หากการทำเกษตรยังเป็นแบบนี้ต่อไป จะเป็นกลไกสำคัญทำให้เกษตรกรติดอยู่ใน 'วงจรหนี้' จากข้อมูลสินเชื่อเกษตรกรตัวอย่าง 1 ล้านราย พบมีมูลหนี้เฉลี่ยสูงเกือบ 2.7 แสนบาท/หัว ส่วนใหญ่มาจากหนี้ที่ก่อมาทำการเกษตรทุก ๆ ปี ค้างมาเรื่อย ๆ อึ้ง!อายุมากมูลหนี้ยังคงสูง
เกิดอะไรขึ้นภาคเกษตรไทยที่ใช้แรงงานสูงถึง 1 ใน 3 ของประเทศ แต่กลับมีสัดส่วนในมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพียง 1 ใน 10 และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจอื่น
เหตุใดผลิตภาพและคุณภาพของสินค้าเกษตรไทยส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และไม่มีพัฒนาการมากนัก จากอดีตถึงปัจจุบันเมื่อเทียบกับต่างประเทศ
และเหตุใดเกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงเลือกที่จะทำเกษตรแบบมหาชน ที่ได้ผลตอบแทนต่ำ ความเสี่ยงสูง ยังคงมีรายได้น้อย และมีความเปราะบางสูงต่อปัจจัยแวดล้อมต่างๆ สวนทางกับงบประมาณภาครัฐที่ใช้ไปเป็นจำนวนมากทุกปี
เมื่อเร็วๆ นี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย จัดงาน BOT Symposium 2019 พลิกโฉมเศรษฐกิจ พิชิตการแข่งขัน Competitive Thailand ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ หนึ่งในหัวข้องานวิจัยที่มีการนำเสนอ คือ เรื่อง "ภูมิทัศน์ภาคเกษตรไทย จะพลิกโฉมอย่างไรสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน?" (Farms, Farmers and Farming: a Perspective through Data and Behavioral Insights ) โดยคณะวิจัย ประกอบด้วย ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ นายจิรัฐ เจนพึ่งพร ธนาคารแห่งประเทศไทย รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ....มีคำตอบ
นายจิรัฐ หนึ่งในคณะผู้วิจัย เริ่มต้นชี้ให้เห็นถึง "สัญญาณเตือน" การส่งออกรายสินค้า ตัวที่เราเคยเป็นแชมป์ ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ยางพารา หรือมันสำปะหลัง หากดูระยะยาว ส่วนแบ่งทางการตลาดเริ่มมีแนวโน้มลดลง
ในอดีตประเทศไทยเคยมีการขยายตัวของปัจจัยเชิงคุณภาพในระดับต้น ๆ ของโลก แต่กลับตกลงมาอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องจนถูกประเทศเพื่อนบ้านแซงหน้า
ถามว่า ภาคการเกษตรไทยกำลังสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันใช่หรือไม่ นักวิจัย ชี้ให้ดูกราฟว่า สมัยก่อนเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของภาคเกษตรไทย ทั้งระบบชลประทาน และพื้นที่เพาะปลูกใหม่ ปัจจุบันเครื่องยนต์ 2 เครื่องนี้ดูเหมือนจะดับไปแล้ว ด้วยที่ดินมีจำกัด ดังนั้นหากภาคเกษตรไทยจะไปต่อได้ ตัวเดียวที่ทำให้ไปต่อได้ คือผลิตภาพรวม (Total factor productivity (TFP) Growth )
"60 ปีที่ผ่านมา ตัว TFP ก็ดูไม่ค่อยสดใสมากนัก การเติบโตของ TFP อยู่แค่ 2% นี่จึงเป็นความท้าทายหากเราต้องการยกระดับการแข่งขันภาคเกษตรไทย เราต้องยกระดับการเติบโต TFP เราจะทำได้หรือไม่"
เกิดอะไรขึ้นกับภาคเกษตรไทย และเราจะทำอย่างไรที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยแข่งได้นั้น งานวิจัยชิ้นนี้ ใช้ข้อมูลเกษตรขนาดใหญ่ของประเทศหลากหลายฐานที่สำคัญของประเทศ เพื่อมา ”ต่อจิ๊กซอ” ภาพใหญ่ของปัญหาในภาคเกษตรไทย รวมถึงใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์เพื่อค้นหาปัจจัยที่ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อผลิตภาพของครัวเรือนเกษตรไทย เพื่อเจาะลึกลงไปว่า นโยบายควรเริ่มจากอะไร และมีตัวช่วยอะไรบ้าง
ในส่วนสุดท้ายงานวิจัยนี้ได้ใช้การทดลองภาคสนาม หรือ lab in the field experiment เพื่อมาเข้าใจว่าจะนำตัวช่วยไปใช้กับเกษตรกรในวงกว้างได้อย่างไรผ่านความเข้าใจถึงแรงจูงใจของเกษตรกรโดยใช้หลักคิดทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
งานวิจัยนี้ใช้ข้อมูลจาก 6 แหล่งที่สำคัญของประเทศ ซึ่งเมื่อนำมาบูรณาการร่วมกัน ทำให้สามารถศึกษามิติต่าง ๆ ของภาคเกษตรไทยได้อย่างความละเอียดในระดับแปลง ครัวเรือน และแรงงานเกษตร ตลอดถึงครอบคลุมเกษตรกรกว่าร้อยละ 90 ของเกษตรกรทั่วประเทศ ในระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา ได้แก่ 1) ทะเบียนเกษตรกร จากกรมส่งเสริมการเกษตร 2) สำมะโนเกษตร จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ 3) สถิติหนี้สินของเกษตรกร จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 4) การเข้าร่วมนโยบายภาครัฐ จากกรมส่งเสริมการเกษตร 5) สำรวจเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนเกษตร และ 6) ผลิตภาพรายพืชรายอำเภอ และราคาพืชผลหน้าฟาร์มรายเดือนจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
เกิดอะไรขึ้นกับฟาร์มของเกษตรกรไทย ?
งานวิจัยพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ของไทยเป็น "รายย่อย " กว่าครึ่งมีทำเกษตรน้อยกว่า 10 ไร่ (ถือครองที่ดินไม่ถึง 10 ไร่) และมีเพียง 20% ที่ทำเกษตรมากกว่า 20 ไร่ ซึ่งอาจจะไม่ได้รับประโยชน์จากการประหยัดต่อขนาด (Economies of scale)
เกษตรกรรายใหญ่ที่มีที่ดินเกิน 40 ไร่ กระจุกตัวอยู่ภาคกลาง
งานวิจัย ยังแสดงให้เห็นเกี่ยวกับฟาร์มกับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตที่สำคัญ คือที่ดิน และน้ำ
ในการเข้าถึงทรัพยากรและเทคโนโลยีต่าง ๆ พบว่า เกษตรกรในภาคเหนือตอนล่างและกลางตอนบนจะมีขนาดที่ดินใหญ่กว่าภูมิภาคอื่น ๆ
เกษตรกรไทยกว่า 40% ยังคงไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินทำกินอย่างสมบูรณ์
กว่า 58% ยังเข้าไม่ถึงชลประทานและแหล่งน้ำ การเข้าถึงระบบชลประทานกระจุกตัวพื้นที่ภาคกลาง
นอกจากนี้ พื้นที่เกษตรของไทยผจญกับภัยธรรมชาติในความถี่สูงขึ้นและรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากภัยแล้งและน้ำท่วม มีข้อมูล 12 ปีล่าสุด เกิดภัยพิบัติทุกปี บางปีขยายวงกว้่างกว่า 10 ล้านไร่ ฉะนั้นในอนาคตหากภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงมากขึ้น รุนแรงขึ้น คณะผู้วิจัยตั้งเป็นคำถาม เกษตรกรไทยจะรับมือกับสภาพภูมิอากาศอย่างไร ?
เกิดอะไรขึ้นกับเกษตรกรของไทย?
