กระทรวงแรงงาน รับลูกมาตรการป้องกันทุจริตบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ป.ป.ช. 'พิพัฒน์ รัชกิจประการ' รมว. สั่งกลางวงประชุม กำชับทุกหน่วยงานในสังกัด ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว มีส่วนร่วมกระทำความผิด พบใครหย่อนยาน บกพร่อง ปล่อยปละละเลย จัดการเด็ดขาด อาญา-วินัย-โทษทางปกครอง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่ข่าวที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) รับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งกำชับทุกหน่วยงานในสังกัด ไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว มีส่วนร่วมกระทำความผิด หากพบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หย่อนยาน หรือปล่อยปละละเลยหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ให้พิจารณาข้อบกพร่องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และผู้บังคับบัญชาผู้มีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแลทุกกรณีอย่างเด็ดขาด ทั้งทางอาญา ทางวินัย หรือทางปกครอง
สำนักงาน ป.ป.ช. ระบุว่า เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา นางสาวลัดดา เดือนสว่าง ผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม สำนักงาน ป.ป.ช. และคณะ ร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ณ ห้องประชุม ศ. นิคม จันทรวิทุร โดย มีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอต่อคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 รับทราบมาตรการฯ ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี
กระทรวงแรงงาน โดยกรมจัดหางาน ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ และได้นำเสนอผลการพิจารณาต่อที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (คบต.) ในครั้งนี้ ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานการประชุมได้กำชับหน่วยงานในสังกัด และขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ทุกหน่วยงานต้องกำชับให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ควบคุม กำกับ ดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างใกล้ชิด และกำชับเจ้าหน้าที่มิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดในกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ตลอดจนให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริตและเต็มกำลังความสามารถ หากพบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่หย่อนยาน หรือปล่อยปละละเลยหรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ให้พิจารณาข้อบกพร่องเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และผู้บังคับบัญชาผู้มีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแลทุกกรณีอย่างเด็ดขาด ทั้งทางอาญา ทางวินัย หรือทางปกครอง
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน โดยกรมจัดหางาน จะได้นำผลการพิจารณาต่อมาตรการป้องกันการทุจริตในกระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานลงนามเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีประกอบการพิจารณามาตรการฯ ต่อไป