เงินติดล้อ นำหลักสูตร การให้ความรู้ทางการเงินเพื่อประกอบอาชีพ มาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการกำลังใจ ในพระดำริ ภายใต้ “หลักการเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อช่วยให้ผู้ก้าวพลาดเข้าใจถึงต้นทุนประเภทต่างๆ การบริหารต้นทุนเพื่อเพิ่มกำไร การบริหารค่าใช้จ่ายส่วนตัวเพื่อการออมและการเขียนแผนธุรกิจ
“ยิ่งเจอพวกเขาหลายๆ กรณี เราจะยิ่งรู้ว่า ความรู้ทางการเงินสำคัญมาก เรื่องง่ายๆ ในชีวิตประจำวันที่พวกเรามอง ทำไมคิดไม่ได้ล่ะ ? เขาคิดไม่ได้จริงๆ เพราะวงจร หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวเขาไม่เอื้อให้ได้เรียนรู้ หรือมองเห็นหนทางที่ถูกต้อง”
“เราต้องการให้โครงการสร้างความรู้พื้นฐานทางการเงินเพื่อประกอบอาชีพแก่ผู้ก้าวพลาดนี้ มีความยั่งยืน หมายความว่า เรื่องการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ การกู้ไป เขาต้องได้รับสภาพเหมือนเป็นจริง เป็นลูกค้าปกติเหมือนคนทั่วไป วันนี้เราสอนเขาตกปลา อนาคตเขาสามารถหาทางกินเองได้ แต่หากเราตกปลา แล้วให้เขาไปเลย เขากินมื้อเดียวอิ่ม จากนั้นเขาหากินไม่เป็นแล้ว”
“พุฒิพงศ์ ภักดีพิพัฒน์กุล” ผู้อำนวยการอาวุโสสื่อสารสาขาและพัฒนาศักยภาพผู้นำฝ่ายขาย บริษัท เงินติดล้อ จำกัด ให้ข้อมูลถึงแนวคิด และกิจกรรมที่เงินติดล้อ เข้ามาร่วมมือกับโครงการกำลังใจในพระราชดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ย่างเข้าปีที่ 2 ผ่าน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การให้ความรู้ทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพ การให้สินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ และการสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากฝีมือกลุ่มผู้ก้าวพลาดๆ
หนึ่งในปัญหาของผู้ที่ก้าวพลาด เวลาพ้นโทษออกไป และกลายเป็นปัญหาระดับชาติ นั่นก็คือ การคืนคนดีสู่สังคม ถามว่า คืนคนดีสู่สังคมอย่างไร ให้เขาเหล่านั้นยืนอยู่ในสังคมได้อย่างแข็งแรง พุฒิพงศ์ บอกว่า เขาอยากเห็นผู้ก้าวพลาดออกไปแล้ว เลี้ยงตัวเองรอด เงินติดล้อจึงผสมผสานกิจกรรม “นำความรู้สู่ชุมชน เพื่อชีวิตหมุนต่อได้” มาปรับใช้ เพราะเห็นว่า ความรู้ในการบริหารทางการเงินที่ถูกต้อง เป็นการติดอาวุธสำคัญให้กับพวกเขาเหล่านั้น
อีกปัญหาหนึ่งของผู้ก้าวพลาด คือ เขาได้รับความรู้ในการประกอบอาชีพ ทั้งงานหัตถกรรม การทำการเกษตร การทำขนม แต่ก็พบว่า เมื่อออกไปประกอบอาชีพจริงๆ ต้องเจอสถานการณ์การคิดต้นทุน กำไร การตั้งราคา รวมไปถึงวัตถุดิบจะซื้อที่ไหน ค่าใช้จ่ายดำเนินการเป็นอย่างไร
เหตุนี้เอง เงินติดล้อ นำหลักสูตร การให้ความรู้ทางการเงินเพื่อประกอบอาชีพ มาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการกำลังใจ ในพระดำริ ภายใต้ “หลักการเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อช่วยให้ผู้ก้าวพลาดเข้าใจถึงต้นทุนประเภทต่างๆ การบริหารต้นทุนเพื่อเพิ่มกำไร การบริหารค่าใช้จ่ายส่วนตัวเพื่อการออมและการเขียนแผนธุรกิจ
ในหลักสูตรดังกล่าว เน้นเนื้อหา...
