า จึงรับสัญญาณไม่ได้
ขณะที่การเรียนการสอนผ่านทางไกล ยังพบปัญหา นักเรียนในชั้น ม.4-ม.6 ไม่สามารถรับสัญญาณได้ทางระบบดาวเทียม จานโปร่ง หรือ C Band ส่วนระบบดิจิทัลทีวี เป็นสัญญาภาคพื้นดิน มีปัญหาจุดอับสัญญาณ สัญญาณอ่อนบางจุด หากผ่านภูเขา มีตึก มีอาคารมาบัง จะไม่สามารถรับสัญญาณบางช่องได้
ส่วนการรับชมทางช่องทางเคเบิลทีวี พบว่า ผู้ประกอบการหลายแห่ง มีความสนใจนำสัญญาณ DLTV ไปออกอากาศได้ โดยไม่มีค่าลิขสิทธิ์ ขณะที่การรับชมผ่านระบบ IPTV (สมาร์โฟน แท็ปเล็ต คอมพิวเตอร์ ) ผู้ใช้ระบบนี้ยังมีน้อยอยู่ และมีผู้ประกอบการ 2 แห่งเท่านั้นที่นำเนื้อหาไปออกอากาศ คือ เอไอเอส ทีโอที
พันเอกกฤษฎาวุฒิ กล่าวถึงสถานการณ์การเรียนทางไกล เดิมคาดหวังว่า การรับชมผ่านช่องทีวีเป็นหลัก แต่วันแรกของการเรียนทางไกลกลับกัน เกิดเหตุดูทางเว็บไซต์ www.dltv.ac.th จำนวนมากจนเว็บล่มชั่วขณะ โดยคาดว่า ภายในสัปดาห์นี้ เหตุเว็บล่มจะไม่เกิดขึ้นแล้ว ขณะที่ดูผ่าน แอปพลิเคชั่น บนสมาร์ทโฟน พบว่า ปริมาณคนเข้าจำนวนมาก เนื่องจากมีการจำกัดปริมาณคนเข้าแอปพลิเคชั่น ทำให้คนเข้าโหลดแอฟพลิเคชั่นหลังๆ จะเข้าโหลด หมุนวน ปัจจุบันทางมูลนิธิฯ ได้เพิ่มเซิร์ฟเวอร์ ( Server ) รองรับคนจำนวนมากเข้าแอปพลิเคชั่นแล้ว คาดว่า สถานการณ์จะดีขึ้น
"การดูผ่านยูทิวป์ คาดหวังเป็นช่วยหนึ่งของการเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต เพราะเป็นแพลตฟอร์มใหญ่ มูลนิธิฯ กำลังทำระบบให้เสถียร รองรับจำนวนผู้เข้าชมได้มากที่สุด ฉะนั้นทางผู้ปกครอง และนักเรียนหากเข้าเว็บไม่ได้ ก็ยูทิวป์" พันเอกกฤษฎาวุฒิ กล่าว