ดร.โสมรัศมิ์ ระบุว่า ภาคเกษตรไทยกำลังเผชิญกับการเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งคือปัญหาเชิงโครงสร้างและความท้าทายที่สำคัญ งานวิจัยพบว่า ภาคเกษตรไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยในอัตราที่เร็วกว่าประเทศไทยโดยรวม
จาก 15 ปีที่ผ่านมา พบสัดส่วนแรงงานอายุน้อย (ต่ำกว่า 40 ปี) ลดลงอย่างมากสวนทางกับสัดส่วนแรงงานสูงวัย (มากกว่า 60 ปี) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเช่นกัน และปัญหาสูงวัยได้แทรกซึมเข้าไปสู่ครัวเรืองเกษตรอย่างกว้างขวาง โดยกว่าครึ่งของครัวเรือนเกษตรไทยจะมีแรงงานสูงวัย และมีหัวหน้าครัวเรือนที่แก่ขึ้น
งานวิจัยอีกชิ้นของ PIER ก็ได้แสดงให้เห็นว่า ครัวเรือนที่มีหัวหน้าครัวเรือนสูงอายุมักใช้เทคโนโลยีน้อยกว่า และมีผลิตภาพที่ต่ำกว่าครัวเรือนอื่น ๆ
อย่างไรก็ดี งานวิจัยนี้ก็ยังพบว่า แรงงานเกษตรไทยมีการศึกษาที่สูงขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่สำคัญของภาคเกษตรไทย ในยุคที่เราพยายามส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาเพิ่มผลิตภาพ
เกิดอะไรขึ้นกับการทำการเกษตรของไทย?
งานวิจัยพบว่า การใช้เทคโนโลยี หรือเครื่องจักรกลสมัยใหม่ ยังมีความแตกต่างกันมากระหว่างฟาร์มขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ระหว่างพื้นที่ และระหว่างกิจกรรมการเกษตรต่าง ๆ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดร.โสมรัศมิ์ ระบุว่า มีการใช้เครื่องจักรกลมากกว่าภาคอื่นๆ ซึ่งอาจเนื่องมาจากฐานในอดีตมีการใช้เครื่องจักรกลที่น้อยกว่า
และนี่คืออีกหนึ่งความท้าทายภาคการเกษตรไทยทำอย่างไรให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ?
ขณะเดียวกัน ทุกวันนี้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงทำการผลิตแบบเดิม ๆ โดยเฉพาะการปลูกพืชเชิงเดี่ยว (ปลูกข้าว) แทบทุกจังหวัด ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ให้ผลผลิตต่ำแต่มีความเสี่ยงสูง (“high risk, low return”) โดยเฉพาะพืชมหาชนที่มีความเสี่ยงจากการมีอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกสูง
การทำการเกษตรที่มีลักษณะกระจุกตัวเชิงพื้นที่ของไทย สร้างโอกาสในการใช้ประโยชน์จาก economies of scale ในหลากหลายมิติ โดยงานวิจัยได้ยกตัวอย่าง การเกิดขึ้นของตลาดเช่าเครื่องจักรสมัยใหม่อย่างแพร่หลาย ซึ่งทำให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงได้อย่างแพร่หลายขึ้น
เกิดอะไรขึ้นกับตลาดพืชผลทางการเกษตร?
ความท้าทายอยู่ที่จะทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถได้ประโยชน์จากระบบตลาดอย่างแพร่หลาย งานวิจัยศึกษาการส่งผ่านของราคาสินค้าเกษตรจากตลาดโลก (โดยใช้ราคาส่งออก) มาสู่ราคาที่เกษตรกรได้รับหน้าฟาร์ม พบว่า ในบางตลาด เช่น ข้าวเปลือกเจ้าความชื้น 15% มีการส่งผ่านได้ดี เกษตรกรสามารถได้อานิสงค์จากราคาตลาดโลกที่สูงขึ้นได้ดี แต่ในบางตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดสินค้าคุณภาพสูง เช่น ข้าวหอมมะลิ การส่งผ่านของราคายังไม่ดีนัก
หากมองในด้านผู้ผลิตก็อาจสะท้อนความท้าทายว่า จะทำอย่างไรให้เกษตรกรผลิตสินค้าคุณภาพสูงมาแข่งในตลาดโลกได้ และ หากมองในเชิงโครงสร้างตลาดก็พบว่า การแข่งขันของผู้รับซื้อ เช่น โรงสี ตลอดถึงระยะทางจากแปลงไปสู่ผู้รับซื้อก็เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการได้ประโยชน์จากระบบตลาดของเกษตรกรเช่นกัน
เกิดอะไรขึ้นกับนโยบายเกษตรไทย?
ความท้าทายสำคัญคือจะทำนโยบายอย่างไรที่จะสามารถสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปรับตัว ไม่พึ่งพิงภาครัฐ งานวิจัยได้ฉายภาพการเข้าร่วมนโยบายภาครัฐของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ลงทะเบียนเกษตรกรทุกคนในปี 2561 และสะท้อนให้เห็นว่า นโยบายที่ครอบคลุมเกษตรกรส่วนใหญ่ คือ นโยบายช่วยเหลือเยียวยาระยะสั้นของภาครัฐ อย่างไม่มีเงื่อนไข โดยกว่า 30% ของเกษตรกรได้รับอย่างน้อย 3 นโยบาย และโดยเฉลี่ยเกษตรได้รับการช่วยเหลือถึง 17,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี
"การช่วยเหลือเยียวยาอย่างไม่มีเงื่อนไขอาจทำร้ายเกษตรกรโดยไม่ได้ตั้งใจ" ดร.โสมรัศมิ์ เน้นย้ำ และว่า อาจสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรไม่ปรับตัว ยังคงปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะพืชมหาชนที่ได้รับความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ซึ่ง high risk แต่ low return นอกจากนี้ การเยียวยาอย่างไม่มีเงื่อนไข ก็ทำให้เกษตรกรไม่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ (climate change) มีการทำเกษตรที่เสี่ยงสูงขึ้น เช่น ปลูกพืชนอกฤดูกาลอีกด้วย
ฉะนั้นทำนโยบายเกษตรอย่างไร สร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรไทยปรับตัวได้
ทำการเกษตรแล้วได้ผลลัพธ์อย่างไร?
ในงานวิจัยพบว่า ระดับผลิตภาพของเกษตรกรมีความแตกต่างกันสูงมาก ผันผวน และโตเฉลี่ยไม่ถึง 1% ต่อปี
เมื่อไปดูโครงสร้างรายได้และต้นทุนการผลิตต่อไร่พบว่า ต้นทูนสูงขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับรายได้สุทธิ ในบางพืชเริ่มติดลบมาหลายปีแล้ว ส่งผลให้เกษตรกรต้องมีหนี้สินที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ
หากการทำเกษตรยังเป็นแบบนี้ต่อไป การทำเกษตรก็จะเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกษตรกรติดอยู่ใน 'วงจรหนี้'
จากข้อมูลสินเชื่อของเกษตรกรตัวอย่าง 1 ล้านราย งานวิจัยพบว่า มูลหนี้เฉลี่ยสูงเกือบ 270,000 บาทต่อหัว และส่วนใหญ่มาจากหนี้ที่ก่อมาทำการเกษตรทุก ๆ ปี และคงค้างมาเรื่อย ๆ และมูลหนี้ยังคงสูงในเกษตรกรอายุมาก
ทั้งหมดคือ จิ๊กซอว์ ของงานวิจัยชิ้นนี้ เมื่อต่อแล้วทำให้เราจะเห็น ภาคเกษตรกรของไทย ยังคงทำแบบเดิมๆ เกษตรกรยังไม่ปรับตัว มีการใช้เทคโนโลยีไม่แพร่หลายมากนัก ผลลัพธ์ คือผลิตภาพที่อยู่ในระดับต่ำ ทั้งยังผันผวนสูง ติดลบ และสุดท้ายเป็นหนี้
ปัญหาเหล่านี้ แม้ว่า อาจมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ฟาร์มขนาดเล็ก เกษตรกรไทยครึ่งหนึ่งเข้าไม่ถึงกรรมสิทธิ์ที่ดิน น้ำ อีกทั้งเจอสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงโครงสร้างสังคมสูงวัยในภาคการเกษตรของไทย จะส่งผลโดยตรงต่อการทำการเกษตร ภาคตลาดบางพื้นที่ยังไม่สามารถได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ ที่สำคัญ นโยบายภาครัฐ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนึ่งทำให้เกษตรกรไทยไม่ปรับตัว
สุดท้าย ภาคเกษตรไทย ยังเห็นโอกาส เพราะเกษตรกรไทยมีการศึกษาที่เพิ่มขึ้น พบการกระจุกตัวของการทำการเกษตร ซึ่งสามารถปลดล็อกปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านั้นได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
พฤติกรรมปล่อยสินเชื่อ SMEs ของแบงก์พาณิชย์ กับข้อต่อที่ยังเป็นปัญหา
ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ชี้คอร์รัปชั่นไทยแปรรูปแล้ว มีเอกชน-ตัวกลาง จ่ายก่อนได้ผลลัพธ์ทีหลัง
ดร.วิรไท สันติประภพ : 4 บทบาทภาครัฐ พลิกโฉมเศรษฐกิจ แข่งขันพัฒนาประเทศ
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/