พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากจะใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดฯแล้ว ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าในยามค่ำคืนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการปิดแหล่งท่องเที่ยว และสถานบันเทิงต่างๆ รวมไปถึงการคมนาคมในช่วงเวลาดังกล่าว
เป็นเวลากว่า 100 วันแล้ว ที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด -19 ลุกลามไปทั่วทุกมุมโลก ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 1.5 ล้านคน เสียชีวิตเป็นใบไม้ร่วง พุ่งเกินหลักแสนคนแล้ว
ในประเทศไทย ก็ไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ ที่เรากำลังสู้รบกับศัตรูตัวเล็กๆ ที่มองไม่เห็น เพื่อความปลอดภัยของประชาชน และลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรค จากสถิติพบว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ มาจากการไปพื้นที่เสี่ยง จนเป็นที่มาของการประกาศปิดสถานบันเทิง ก่อนขยายมาปิดห้างสรรพสินค้า โรงมหรสพ ในหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศ
กระทั่ง ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มพุ่งทะยาน วันที่ 26 มีนาคม 2563 รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และวันที่ 3 เมษายน ประกาศเคอร์ฟิว 4 ทุ่ม-ตี 4 ห้ามบุคคลทั่วราชอาณาจักรออกจากเคหสถานเป็นเวลา 6 ชั่วโมง
กิจกรรมยามค่ำคืนที่ลดลงด้วยมาตรการดังกล่าว สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า โชว์ภาพถ่าย "ดาวเทียม" ภาพถ่ายจากดาวเทียม Suomi Npp ระบบเวียร์ (VIIRS) ซึ่งได้บันทึก "Night Light" หรือไฟกลางคืน " ในช่วงเวลา 01.00 - 02.00 น. เพื่อดูอัตราการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมทั้งประเทศ เปรียบเทียบใน 3 ช่วงเวลา ได้แก่
- ช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 โดยบันทึกภาพวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2562
- ช่วงสถานการณ์ที่กำลังแพร่ระบาดก่อนประกาศ พ.ร.ก. โดยบันทึกภาพวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563
- และช่วงสุดท้าย เป็นช่วงเวลาหลังจากประกาศ พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยบันทึกภาพวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2563
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เราได้เห็นพฤติกรรมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากทุกภาคส่วนในยามค่ำคืนของคนไทยลดลง ทั้งจากการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม การคมนาคม กลุ่มธุรกิจต่างๆ ตลอดจนระบบไฟฟ้าสาธารณะ จาก 2 ภาพแรก หากเรามองด้วยตาเปล่าจะสังเกตได้ว่า ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็มีแต่แสงสว่างตลอดในช่วงเวลากลางคืน
จิสด้า ระบุว่า สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ หน่วยงานต่างๆ และประชาชนได้ให้ความร่วมมือในการลดการแพร่ระบาดฯ สังเกตุได้จากภาพวันที่ 9 เมษายน ที่มีจำนวนการใช้ไฟฟ้าลดลง นั่นหมายความว่า พ.ร.ก.นอกจากจะใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดฯแล้ว ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการใช้พลังงานไฟฟ้าในยามค่ำคืนอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการปิดแหล่งท่องเที่ยว และสถานบันเทิงต่างๆ รวมไปถึงการคมนาคมในช่วงเวลาดังกล่าว
หมายเหตุ ด้านขวาของภาพวันที่ 9 เมษายน 2563 บริเวณพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้าน ที่เห็นเป็นกลุ่มก้อนหนาๆ
เป็นบริเวณกว้างไม่ใช่แสงไฟแต่อย่างใด แต่เป็นภาพที่ถ่ายแล้วติดกลุ่มเมฆที่ค่อนข้างหนา และอาจมีฝนตกร่วมด้วยในบริเวณนั้น
โควิด ลดเดินทาง ทำงานที่บ้าน มลพิษในอากาศดีขึ้น
นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนานับประการ ทั้งในทิศทางที่แย่ลงและในทางที่ดีขึ้น เมื่อกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ลดลง ธรรมชาติก็ค่อยๆฟื้นตัว
ข้อมูลจากดาวเทียม Sentinel-5 ขององค์การอวกาศยุโรป (ESA) จีสด้า เผยให้เห็นแหล่งกำเนิดและความหนาแน่นเฉลี่ยรายเดือนของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ในบรรยากาศของช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม ของปี 2562 เปรียบเทียบกับ 2563 บริเวณตอนกลางของประเทศไทย
จะเห็นว่า ภาพรวมของทุกพื้นที่ในภาพดังกล่าว ปริมาณความหนาแน่นของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคมของทั้ง 2 ปี โดยเฉพาะในเดือนมีนาคม 2563 มีการลดลงมากอย่างเห็นได้ชัด
โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ค่าสูงสุดของเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ประมาณ 190 µmol/m² และต่อมาค่าสูงสุดของเดือนมีนาคม 2563 ลดเหลืออยู่ที่ประมาณ 130 µmol/m²
อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กิจกรรมต่างๆของเราเริ่มยุติลงเนื่องจากมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 เช่น ลดการเดินทาง ทำงานที่บ้าน ปิดสถานที่สาธารณะ เป็นต้น ส่งผลให้ปริมาณการเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาสภาพอากาศลดลงตามมาด้วยนั่นเอง
ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดคุณภาพอากาศ ที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลง โรงงานอุตสาหกรรม การขนส่ง การเดินทาง เป็นต้น ซึ่งก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มีศักยภาพสูงในการสร้างมลพิษจึงจัดว่า เป็นหนึ่งในก๊าซที่ทำให้เกิดมลพิษในอากาศและเป็นอันตรายต่อมนุษย์
ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) เป็นสาเหตุของโรคทางเดินหายใจและความเสียหายต่อปอด หากรับเข้าไปแบบเฉียบพลัน และเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเรื้อรังหากรับเข้าไปในระยะยาว และยังนำไปสู่การก่อตัวของ PM2.5 และโอโซน ซึ่งมลพิษทางอากาศที่มีบทบาทสำคัญต่อผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน.