กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดตัวเลขผลสำรวจดัชนีการรู้เท่าทันสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ของคนไทยอยู่ในระดับสูงถึง 78.2% โดย 76.1% รู้ว่าการเเชร์ข่าวเท็จผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่ เฟซบุ๊ก ยังเป็นช่องทางหลักในการเผยแพร่และส่งต่อข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด
ผศ.(พิเศษ) นพ.พลวรรธน์ วิทูรกลชิต ผู้ตรวจราชการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม แถลงผลสำรวจในโครงการประเมินพฤติกรรมของประชาชนต่อข่าวปลอมช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 4-14 พฤษภาคม 2563 จัดทำโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สำรวจเกี่ยวกับการรับรู้ข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา พบว่า ดัชนีการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ของคนไทย อยู่ในระดับสูง 78.2%
สำหรับผลสำรวจครั้งนี้ ดำเนินการกับกลุ่มตัวอย่าง 4,100 คน ครอบคลุมทุกระดับการศึกษา และหลากหลายสาขาอาชีพ โดยพบว่า 64.2% สามารถแยกข่าวจริงข่าวปลอมได้ถูกต้อง , 95.2% ไม่ส่งต่อ/แชร์ข้อความที่เป็นข่าวเท็จ และ 76.1% รู้ว่าการเเชร์ข่าวเท็จมีความผิดตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
ด้านความสามารถในการประเมินข่าวสารเกี่ยวกับโรคโควิด-19 พบว่า 35.7% ของประชาชนยังไม่สามารถแยกข่าวจริงและข่าวเท็จ โดย 4.8% ยังมีการแชร์ข้อความที่เป็นเท็จ และ 83.8% ของผู้ที่แชร์ข่าวเท็จ แชร์ทางเฟซบุ๊ก
นอกจากนี้ ยังพบว่าช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ประชาชน 57.6% เคยเห็น/ ได้ยิน/ ได้อ่าน ข่าวปลอม โดยแหล่งที่กลุ่มตัวอย่างนี้เข้าถึงข่าวปลอมโควิด19 ได้แก่ เฟซบุ๊ก มากสุด 51.1% ตามมาด้วย สื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่สื่อออนไลน์ 28.8% , ไลน์ 15.6% และทวิตเตอร์/ยูทูบ/อินสตาแกรม 4.5%
“จากผลการสำรวจครั้งนี้ ทางกระทรวงดิจิทัลฯ และกระทรวงสาธารณสุข ต้องเพิ่มการทำงานเชิงรุกในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและแจกแจงข้อมูลเท็จอย่างกว้างขวาง ในประชาชน ผ่านสื่อสังคม โดยเฉพาะข้อความที่เกี่ยวกับการเกิดโรคหรือรายละเอียดทางวิทยาศาสตร์” นพ.พลวรรธน์กล่าว
โดยจากนี้ไปจะมีการจัดทำผลสำรวจออนไลน์ในโครงการนี้เป็นรายสัปดาห์อย่างต่อเนื่อง จนถึงเดือนสิงหาคม 2563 มีกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนทั่วไป เพื่อประเมิน "การรู้เท่าทันสื่อ" ของประชาชน เกี่ยวกับความสามารถแยกแยะ ตรวจสอบ การปฏิบัติตาม และการส่งต่อ ข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับ โควิด-19 ทั้งข่าวจริงและข่าวปลอม