"...สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะ จากการสำรวจพบว่า เกิดจากการขับรถตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด มากที่สุด จำนวน 46 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 11.89 ของจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด รองลงมาคือ ประมาท จำนวน 45 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 11.63 และหลับใน จำนวน 44 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 11.37..."
.......................
ในรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคม (คค.) พ.ศ. 2562 ฉบับล่าสุด ที่มีการเผยแพร่เป็นทางการในช่วงเดือนพ.ค.2563 ที่ผ่านมา ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลสำคัญมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบกันไปแล้ว
นอกจากข้อมูลสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของโลก ที่พบว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก โดยมีประมาณการผู้เสียชีวิต 32.7 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 22,491 คน (60 คนต่อวัน) สถานการณ์การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย มีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยในภาพรวม มีสถิติผู้เสียชีวิตลดลงจากประมาณการครั้งที่ผ่านมา ขององค์การอนามัยโลก 2,000 คน แต่ในภาพรวมประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดอันดับหนึ่ง ในเอเชียและในภูมิภาคอาเซียน
ขณะที่ส่วนสัดส่วนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย เป็นผู้เสียชีวิตที่เกิดจากรถจักรยานยนต์มากที่สุด ร้อยละ 74.4 เกิดจากรถยนต์ ร้อยละ 12.3 ผู้เดินเท้า ร้อยละ 7.6 ผู้ขี่จักรยาน ร้อยละ 3.5 และผู้ใช้ถนนอื่นๆ ร้อยละ 2.3 ซึ่งหากคิดสัดส่วนต่อจำนวนประชากรของประเทศแล้ว ผู้เสียชีวิตที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยจะสูงเป็นลำดับ 1 ของโลก
นอกจากนี้ ภาพรวมการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ระหว่างปี พ.ศ. 2554 - 2562 ตามช่วงอายุและเพศ พบว่า เพศชายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน มากกว่าเพศหญิง ส่วนลักษณะถนนบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุ ในปี พ.ศ. 2562 จากจำนวน อุบัติเหตุทั้งหมด 20,007 ครั้ง พบว่าอุบัติเหตุบนทางตรง มีจำนวนมากที่สุดถึง 13,511 ครั้ง
(อ่านประกอบ : ฉบับล่าสุด! รายงานอุบัติเหตุถนนไทย คค. ชนทางตรงมากสุด 1.3 หมื่นครั้ง - ชายตายมากกว่าหญิง)
ข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารทั่วประเทศ ก็เป็นข้อมูลสำคัญอีกชุดหนึ่งที่ปรากฎอยู่ในรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคม (คค.) ฉบับนี้ โดยพบว่า ในช่วงปี 2562 รถแท็กซี่ และรถโดยสาร 1 ชั้นเป็นรถโดยสารสาธารณะที่มีการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดในประเทศไทย
ทั้งนี้ ข้อมูลในส่วนของรถแท็กซี่ นั้น ในรายงานมีการอ้างอิงจากข้อมูล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ได้แบ่งประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุจากรถโดยสาร ประกอบด้วย รถสามล้อเครื่อง รถโดยสารขนาดเล็ก (รถตู้) รถโดยสารขนาดใหญ่ และรถแท็กซี่
พบว่า ภาพรวมการเกิดอุบัติเหตุ ของรถโดยสารทั้งประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2557 - 2559 ลดลงในปี พ.ศ. 2560 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปี พ.ศ. 2561
โดยในปี พ.ศ. 2562 มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดจากรถโดยสาร ทั้งประเทศ จำนวน 3,599 คัน ลดลงจากปี พ.ศ. 2561 จำนวน 277 คัน คิดเป็นร้อยละ 7.15
อุบัติเหตุเกิด จากรถแท็กซี่มากที่สุด จำนวน 1,781 คัน คิดเป็นร้อยละ 49.49 รองลงมาคือ รถโดยสารขนาดเล็ก (รถตู้) จำนวน 883 คัน คิดเป็น ร้อยละ 24.53 และรถโดยสารขนาดใหญ่ จำนวน 683 คัน คิดเป็นร้อยละ 18.98 (ดูตารางประกอบ)
ส่วนข้อมูลรถโดยสาร 1 ชั้น นั้น มีการอ้างอิงจากข้อมูลการรายงานอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะของ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ที่ระบุว่า ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ในปี พ.ศ. 2562 นั้น หากจำแนกตามมาตรฐานรถโดยสาร พบว่า รถโดยสาร 1 ชั้น เกิดอุบัติเหตุ มากที่สุด จำนวน 141 คัน คิดเป็นร้อยละ 35.61 ของจำนวนรถที่เกิดอุบัติเหตุทุกประเภท
รองลงมาคือ รถตู้โดยสาร จำนวน 132 คัน คิดเป็นร้อยละ 33.33 ประเภทรถโดยสาร 2 ชั้น จำนวน 82 คัน คิดเป็นร้อยละ 20.71 เมื่อเปรียบเทียบกับปี พ.ศ. 2561 พบว่า รถโดยสารสาธารณะทุกประเภทมีการเกิดอุบัติเหตุลดลง ยกเว้นไม่ระบุประเภทรถ ที่มีการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น
สำหรับข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะในภาพรวม นั้น ในรายงานชิ้นนี้ ยังระบุว่า จากการสำรวจพบว่า ในปี พ.ศ. 2562 เกิดอุบัติเหตุ จำนวน 387 ครั้ง ลดลงจาก ปี พ.ศ. 2561 จำนวน 112 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 22.44 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 175 ราย ลดลงจากปี พ.ศ. 2561 จำนวน 30 ราย คิดเป็นร้อยละ 14.63 และมีผู้บาดเจ็บ จำนวน 432 คน ลดลงจากปี พ.ศ. 2561 จำนวน 21 คน คิดเป็นร้อยละ 4.64 (ดูตารางประกอบ)
อย่างไรก็ดี สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะ จากการสำรวจพบว่า เกิดจากการขับรถตัดหน้าในระยะกระชั้นชิด มากที่สุด จำนวน 46 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 11.89 ของจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด
รองลงมาคือ ประมาท จำนวน 45 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 11.63 และหลับใน จำนวน 44 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 11.37 (ดูตารางประกอบ)
ทั้งหมดนี่ เป็นข้อมูลเกี่ยวกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารทั่วประเทศ ที่ปรากฎอยู่ในรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคม (คค.) พ.ศ. 2562 ฉบับล่าสุด ที่มีการจัดทำไว้
นับเป็นข้อมูลสำคัญอีกชุด ที่ผู้ส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนไม่ควรมองข้ามโดยเด็ดขาด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage