เปิดตัวคู่มือการปฏิบัติงานสื่อในการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ รูปแบบ E-book พบ LGBT เป็นกลุ่มอัตลักษณ์ทางเพศภาวะที่สื่อให้ความสนใจ นำเสนอข่าวมากขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ส่วนใหญ่เป็นข่าวในเชิงล้อเลียน อาจารย์นิเทศ จุฬาฯ ชี้เหตุเพราะความไม่เข้าใจคำว่า เพศสภาพกับเพศวิถี
เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชาติ ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีเสวนา "สื่อเท่าทัน ผู้บริโภคเท่าเทียม : คู่มือการปฏิบัติงานสื่อในการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ" ณ หอประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อแลกเปลี่ยนสะท้อนสถานการณ์การนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศของสื่อในปัจจุบัน ตระหนักถึงความสำคัญของสื่อต่อสิทธิมนุษยชาติของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และเปิดตัวคู่มือการปฏิบัติงานสื่อในการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ
ในเวทีมีการนำเสนผลการวิจัย พบว่า บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIs) เป็นกลุ่มอัตลักษณ์ทางเพศภาวะที่สื่อให้ความสนใจและมักมีการนำเสนอข่าวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา แต่ยังพบว่า การนำเสนอส่วนใหญ่มักเป็นข่าวในเชิงล้อเลียน เช่นเดียวกับการให้พื้นที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางสังคมเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ มีเพียง 1 ใน 5 ของข่าวทั้งหมด และพบว่ามีการเพิ่มจำนวนการนำเสนอและการให้พื้นที่ข่าวดังกล่าวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ จากปีละ 1 ข่าวในปี 2540 เพิ่มมากขึ้นเป็น 10 ข่าว ในปี 2550
จากการศึกษาเพศวิถี อัตลักษณ์ทางเพศสถานะ การแสดงออกและลักษณะทางเพศในสื่อช่วงเดือนกรกฎคม 2557 ถึงมิถุนายน 2558 พบว่า อัตลักษณ์เพศสถานะชายรักชาย (gay) ถูกสื่อหนังสือพิมพ์ และสำนักข่าวออนไลน์นำเสนอมากที่สุด 351 ข่าว (ร้อยละ 33.5) รองลงมา คือ บุคคลข้ามเพศ (transgender) 195 ข่าว (ร้อยละ 18.6) ซึ่งประกอบด้วย หญิงข้ามเพศหรือกะเทย (female transgender) 185 ข่าว (ร้อยละ 17.7) และชายข้ามเพศ (male transgender) 10 ข่าว (ร้อยละ 0.9) ตามมาด้วย หญิงรักหญิง (lesbian) บุคคลรักสองเพศ (bisexual) ผู้ไม่นิยามเพศ (queer) และบุคคลสองเพศ (intersex) ตามลำดับ
ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สื่อบางสื่อยังไม่เข้าใจคำว่า เพศสภาพกับเพศวิถีว่า คืออะไร จึงทำให้มีการนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ ที่หลากหลาย รวมถึงความเท่าเทียมต่าง ๆ
ดร.ชเนตตี ได้ยกกรณีตัวอย่าง เมื่อปี 2552 ได้มีองค์กรสื่อสร้างจริยธรรมสื่อ ที่บัญญัติไว้ว่า การนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเพศหรือเพศสภาพ เพศวิถี จะต้องนำเสนออย่างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ของประชาชน แต่ต้องมีเหตุผลและคำนึงถึงความเหมาะสมกับบรรทัดฐานและค่านิยมสังคม และเพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา จะเห็นได้ว่า สื่อมีการกำหนดไว้เป็นลายลักอักษรแล้วว่าควรที่จะปฏิบัติอย่างไร แต่พอในความเป็นจริงคนที่ทำงานสื่อไม่เข้าใจว่า คืออะไร ก็จะยังมีการนำเสนอต่อไป ถึงแม้จะมีการหลีกเลี่ยงการใช้คำที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดผลกระทบในด้านต่าง ๆ ซึ่งหากเป็นคู่มือจะไม่ใช่เพียงแค่เป็นบทความที่ให้อ่านอย่างเดียว แต่เป็นคู่มือที่จะให้ทุกคน ทุกภาคสื่อได้เข้าใจอย่างชัดเจน เพราะการที่คนจะเปลี่ยนความคิดได้นั้น ไม่ใช่เพียงพราะต้องการเปลี่ยน แต่ต้องเปลี่ยนมาจากข้างใน คือพวกเขาต้องมีความรู้สึก
ขณะที่ดร.ตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการส่วนไกล่เกลี่ยข้อพิพาท เเละเลขานุการคณะอนุกรรมการ สำนักงาน กสทช. กล่าวว่า ทาง กสทช.และทางรัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ ในการแก้ปัญหาความเท่าเทียมทางสังคม พยายามหาวิธีแก้ไข และมีมาตรการในการใช้กฎหมายมามีส่วนในการตัดสินใจ รวมถึงคุณธรรมจริยธรรม หรือแม้แต่วัฒนธรรมของไทยที่มีมา จะเห็นได้จากการนำเสนอข่าว หรือหนังและภาพยนตร์ที่จะต้องมีการตรวจสอบผ่าน กสทช. ถ้าสื่อไหนไม่ผ่านการอนุมัติ ก็จะไม่ให้นำเสนอ หรืออาจจจะมีการตัดออกบางส่วนเพื่อความเหมาะสม ทั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องเพศทางเลือกแต่รวมถึงความเท่าเทียมในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิมนุษยชน หรือความเหมาะสมด้านต่าง ๆ
“การที่มีหนังสือคู่การปฏิบัติงานสื่อในการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ เป็นสิ่งดีที่สื่อทุกภาคส่วนควรที่จะศึกษาอย่างละเอียด และควรที่จะทำความเข้าใจกับเนื้อหา เพราะคู่มือนี้ไม่ใช่เพียงแค่เป็นคู่มืออย่างเดียว แต่รวมถึงแนวทางในการปฏิบัติและจรรยาบรรณของสื่อ ซึ่งสื่อส่วนมากจะเป็นตัวนำสำคัญในการแสดงความคิดที่หลากหลาย และเป็นสิ่งที่จะชักชวนไปในด้านต่าง ๆ และเป็นประโยชน์ในการเข้าใจถึงวิธีคิด การคัดกรองก่อนนำเสนอ”
ขณะที่นายศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักกิจกรรมอิสระ ตัวเเทนเครือข่ายผู้บริโภคสื่อที่มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า สื่อนับได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กลุ่มคนความหลากหลายทางเพศ มีความเข้าใจผิดทางสังคม ด้วยการใช้คำเหมารวมหรือ การใช้คำพาดหัวข่าว ที่ดูไม่เหมาะสม ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะปัจจัยที่สำคัญ ที่จะทำให้สังคมตีตรา กลุ่มคนเพศทางเลือก เกิดความล้อเลียน เกิดความปลูกฝังในด้านลบ เเละจะเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี เพียงเเค่ต้องการรายได้หรือเรตติ้ง จนลืมนึกถึงความรู้สึก เเละผลกระทบที่จะส่งผลต่อผู้โดนกระทำ
ยกกรณีตัวอย่าง สำนักข่าวที่มีการใช้คำว่า “กระเทย” มาใช้ในข่าวที่ไม่ดี ซึ่งเห็นว่า การใช้คำเหล่านี้เป็นการเหมารวมกับคนอื่นๆที่เป็นกระเทยหรือเพศทางเลือก ซึ่งจะทำให้เกิดภาพรวมในด้านที่ไม่ดี กลับกัน ในขณะที่มีผู้หญิง กลับให้เกียรติและใช้นามสมมติ เห็นได้ชัดความเท่าเทียมแทบไม่มี จึงอยากให้สื่อทุกองค์กร ควรที่จะมีจรรยาบรรณในการรายงานสื่อ ควรหาคำที่เหมาะสม หรือการเขียนที่เป็นกลาง เเละไม่ให้เกิดกระเเสทางด้านลบ เเละสิ่งสำคัญควรสร้างความตระหนักด้านความคิด เเละมุมมองที่ที่เข้าใจในสิ่งที่เป็น รวมถึงอยากให้ทุกฝ่าย ยอมรับเเละเปิดใจกับทุกคน
“อยากให้สื่อมองทุกอย่างไปถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มากกว่าจะเจาะจงไปยังกลุ่มคน เพราะถ้าเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ก็จะไม่เป็นปัญหาในการทำข่าวหรือการตีเเผ่ในเรื่องต่าง ๆ”
ทั้งนี้ ภายในงานได้เปิดตัวคู่มือการปฏิบัติงานสื่อในการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศ เพื่อเป็นแนวทางการนำเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศผ่านสื่อที่เคารพสิทธิมนุษยชนของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ดาวโหลดคู่มือฯได้ที่ https://drive.google.com/…/1s7SxcunzWBumLl8Wy9Z9C1PumNMoIGw
ขอบคุณภาพจาก:https://www.facebook.com/thaitga/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/