- เรื่องต้องรู้ก่อนประกอบอาชีพ มุ่งให้ผู้เรียนทำความเข้าใจเบื้องต้นกับอาชีพต่างๆ ว่า หากต้องการจะเริ่มต้นลงทุนในอาชีพนั้นๆ แล้วจะต้องเตรียมการอย่างไรบ้าง โดยเน้นไปที่ต้นทุนของแต่ละอาชีพ ผ่านการระดมความคิดเห็นของผู้เรียน เช่น วัตถุดิบประเภทต่างๆ อุปกรณ์ สถานที่ ทำเลที่ตั้งการขาย หลังจากระดมความคิดแล้ว ผู้เรียนยังได้วิธีคิด “ต้นทุนคงที่” หรือ “ต้นทุนผันแปร”
- ชวนคิดจากอาชีพตัวอย่าง ผ่านโมเดล ธุรกิจขายลูกชิ้นปิ้ง ได้ฝึกฝนการแยกประเภทต้นทุนคงที่ ต้นทุนผันแปร และการประมาณต้นทุนด้วยตัวเองวิธีการเพิ่มกำไร เรียนรู้วิธีการลดต้นทุน การเพิ่มยอดขาย การเพิ่มมูลค่าของสินค้า
นอกจากนี้ ผู้เรียนยังต้องประมาณการค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการใช้ชีวิต และการออมเพื่ออนาคตได้
- แผนธุรกิจ เน้นให้ผู้เรียนลงมือวางแผนการทำธุรกิจด้วยตัวเอง โดยพิจารณาถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการทำธุรกิจ ลักษณะธุรกิจที่ต้องทำ ผ่านการเขียนแผนธุรกิจ
หลังจากผ่านการอบรมไปแล้ว พุฒิพงศ์ บอกว่า เงินติดล้อยังเปิดโอกาส โดยสนับสนุนทางการเงินผู้ก้าวพลาดที่มีแผนธุรกิจ หรืออยากจะออกไปต่อยอดธุรกิจของครอบครัว
"แต่ก่อนอื่นเราจะให้ความรู้เขาก่อนว่า อยากให้เขาออกไปเผชิญกับโลกความเป็นจริง ฝึกประสบการณ์ หรือใช้แรงก่อน หากอยากทำธุรกิจอะไรให้ไปเป็นลูกจ้างธุรกิจนั้นๆก่อน แล้วคุณจะได้ความรู้นั้นมา"
ปัจจุบัน เงินติดล้อมีการปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ก้าวพลาดไปแล้ว ประมาณ 4-5 ราย วงเงินต่ำสุด 25,000 บาท สูงสุด 70,000 บาท แม้ดูวงเงินไม่มากนัก แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี บางรายผ่อนชำระไปแล้ว 8 งวด เป็นหนี้ปกติ
"ไม่ใช่ทุกคนจะต้องการเงินทุน บางคนต้องการแค่ความรู้ทางการเงิน" ผอ.อาวุโสสื่อสารสาขาและพัฒนาศักยภาพผู้นำฝ่ายขาย บริษัท เงินติดล้อ จำกัด เล่า และว่า มีบางรายที่เราแนะนำถึงขนาดที่ว่า หากขอกู้แบบนี้ แต่ภาระหนี้ที่มีอยู่ เช่น มีผ่อนรถ 2 คัน บอกตรงๆ เลยว่า ไม่รอด
"พี่ไปอย่างนี้ไม่ได้นะ พี่ต้องปลดหนี้ ผ่อนไม่ไหว คืนรถไป อย่าเป็นหนี้หลายทาง แล้วถึงจะรอด เราคำนวณให้เขาเห็นเลย ด้วยรายได้แบบนี้ ผ่อนเท่านี้ รอดไหม ส่วนใหญ่ที่เจอ คือ การก่อหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สินค้าฟุ่มเฟือย ซื้อโทรศัพท์แพง ซื้อรถยนต์ เป็นต้น"
นอกจากเรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จังหวัดเชียงราย ยังมีเรือนจำชั่วคราวเขาระกำ จังหวัดตราด เรือนจำชั่วคราวแคน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์ เรือนจำชั่วคราวโคกตาบัน จังหวัดสุรินทร์ และเรือนจำชั่วคราว จังหวัดชัยนาท ที่เงินติดล้อเข้าไปจัดกิจกรรมความรู้ทางการเงินโดยตรงแก่ผู้ก้าวพลาด
รวมไปถึงการจัดอบรม Train the Traniner ให้ความรู้แก่ผู้คุมเรือนจำ และผู้คุมประพฤติอาสาสมัคร เพื่อให้สามารถส่งต่อความรู้พื้นฐานด้านการเงิน ตลอดจนให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่ผู้ก้าวพลาดได้ด้วยตนเอง
นี่คือกิจกรรมเพื่อให้หนึ่งชีวิตเดินต่อได้ นอกจากการให้กำลังใจ การหยิบยื่น "โอกาส" ก็สำคัญไม่แพ้กัน สำหรับพวกเขาที่เคยเป็น"ผู้ก้าวกพลา่ด" ...
บริษัท เงินติดล้อ จำกัด นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมกิจกรรม สร้างความรู้พื้นฐานทางการเงินเพื่อการประกอบอาชีพแก่ผู้ก้าวพลาด
ณ เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง จังหวัดเชียงราย โดยนายภวัต พลวัฒน์ หัวหน้าเรือนจำชั่วคราวดอยฮาง นำชมบริเวณโดยรอบ
ศูนย์เรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรดอยฮาง
ตั้งอยู่ภายในพื้นที่เรือนจำชั่วคราวดอยฮาง สังกัดเรือนจำกลางเชียงราย มีพื้นที่กว่า 75 ไร่
ร้านกาแฟ inspire by princess โครงการกำลังใจฯ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/