กรณีของประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาดังกล่าว คงมาช้ากว่าต่างประเทศ และชุดทักษะที่เกี่ยวข้องกับผู้สร้าง AI เป็นไปได้น้อยมาก บริษัที่สร้าง AI มีน้อย เราเป็นผู้ใช้ AI มากกว่า ขณะที่ชุดทักษะของไทยอาจยังไปได้ไม่ถึง
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีงานเขียน บทความ งานวิจัยจากทั่วโลกนำเสนอเรื่อง ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent:AI) รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ เมื่อ AI สามารถทำงานทดแทนทักษะบางอย่างของมนุษย์ รวมไปถึงแรงงานจะต้องมีการปรับตัวอย่างไรเพื่อให้อยู่รอดจากการพัฒนา AI ที่มีความสามารถมากยิ่งขึ้น
ในเวทีเสวนานักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum ครั้งที่ 3 ณ โรงแรมหัวช้างเฮอริเทจ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต (DPU X) นำเสนอผลการศึกษาการพัฒนาการหุ่นยนต์อัจฉริยะ จากค.ศ.2020 ถึง 2060 เพื่อให้เห็นฉากทัศน์ (Scenario) ของโลก ตอบโจทย์แรงงานในอนาคตของไทย สุดท้ายอาจทำให้เรารู้ การทำงานของแรงงานในอนาคตจะต้องมีทักษะ (Skill ) อะไรบ้าง
การศึกษาแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา คือ
ช่วงที่ 1 การพัฒนา AI (Evolving with AI) ค.ศ. 2020-2029
ช่วงที่ 2 ทำงานร่วมกับ AI (Work with AI) ค.ศ.2030-2059
และช่วงที่ 3 การอยู่ร่วมกับ AI (Living with AI) ค.ศ. 2050-2560 ช่วงนี้ความสามารถของ AI มากกว่ามนุษย์เป็นพันเท่า
ทั้งนี้ ทีมวิจัย ได้ทำการศึกษาผลงานที่เกี่ยวข้องกับ Future Workforce ผ่านช่วงเวลา (timeline) โดยนำแนวคิดที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาวางบนเฟรมเวลา แล้วพิจารณาทักษะของมนุษย์ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในแต่ละช่วงเวลา
ส่วนหลักเกณฑ์นำมาใช้ในการพิจารณาคือ กำลังความสามารถประมวลผลคอมพิวเตอร์ของ AI ซึ่ง Conner คาดการณ์ว่า ในปี 2030 AI จะมีพลังในการคำนวณ (computational power) เท่ากับความสามารถของสมองมนุษย์ (Conner,2008)
ผลการศึกษา...
ช่วงที่ 1 Evolving with AI ค.ศ. 2020-2029
เป็นช่วงที่ความสามารถของ AI ยังไม่เก่งเท่ามนุษย์ มนุษย์พัฒนาไปพร้อมๆ กับ AI เมื่อ AI ได้รับการพัฒนาจนมีความสามารถเท่ามนุษย์ AI จะเปรียบเสมือนมนุษย์ที่ยังไม่เก่งมากนัก ยังไม่มีความสามารถด้านการคิดสร้างสรรค์ (Creativity)ในช่วงนี้การให้ AI ทำงานแทนคน จะสามารถทดแทนแรงงานบางอย่างที่ไม่ต้องใช้ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ทำให้งานความคิดสร้างสรรค์ยังคงต้องใช้แรงงานคนทำอยู่
ในช่วง Evolving with AI ทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงานมนุษย์ได้แก่ การออกแบบแนวคิด หรือความคิด (design thingking หรือ design mindset) การปรับเปลี่ยนแนวคิดให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เทคโนโลยีเป็นแบบโมบาย การทำงานร่วมกันเป็นทีม ในลักษณะเหมือน virtual โดยทีมงานสามารถทำงานที่ไหนก็ได้
สิ่งที่ AI ทำไม่ได้ช่วงเวลานี้ คือการใช้ความสามารถหรือทักษะของมนุษย์ในการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก (sense making) ซึ่งมนุษย์มีการนำความรู้สึกมาใช้ประกอบการตัดสินใจอยู่ด้วย นอกจากนั้นแรงงานในอนาคตควรต้องมี เป็นการเขียน Code เพื่อให้เข้าใจตรรกะ (logic) การทำงานร่วมกับ AI อีกทั้งควรมีทักษะการใช้สื่อใหม่ (new media) และมีความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการสารสนเทศ
ภาพรวมในช่วงนี้ เป็นช่วงเวลาการเตรียมความพร้อมให้คนมีทักษะสำหรับการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data)ให้พร้อมก่อนเข้าสู่ช่วงเวลาที่สอง
ช่วงที่ 2 Work with AI ค.ศ. 2030-2059
เป็นช่วงที่มนุษย์ทำงานร่วมกับ AI แรงงานต้องได้รับการพัฒนาชุดทักษะ (Skill Set) เพิ่มเติมยิ่งขึ้นจากช่วงแรก
ตัวอย่างเช่น แรงงานมนุษย์มีการปรับแนวคิดการทำงานแบบใหม่อย่างเต็มรูปแบบ มีทักษะการเรียนรู้และสามารถปรับเปลี่ยนตามการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทุกคนจึงมีความจำเป็นต้องเพิ่มทักษะ หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ (reskills or update skills) ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง
ช่วงเวลานี้ถึงแม้ว่า คนทำงานร่วมกับ AI เต็มรูปแบบ การสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกันลดน้อยลง ทักษะทางสังคม และอารมณ์ของคน จึงมีความสำคัญที่จะต้องพัฒนาเช่นกัน
ในส่วนของความสามารถด้านการประกอบการ (entrepreneurial) เป็นทักษะที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง หรือเป็นทักษะหลักของการทำธุรกิจ ถึงแม้ว่า ช่วงเวลานี้ AI ทำงานแทนคนเป็นส่วนใหญ่ แต่มนุษย์ยังคงทำงานไปด้วยกันกับ AI โดยการทำงานของมนุษย์เน้นทักษะการคิดวิเคราะห์ (analytical skill) การสร้างมูลค่าหรือรูปแบบ (value creation) ให้กับสินค้า หรือบริการจากคนที่มีประสบการณ์มากขึ้น
สำหรับการทำงานในออฟฟิศสถานที่ทำงานเป็นออฟฟิศขนาดใหญ่ถูกลดบทบาทลง เปลี่ยนไปใช้รูปแบบออฟฟิศร่วมกัน (co-working space) การพัฒนาเทคโนโลยีและข้อมูลบนพื้นฐานของการสร้างสรรค์จากความรู้และการลงมือปฏิบัติ
ในส่วนของสุขภาพของมนุษย์มีลักษณะเป็นชีวภาพสุขภาพ (bio-wellness) การฝังชิพในร่างกายที่ตรวจวัดสิ่งต่างๆ เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นแนวสวมหรือใส่ (wearable) การใช้เทคโนโลยีเป็นแบบ การวิเคราะห์โซเชียลบนมือถือและคลาวด์ (social mobile analytics and cloud :SMAC)
ช่วงที่ 3 Living with AI ค.ศ. 2050-2560
การพัฒนา AI ก้าวหน้าไปถึงขั้นมีความสามารถเหนือมนุษย์เป็นพันเท่า สามารถทำงานแทนแรงงานมนุษย์ได้อย่างเต็มรูปแบบ มนุษย์อาจจะไม่ต้องทำงานมาก เพราะการจ้างงานมนุษย์มีต้นทุนสูงกว่า AI
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า AI ทำงานแทนคนได้ แต่แรงงานมนุษย์ก็ต้องมี Skill Set อีกรูปแบบเพื่อให้การใช้ชีวิตที่มี AI ทำงานแทนคนในลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไป
ตัวอย่างเช่น การทำงานร่วมกันเป็นแบบ virtual ใช้โปรแกรมมิ่ง และอัลกอรึทึม เป็นหลัก จะมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้น เช่น อาชีพที่ปรึกษาด้านปรัชญา (philosophical consultant) นักออกแบบห้องเสมือนจริง (virtual room design) นักออกแบบอาชีพ นักออกแบบเวลาว่าง เป็นต้น
และผลจากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ผู้บริหาร (top visionary) ในองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับการใช้ทักษะแรงงาน พบว่า ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ มองเทียบกับบริบทแบบไทยๆว่า การแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 3 ช่วงเวลาดังเช่นการศึกษาวิจัยครั้งนี้ กำหนดขึ้นนั้น เป็นเรื่องที่มองในระยะยาวเกินไป เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลกปัจจุบันเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น
สำหรับช่วงเวลาแรกคือ Evolving with AI เป็นช่วงของการพัฒนา AI ประเทศไทยสามารถอยู่ในช่วงนี้ได้ ส่วนอีกสองช่วงเวลานั้น ยังไกลเกินกว่าจะคาดการณ์ได้
ความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่ง ระบุว่า ช่วงของการทำงานร่วมกันกับ AI Work with AI และการใช้ชีวิตร่วมกับ AI Living with AI สามารถเกิดขึ้นควบคู่กันไปได้ ไม่สามารถแยกออกได้ชัดเจน
กรณีของประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงตามช่วงเวลาดังกล่าว คงมาช้ากว่าต่างประเทศ และชุดทักษะ ที่เกี่ยวข้องกับผู้สร้าง AI เป็นไปได้น้อยมาก บริษัที่สร้าง AI มีน้อย เราเป็นผู้ใช้ AI มากกว่า ขณะที่ชุดทักษะของไทยอาจยังไปได้ไม่ถึงดังเช่นต่างประเทศ
ทั้งนี้ ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญทักษะที่ควรจะมีในปัจจุบันนี้ ประกอบด้วย
- ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) เข้าใจเทคโนโลยี ความสามารถบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ ความคิดสร้างสรรค์นำข้อมูลไปใช้งานให้เกิดประโยชน์เชิงธุรกิจ
-การใช้เครื่องมือด้านดิจิทัล ใช้ AI ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโปรแกรมเมอร์ (digital skills)เป็นคนเปิดรับเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว เปิดใจกว้าง
- การวิเคราะห์เชิงปริมาณและทักษะทางสถิติ (Quantitative analytical and statistical skills) จะใช้ AI ซึ่งต้องมีความรู้พื้นฐานเรื่องข้อมูล (data) และข้อมูลขนาดใหญ่ (big data)
- การเตรียมความพร้อมในการปรับตัวทั้งรูปแบบการทำงาน ความพร้อมในการเปลี่ยนแปลง (Mindset) และเรียนรู้ตลอดเวลา (Lifelong Learning) เนื่องจากแต่ละช่วงอายุ upskill และการ reskill ที่แตกต่างกัน
- ทักษะการจัดการคน (People Management Skill) เนื่องจากปัจจุบันและอนาคต้องมีการทำงานเป็นทีมมากขึ้น เยาวชนในยุคปัจจุบันต้องรักษาสมดุลระหว่าง Hard Skill และ Soft Skill รวมถึงความฉลาดทางสังคม (Social Intelligence)
- โค้ดดิ้ง (Coding) เป็นการฝึกตรรกะในการคิด ระบบ กระบวนคิด เมื่อโตขึ้นจะสามารถพัฒนาเป็นการเขียนโปรแกรมก็จะเข้าใจมากขึ้น Coding จะเสริมสร้างเรื่องของการจัดการข้อมูลทางปัญญา (Cognitive Information Management)
- ฺเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech Literracy) การวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาจากการเคลื่อนไหว (motion) ทั้งหลาย ข้อมูลในระดับยีนส์ ข้อมูลในระดับดีเอ็นเอ
- ทักษะการใช้ข้อมูล (Data Skill) คือการใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ เข้าใจการวางโครงสร้างข้อมูล สามารถวิเคราะห์ข้อมูลและต่อยอดได้ เชื่อมโยงได้
- ทักษะการมองโลก (Internationlization) ทักษะในการเห็นโลก และทำความเข้าใจกับโลก
- รอยเท้าดิจิทัล (Digital Foo tprint) เยาวชนต้องเข้าใจ และตระหนักในการบันทึกสิ่งต่างๆ เป็นดิจิทัล ปลูกฝังพฤติกรรมการใช้ชีวิตบนดิจิทัลอย่างเหมาะสม
- Soft Skill ทักษะที่ AI ยังไม่สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ เช่น AI ไม่เก่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก เช่น เวลามองคนแล้วรู้ว่า เข้าใจว่าเขาเจ็บปวดหรือมีความเครียด แต่ AI ไม่เข้าใจหรือถูกฝึกมาให้เข้าใจอะไรเกี่ยวกับความเครียด
นี่คือบางส่วนของงานศึกษาพัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะ จาก ค.ศ.2020 ถึง 2060 ของดร.พณชิต และคณะ เพื่อให้เห็นฉากทัศน์ (Scenario)
ตอนหนึ่งของการนำเสนอผลการศึกษา ดร.พณชิต ตั้งเป็นคำถามถึงสถาบันการศึกษาจะปรับการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยอย่างไร ให้สามารถตอบสนองความต้องการของแรงงาน และผู้ประกอบการ เพื่อสร้างแรงงานที่พร้อมในการทำงานในอนาคตที่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากได้ เราสร้างเด็กวันนี้เพื่ออีก 10 ปีข้างหน้า แต่หลังจากนั้นเราก็จะช็อกว่า เด็กพวกนั้นไม่พร้อมโตต่อ
"ประเทศเราพูดเรื่องอนาคตกันน้อย เราอยากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่เราพูดกันน้อยอีก 5 -10 ปีข้างหน้า ประเทศเพื่อนบ้าน โลกนี้หน้าตาเป็นอย่างไร แล้วประเทศไทยหน้าตาจะเป็นอย่างไร
งานวิจัยชุดนี้อย่างน้อยก็ทำให้ได้เห็นภาพอนาคต กระตุ้น ตั้งคำถามกับเรื่องนี้มากขึ้น หลักสูตรในมหาวิทยาลัยหากต้องปรับจะปรับไปในทิศทางใด ขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ไม่มีการพูดถึงทักษะแรงงานในอนาคตเหล่านี้เลย"
สุดท้าย ดร.พณชิต ชี้ชัดว่า สิ่งที่เปลี่ยนยากที่สุดในประเทศนี้คือกฎหมาย เพราะปรับตัวช้ามาก ท่ามกลางโลกยุคใหม่ที่เส้นแบ่งเริ่มไม่ชัด
"วันนี้ไทยเข้ามาอยู่ในช่วงแรกเรียบร้อยแล้ว เราพยายามพัฒนาไปกับ AI อยู่ แต่ช่วงหลังจากนี้ ยากที่ทำนายประเทศเราจะเข้าเมื่อไหร่ หรือยุค AI สังคมไทยพร้อมเมื่อไหร่ ส่วนคำถามที่ว่า อาชีพไหมจะถูกทดแทนด้วย AI มากที่สุด ผมตอบเป็นอาชีพไม่ได้ แต่ผมต้องถามกลับอาชีพนั้นของคุณ คุณให้คุณค่าอะไรกับอาชีพนั้นๆจริง เช่น นักบัญชี หากยังทำซ้ำๆ AI ทดแทนได้แน่ หากเรายังคุณค่าตัวเองไม่เจอก็จะถูกทดแทนง่ายๆ ด้วย AI"
ไกลก้อง ไวทยการ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ กับมุมมอง ยุค AI กับความพร้อมของสังคมไทย
ขอบคุณภาพประกอบจาก:https://www.facebook.com/dpuxyourfuture/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/