"...เมื่อถามว่าคำสั่งกรมบังคับคดีจะมาเมื่อใด นายหิรัญตอบกลับมาพร้อมกับยิ้มอ่อน "เราก็ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ ส่วนศาลก็ไม่ได้แจ้งว่ากรมบังคับคดีจะมาเมื่อไหร่" ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าถ้ารื้อบ้านแล้วนางโตจะไปอยู่ที่ไหน นายหิรัญตอบว่า "ก็ยังไม่รู้ ตอนนี้คือเรารอกรมบังคับคดีอย่างเดียว คือ รื้อแบบไหน สภาพแบบไหน รื้อทั้งหลังหรือรื้อให้พ้นเขตของเขา..."
"ยายสบายดีไหม"
คือ คำทักทายของสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ที่เอ่ยต่อ นางโต พลายชุมพล หรือ ยายโต หญิงชรา วัย 94 ปี ที่อาศัยอยู่บ้านริมคลองแม่น้ำในของบ้านเกาะเหนือ (เป็นส่วนหนึ่งของ บ้านหัวถนน หรือ บ้านคลอง 33) เลขที่ 71 หมู่ 6 ต.หนองหมู อ.วิหารแดง จ.สระบุรี เนื้อที่ 25 ตารางวา
หลังปรากฏข่าวในช่วงกลางเดือน มี.ค.2567 ยายโต แพ้คดีถูกไล่ที่รื้อถอนบ้านที่พักอาศัยมายาวนานหลายสิบปี และยังต้องชดใช้ค่าเสียหาย 17,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นนับจากวันฟ้อง (20 มิ.ย.2562) และให้ชำระค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินพิพาทเป็นรายเดือนเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายรื้อถอนบ้าน และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ค่าทนายความ 3,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ขณะที่มีหลายหน่วยงาน รวมถึงพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกมาระบุไว้จะให้ความช่วยเหลือ ยายโต
- ‘ยายโต’ แพ้! คดีโดนฟ้องขับไล่ ศาลฎีกายกคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์ ชี้รับวินิจฉัยไม่ชอบ
- กลัวยายโตเสียใจ! ญาติไม่กล้าบอกผลแพ้คดีโดนไล่ที่-ยธ.สระบุรี รุดช่วยพร้อมไกล่เกลี่ยโจทก์
- 'ทวี' เป็น รมต.ไม่ทิ้งยายโต! สั่งกรมคุ้มครองสิทธิ-สภาทนายฯ ช่วยเหลือหลังแพ้คดีฟ้องขับไล่
ปัจจุบันสภาพชีวิตของ ยายโต หลังแพ้คดีในชั้นศาลฯ เป็นอย่างไร มีหน่วยงานไหน หรือใครเข้าไปให้ความช่วยเหลือแล้วบ้าง?
คือ สิ่งที่สำนักข่าวอิศรา ให้ความสนใจ หลังติดตามเสนอข่าวเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564
การเดินทางลงพื้นที่ไปพบ ยายโต ที่บ้านไม้ริมคลองหลังเดิม เพื่อสอบถามความคืบหน้าการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ หลังคำทักทายว่า "ยายสบายดีไหม"
นับเป็นเป้าประสงค์หลักในการเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้
********************
ช่วงเวลาที่ทีมข่าวสำนักข่าวอิศราเดินทางไปถึงบ้านของนางโต เป็นช่วงเวลาประมาณ 12.00 น. มีแสงแดดเจิดจ้าพร้อมกับอากาศร้อนระอุ บริเวณหน้าบ้านของนางโตมีถนนสายเล็กที่พอให้รถวิ่งได้เพียงหนึ่งเลนตัดผ่าน มีคลองขนาดกลางขนาบข้างถนน และอีกฝั่งของถนนเป็นบ้านประมาณ 5 หลัง ซึ่ง 2 ใน 5 หลัง เป็นบ้านของโจทก์และบ้านของนางโต ตั้งอยู่ในระนาบแนวเดียวกัน
สภาพบ้านของนางโต ในปัจจุบันเป็นบ้านไม้ผสมปูนยกสูง 1 ชั้น มีลานจอดรถที่มุงหลังคาด้วยสังกะสีที่ต่อยาวมาจนถึงหลังคาบ้าน มีชั้นใต้ถุนบ้านที่มีโต๊ะหินอ่อนตั้งอยู่ เมื่อเข้ามาใกล้จะพบว่าผนังบ้านทำด้วยสังกะสีแผ่นที่เริ่มผุไปตามกาลเวลา เมื่อมองไปทางซ้ายจะพบว่ามีบ้านอีกหลังสภาพเก่าโทรม ถูกทิ้งร้างไว้อยู่ติดกับบ้านที่นางโตอยู่อาศัย (ดูภาพประกอบ)
เมื่อผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา เดินเข้าไปบริเวณบ้านก็สัมผัสได้ถึงคลื่นความร้อนที่อบอวลในอากาศทันที ประกอบกับแสงแดดในเวลาเที่ยงวันทำให้แผ่นสังกะสีแผ่คลื่นความร้อนออกมาเป็นระยะ
เมื่อเดินเข้าไปใกล้ตัวบ้านมากขึ้นก็พบกับ นายหิรัญ พลายชุมชน หนึ่งในบรรดาลูกทั้ง 8 คนของนางโต ที่กำลังยืนมองผู้สื่อข่าวเดินเข้ามาในบ้าน
ผู้สื่อข่าวกล่าวทักทายอีกฝ่ายและถามว่า "นี่ใช่บ้านของยายโตใช่หรือไม่ เป็นผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวอิศรา มาตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่ของยายโตหลังอ่านคำพิพากษา"
นายหิรัญ ตอบว่า "ใช่" จากนั้นนายหิรัญเดินนำผู้สื่อข่าวไปพบนางโตที่อยู่บนบ้าน
เมื่อผู้สื่อข่าวขึ้นไปบนบ้านก็พบกับหญิงชราร่างผอม ผิวเหี่ยวย่น มีผมสีเทาผสมสีดำประปราย แต่ท่าทางคล่องแคล่วกำลังจัดของเพื่อเตรียมตำหมาก
นางโต พลายชุมพล
ผู้สื่อข่าวกล่าวทักทายนางโต "ยายสบายดีไหม"
แต่นางโตไม่มีท่าทีตอบกลับมา จึงกล่าวทักทายอีกครั้งด้วยเสียงที่ดังกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่ได้ผล ผู้สื่อข่าวจึงพูดช้าลงและเสียงดังกว่าเดิม ผู้สื่อข่าวสังเกตเห็นว่าดวงตาของนางโตจ้องอยู่ที่ปากของผู้สื่อข่าว จึงคาดได้ว่านางโตน่าจะอ่านปาก
จากนั้นนางโตจึงตอบกลับมา "มันก็สบายเหมือนกัน แต่อากาศร้อน บางทีก็เป็นนู้นเป็นนี่ตามประแสคนแก่ อย่างปวดเมื่อยบ้าง เหนื่อยบ้าง"
เมื่อเห็นว่าสื่อสารกับนางโตได้ไม่สะดวกนักผู้สื่อข่าวจึงหันไปสอบถามนายหิรัญแทน นายหิรัญมองผู้สื่อข่าวด้วยใบมีรอยยิ้มเล็กน้อย "ยายหูไม่ดี แล้วก็หลง ๆ ลืม ๆ แต่ยังเดินเหินคล่องแคล้ว หลังศาลอ่านคำพิพากษายายแกก็ถามนะว่าทำไมต้องย้ายออก"
ระหว่างนั้นราวกับนางโตรับทราบว่ากำลังพูดถึงประเด็นอะไร จึงเอ่ยถามผู้สื่อข่าวเสียงแหบระคนสั่นเครือ "ทำไมต้องย้ายออก ๆ"
หลังจากนั้นมีความเงียบเกิดขึ้นครู่หนึ่ง ผู้สื่อข่าวจึงถามต่อ "ก่อนหน้าที่จะมีคดีความยายก็ปกติดีใช่ไหม" นายหิรัญตอบว่า "ใช่ ก่อนจะมีคดีความแก้ก็ไม่หลง ๆ อย่างนี้ ช่วงแรกที่สู้คดีแกรู้เรื่องอยู่" ผู้สื่อข่าวหันไปมองหญิงชราที่กำลังเคี้ยวหมาก มองไปรอบ ๆ บ้านที่นางโตอยู่อาศัย ก่อนจะสังเกตพบว่าพื้นบ้านที่ทำจากไม้ของนางโตสะอาด ดูแล้วคล้ายกับได้รับการกวาดถูเป็นประจำ "ยายอยู่คนเดียวที่นี่หรือมีคนอื่นอยู่ด้วย" ผู้สื่อข่าวถาม
นายหิรัญตอบกลับมาว่า "มีพี่ชายผมปลูกบ้านอยู่ข้าง ๆ เวียนมาดูแล ปกติยายแกชอบกวาดบ้านถูบ้าน ส่วนหุงข้าว ซักผ้า แกทำได้เองหมดทุกอย่าง ถ้าวันนี้ผมไม่มาจากสมุทรปราการแกก็ยังเดินทำนู้นทำนี่"
"ไม่ได้มาที่นี่บ่อยหรือ?" ผู้สื่อข่าวถามด้วยความประหลาดใจกับคำตอบของนายหิรัญ
"ผมมาที่นี่เดือนละครั้ง" นายหิรัญตอบ
********************
จากนั้นผู้สื่อข่าวจึงขอเดินสำรวจรอบ ๆ บ้านของนางโต พบว่าบ้านไม้ผสมปูนหลังนี้แม้ภายนอกจะดูเก่าและผุพังไปตามเวลาแต่ภายในกลับได้รับการทำความสะอาดเป็นอย่างดี ภายในบ้านของนางโตมีข้าวของเครื่อใช้ครบครัน แม้จะมีสิ่งของกระจุกกระจิกก็ได้รับการจัดวางอย่างเป็นระเบียบ ตามฝาบ้านมีรูปถ่ายบุคคลต่าง ๆ วางเรียงรายเป็นแถว ผู้สื่อข่าวคาดเดาว่าบุคคลต่าง ๆ ในรูปน่าจะเป็นลูกหลานของนางโต อย่างไรก็ดีเนื่องจากผนังบ้านของนางโตทำด้วยสังกะสีแผ่น อากาศภายในบ้านจึงค่อนข้างร้อนอบอ้าว
"แล้วหน้าร้อนทำยังไง ลงไปอยู่ใต้ถุนบ้านหรือ ยายไปด้วยใช่ไหม?" นายหิรัญตอบกลับสั้น ๆ ว่า "ใช่ ยายก็ไปด้วย"
เมื่อนึกถีงบรรดารูปภาพข้างฝาบ้านผู้สื่อข่าวจึงถามนางโต "ยายเลี้ยงหลานมากี่คน?"
นางโตตอบกลับมาว่า "หลายคน" แล้วเงียบไปครู่หนึ่งจึงพูดต่อว่า "ยายจำไม่ได้แล้ว"
นายหิรัญ พลายชุมพล
ผู้สื่อข่าวถามนายหิรัญว่า "จะทำอย่างไรต่อไป?" นายหิรัญ ตอบว่า "ก็ยังไม่แน่ใจว่ากรมบังคับคดีจะให้เรารื้อบ้านแค่ไหน เพราะบ้านเราจริง ๆ ไม่โดนที่เขา ตอนที่ฟ้องเขาเอาบ้านสองหลังมารวมกัน"
ผู้สื่อข่าวมองไปยังบ้านอีกหลังที่อยู่ติดกับบ้านของนางโตแล้วถามต่อ "ก็คือบ้านที่หลังที่อยู่ด้านหลังนี้ใช่ไหม แล้วตามคำพิพากษาของศาลให้รื้อบ้านหลังไหน?"
"รื้อหลังนี้ แต่หลังนี้ไม่ได้อยู่ในเขตของเขา (โจทก์) มันเป็นที่ดินชายคลอง แต่เพราะศาลสั่งให้รื้อ เราก็รื้อแต่ไม่รู้ว่าขนาดไหน" นายหิรัญตอบกลับมา
ภาพบ้านที่มีพัดลมสีฟ้า คือ บ้านที่นางโตอยู่อาศัย
ภาพบ้านที่อยู่ติดกับบ้านของนางโต
เมื่อถามว่าคำสั่งกรมบังคับคดีจะมาเมื่อใด นายหิรัญตอบกลับมาพร้อมกับยิ้มอ่อน "เราก็ไม่รู้ว่าจะมาเมื่อไหร่ ส่วนศาลก็ไม่ได้แจ้งว่ากรมบังคับคดีจะมาเมื่อไหร่"
ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่าถ้ารื้อบ้านแล้วนางโตจะไปอยู่ที่ไหน นายหิรัญตอบว่า "ก็ยังไม่รู้ ตอนนี้คือเรารอกรมบังคับคดีอย่างเดียว คือ รื้อแบบไหน สภาพแบบไหน รื้อทั้งหลังหรือรื้อให้พ้นเขตของเขา"
เมื่อได้รับคำตอบที่เต็มไปด้วยคำว่า ‘รอ’ และ ‘ไม่รู้’ ผู้สื่อข่าวจึงถามว่า "งั้นก็คือต้องรอแบบไม่รู้อะไรเลย?" นายหิรัญระบายยิ้มอ่อน "เราก็ต้องอยู่ไปอย่างงี้ อยู่ไปจนกว่ากรมบังคับคดีจะมาบอกเราว่าจะรื้อยังไง แต่ก่อนหน้านั้นกรมบังคับคดีบอกว่าต้องรื้อทั้งหลัง"
"อันนี้คือหมายความว่ากรมบังคับคดีมาแล้ว?" ผู้สื่อข่าวถาม
นายหิรัญตอบว่า "ใช่ กรมบังคับคดีมาแล้ว 1 รอบ เพียงเราถามข้อข้องใจว่าที่ศาลบอกว่าให้เรารื้อให้พ้นเส้นสีแดงจร. หมายความว่าอย่างไร ลักษณะเช่นนี้เป็นการรื้อลักษณะไหน เขาก็บอกว่ารื้อทั้งหลัง เพราะว่ามีค่าเสียหาย แต่บ้านผมไม่ได้อยู่ในที่เขานะ อยู่นอกโฉนด คือผมก็ยังคัดค้านอยู่อย่างนี้ เราก็เลยรอกรมบังคับคดีว่าจะว่ายังไง แล้วพอกรมบังคับคดีมาเราจะยื่นยังไงได้บ้าง"
ผู้สื่อข่าวจึงถามย้ำว่า "ตอนนี้คือกรมบังคับคดีมาแล้ว 1 รอบ มาเมื่อวันไหน?" นายหิรัญตอบว่า "ใช่ มาแล้ว 1 รอบ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2567"
ผู้สื่อข่าวจึงสรุปประเด็นคำถามจากคำตอบที่ได้รับว่า "ก็คือเบื้องต้นกรมบังคับคดีบอกว่าต้องรื้อบ้านทั้งหลัง แต่เราก็แย้งว่าที่เราไม่ได้อยู่ในที่เขา แล้วกรมบังคับคดีก็กลับไป แล้วตอนนั้นกรมบังคับคดีให้คำตอบว่ายังไงหลังจากแย้งไปแล้ว?"
นายหิรัญ ตอบว่า "เขาบอกว่าต้องเป็นไปตามที่ศาลสั่ง แต่ศาลสั่งให้รื้อให้พ้นเส้นจร.สีแดง แต่เราไม่เข้าใจว่าเส้นจร.สีแดงคืออะไร" โดยนายหิรัญกล่าวย้ำถามถึงความหมายของเส้นจร.สีแดงหลายครั้ง
"เห็นว่ารัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม (พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง) ก็เคยมาที่นี่เป็นยังไงบ้าง?"
"เคยมาทีหนึ่งแล้ว แต่ตอนนั้นเขายังไม่ได้เป็นรัฐมนตรี เขาบอกว่าเขาจะช่วย เขาก็ไปหาพวก DSI ให้มาทำแผนที่ กรมป่าไม้ก็มาทำแผนที่ แล้วก็ไปถึงศาลหมด แต่ศาลก็ไม่ดู" นายหิรัญยกยิ้มที่ผู้สื่อข่าวตีความได้ว่าเป็นรอยยิ้มที่จำนนต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
ด้วยความประหลาดใจผู้สื่อข่าวจึงถามต่อทันที "ศาลไม่ได้ใช้ข้อมูลส่วนนี้เลย?" นายหิรัญตอบกลับว่า "ไม่ได้ใช้เลย" ด้วยเสียงแผ่วเบา
"แล้วหลังจากที่พันตรวจเอกทวี ได้เป็นรัฐมนตรีแล้ว ได้ติดต่อกลับมาหรือไม่?"
นายหิรัญส่ายหน้า "ไม่ได้ติดต่อกลับมาเลย เขาก็ช่วยในเรื่องหาข้อมูล พอเรื่องจบแล้วเขาก็เงียบไป"
ผู้สื่อข่าวหันกลับไปมองนางโต ก่อนจะหันกลับมาถามนายหิรัญต่อ "แล้วพม. (พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) หรือหน่วยงานอื่นได้ติดต่อมาบ้างหรือไม่?"
นายหิรัญตอบว่า "ก็มาวันที่ 13 ทางพม.จังหวัดก็มาดู" เมื่อจำได้ว่าก่อนหน้านั้นนายหิรัญบอกว่าเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2567 กรมบังคับคดีเคยมาที่บ้านนางโตแล้ว จึงถามว่า "มาดูพร้อมกรมบังคับคดี?"
"ใช่ มาดูว่าช่วยเหลือยังไงได้บ้าง ทำอะไรได้บ้างเป็นลักษณะนั้น" นายหิรัญตอบเสียงเอื่อย ก่อนที่น้ำเสียงจะเปลี่ยนไปซึ่งผู้สื่อข่าวสัมผัสถึงความกระตือรือร้น "แต่ตอนนี้เราอยากรู้ ว่าที่ตรงนี้เขาจะยึดครองได้หรือไม่ เพราะเป็นที่สาธารณะประโยชน์พลเมืองใช้ร่วมกัน ที่ DSI ไปพิสูจน์มา เราอยากจะรู้ว่าตกลงแล้วที่ศาลตัดสินให้เรารื้อ ที่ตรงนี้เขาจะสามารถครอบครองได้ทั้งหมดหรือเปล่า"
ผู้สื่อข่าวหันไปมองนางโตที่กำลังเคี้ยวหมากอีกรอบ แล้วกลับมาถามนายหิรัญ "ยายแกเสียใจไหม?"
นายหิรัญตอบว่า "แกก็เสียใจอยู่ แต่แกก็หลง ๆ ลืม ๆ แต่ก็เคยถาม แกก็บอกว่าไม่อยากไปไหน อยากอยู่ตรงนี้"
เหล่านี้ คือ ฉากชีวิตล่าสุด ของ นางโต พลายชุมพล หลังแพ้คดีฟ้องขับไล่บ้านริมน้ำที่อาศัยอยู่ในหลายสิบปี ที่ยังไม่รู้ชะตากรรมในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร
พร้อมกับความหวังว่า ไม่อยากจากบ้านหลังนี้ไปไหน อยากอยู่ตรงนี้ เหมือนเดิม...