" บิ๊กป้อม" ระบุชัด รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญปัญหาอุบัติเหตุทางถนน หลังพบแต่ละปีคนไทยกว่า 2 หมื่นเสียชีวิต มีผู้พิการรายใหม่อีกกว่า 6 พันคน กระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมกว่า 5 แสนล้านบาทด้านผู้จัดการ ศวปถ.โชว์ตัวเลขกลุ่มเปราะบางเสี่ยงบาดเจ็บ เสียชีวิตมากสุด
วันที่ 7 ส.ค. 2562 ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ตลอดจนภาคีเครือข่าย จัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 14 ภายใต้หัวข้อ “เดิน ขี่ ขับ ไป-กลับ ปลอดภัย” (Play your part and share the road) ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กทม.
พล. อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ประธานเปิดงานและประธานในพิธีมอบรางวัล กล่าวว่า ภาพรวมทุกประเทศทั่วโลก ผู้ใช้รถจักรยานยนต์ คนเดินถนน และผู้ใช้จักรยานเสียชีวิตเฉลี่ยร้อยละ 49 ซึ่งไทยมีสัดส่วนเสียชีวิตสูงกว่าทั่วโลกเกือบ 2 เท่า ถ้านับเฉพาะอัตราการเสียชีวิตในกลุ่มรถจักรยานยนต์จะสูงถึง 24. 3 ต่อประชากรแสนคน มากเป็นอันดับ 1 ของโลก
พลเอกประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากแต่ละปีคนไทยกว่า 20, 000 คน ต้องเสียชีวิตและมีผู้พิการรายใหม่อีกกว่า 6,000 รายส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ร่วมขับเคลื่อนการแก้ปัญหาตามแนวทาง 5 เสาหลักที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้ใน "ทศวรรษความปลอดภัยทางถนน" พ. ศ. 2554 2563 (Decade of Action for Road Safety 2011-2020) อีกทั้งยังนำเรื่องความปลอดภัยทางถนนมากำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573
นพ. ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศวปถ.กล่าวถึงตัวเลขจากการบูรณาการข้อมูลสถานการณ์เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ระหว่างปี 2554-2560 พบว่าส่วนใหญ่ร้อยละ 80-85 เป็นกลุ่มผู้ใช้รถใช้ถนนที่มีความเปราะบาง ได้แก่ ผู้ใช้รถจักรยานยนต์เสียชีวิตมากที่สุดถึง 46, 656 คน คนเดินเท้า 5, 375 คน และผู้ใช้รถจักรยานอีกกว่า 659 คน สะท้อนให้เห็นว่า คนมีความเปราะบางและเสี่ยงต่อการบาดเจ็บเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน
"ข้อเท็จจริงคือคนสามารถผิดพลาดได้ (human make error) แต่ไม่ควรมีใครต้องบาดเจ็บจนนำไปสู่การเสียชีวิต ประเทศไทยต้องการระบบความปลอดภัย (safe system approach) เพื่อป้องกันและลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น"
ผู้จัดการ ศวปถ. กล่าวถึงการจัดสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนนช่วยเปิดโอกาสให้คณะทำงานทั้งส่วนกลางและพื้นที่ได้นำความรู้แนวทางและรูปแบบการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ไปเผยแพร่และปฏิบัติให้เหมาะสมกับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในพิธีเปิดสัมมนาฯ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยและสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทยมีการเปิดเผยข้อมูลอุบัติเหตุบนถนนเด็กไทยในปี 2560 พบเด็กและเยาวชนอายุ 15-19 ปีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 2,609 รายเพิ่มขึ้นจาก 5 ปีที่แล้วคิดเป็นร้อยละ 30 และเด็กที่มีอายุ 10-14 ปีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนจำนาน 727 ราย เพิ่มขึ้นจาก 5 ปีที่แล้ว คิดเป็นร้อยละ 38 จึงจัดทำข้อเสนอให้รัฐบาลบรรจุ "วาระเรื่องความปลอดภัยทางถนนของเด็กและเยาวชน" ไว้ในแผนงานของกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1. จัดให้มีทางเลือกในการเดินทาง 2. จัดให้มีการเรียนรู้ความเสี่ยงและทักษะการขับขี่ตั้งแต่ปฐมวัย และ 3. จัดตั้งกลไกอนุกรรมการด้านความปลอดภัยของเด็กและเยาวชนในศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนส่วนกลางและทุกจังหวัดโดยมีเครือข่ายสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยเป็นอนุกรรมการฯ