สถานการณ์ความยากจนปี 2560 แบ่งตามภาค พบคนจนยังกระจุกตัวหนาแน่นอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 12.96 ภาคใต้ร้อยละ 12.35 ภาคเหนือร้อยละ 9.83 ภาคกลางร้อยละ 5.20 และกรุงเทพ ร้อยละ 1.36 - "แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬสินธุ์ ตาก และบุรีรัมย์" จังหวัดยากจนเรื้อรัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมาธิการพัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาเรื่อง สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2560-2562 โดยนางสาวมนต์ทิพย์ สัมพันธวงศ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม ผู้แทนเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ
สำหรับสถานการณ์ความยากจน ภาพรวมในประเทศไทย พบว่า ในระยะ 30 ปี ที่ผ่านมาความยากจนของคนไทยดีขึ้นตามลำดับ เมื่อเทียบกับสัดส่วนความยากจนปี 2531 เท่ากับร้อยละ 65.17 เหลือร้อยละ 7.87 ในปี 2560 จำนวนลดลงจาก 34.1 ล้านคน เหลือ 5.3 ล้านคน
สำหรับสถานการณ์ความยากจนปี 2560 แบ่งตามภาค พบว่า คนจนยังกระจุกตัวหนาแน่นอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 12.96 ภาคใต้ร้อยละ 12.35 ภาคเหนือร้อยละ 9.83 ภาคกลางร้อยละ 5.20 และกรุงเทพมหานครร้อยละ 1.36
หากพิจารณาความยากจนในระดับจังหวัด พบว่า มีจังหวัด แม่ฮ่องสอน นราธิวาส ปัตตานี กาฬสินธุ์ ตาก และบุรีรัมย์ เป็นจังหวัดที่มีปัญหาความยากจนเรื้อรัง
จังหวัดยากจนเรื้อรังมีความคล้ายกันในด้านโครงสร้าง คือ จะมีแรงงานประมาณร้อยละ 20-70 อยู่ในภาคเกษตร ซึ่งรายได้ (GDP) ภาคเกษตรของจังหวัดคิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่าร้อยละ 35 อีกทั้งลักษณะทางภูมิศาสตร์ของบางจังหวัดอาจเป็นปัญหาต่อการเข้าถึงการพัฒนา เช่น แม่ฮ่องสอน ซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและเป็นที่ราบสูง มีการเดินทางที่ลำบากทำให้การพัฒนาพื้นที่ทำได้ยาก ขณะที่จังหวัดนราธิวาส และปัตตานี เป็นเรื่องความมั่นคง 3 จังหวัดชายแดนใต้
ลักษณะความยากจน ส่วนใหญ่ร้อยละ 77.7 ของคนจนจบการศึกษาระดับประถมศึกษาและต่ำกว่า ซึ่งได้รับค่าจ้างแรงงานประมาณ 8,126 บาทต่อเดือน ในขณะที่คนจบการศึกษาสูงระดับอุดมศึกษา จะได้รับค่าจ้างแรงงาน 25,204 บาทต่อเดือน
คนยากจนส่วนใหญ่ทำอาชีพอิสระไม่ได้รับสวัสดิการในการทำงานและหลักประกันในด้านรายได้อย่างเหมาะสม คนที่มีครอบครัวยากจนส่วนใหญ่ไม่มีการถือครองที่ดินของตนเอง ไม่มีที่อยู่อาศัย และไม่มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนกู้ยืม
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการมีข้อเสนอแนะ ควรมีแผนระยะยาวที่เป็นนโยบายของรัฐในการกระจายโอกาสทางด้านการศึกษา การเข้าถึงการบริการด้านการศึกษา เพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยรัฐควรจัดให้มีสถาบันการศึกษาที่เป็นวิทยาลัยการอาชีพ จัดตั้งอยู่ในทุกอำเภอ เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงและยั่งยืน
ขอบคุณภาพจาก:https://www.stou.ac.th/Study/Services/Sec/60335/03-07.html
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/