ดร.ชยธรรม์ ชี้ปี 2572 ระบบรถไฟฟ้า 10 สายจะเสร็จสมบูรณ์ 464 กิโลเมตร เชื่อคนไทยจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ระบุ อนาคตกลไกรัฐต้องเอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้พัฒนาแบบไร้ทิศทางเช่นทุกวันนี้
วันที่ 29 ตุลาคม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนา ผ่าแผนการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีศาลายาและสถานีธรรมศาสตร์รองรับรถไฟฟ้าสายสีแดง ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา
ตอนหนึ่ง ดร.ชยธรรม์ พรหมศร รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน (ศาลายา-ตลิ่งชัน-ศิริราช) ผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว ซึ่งการวางแผนพัฒนาเมืองพื้นที่ปลายทางถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เช่นเดียวกับรถไฟสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ผ่านครม.แล้วเช่นกัน กำลังอยู่ในช่วงดำเนินการสร้าง
"รัฐบาลมีโครงการสร้างรถไฟฟ้า 10 สายในเมือง 464 กิโลเมตร เหตุผลหลักเพื่อแก้ปัญหาจราจร ลดมลภาวะ ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 120 กิโลเมตร หรือ 25% ได้แก่ สายสีเขียว สายสีม่วง สายสีน้ำเงิน และสายแอร์พอร์ตลิงก์ กำลังอยู่ในช่วงก่อสร้าง 170 กิโลเมตร ได้แก่ สายชมพู สายสีเหลือง สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย สายสีเขียวส่วนต่อขยาย และสายสีส้ม ซึ่งจะทยอยเปิดทุกปีต่อจากนี้ไป เพิ่มประมาณ 20 กว่ากิโลเมตร "
ดร.ชยธรรม์ กล่าวว่า ปี 2572 ระบบรถไฟฟ้าน่าจะเสร็จสมบูรณ์ 464 กิโลเมตร หากระบบรถไฟฟ้าเชื่อมโยงกันครบทั้ง 10 สาย เชื่อว่า รุ่นลูกหลานจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ
รักษาราชการแทน ผอ.สนข. กล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่รอบสถานี หรือ Transit Oriented Development (TOD) เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งการวางแผน และออกแบบเป็นขั้นเป็นตอน จัดชุมชนใหม่ โดย TOD ถือเป็นแนวทางการพัฒนาพื้นที่เมือง หรือชุมชนแบบผสมผสานเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายทั่วโลก โดยศึกษาถึงรูปแบบการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เส้นทางการสัญจร ทั้งการเดินเท้า การเดินทางโดยใช้เครื่องยนต์และไม่ใช้เครื่องยนต์ ไม่ใช่ปล่อยให้พัฒนาแบบไร้ทิศทาง
"เราลงทุนหลายแสนล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ผลกำไรกลับมาคือการพัฒนาเมืองที่ประชาชนจะได้ประโยชน์" ดร.ชยธรรม์ กล่าว และว่า ฉะนั้น อนาคตประเทศไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายพิเศษ TOD เพื่อเป็นเครื่องมือให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟ ทั้งรถไฟระหว่างเมือง และรถไฟในเมือง ซึ่งการเวนคืน จะเป็นไปไม่ได้แล้ว ต้องหาวิธีการใหม่ที่สร้างความเป็นธรรมและแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/