สิ่งที่เฟชบุ๊กอยากได้ คือ financial data ซึ่งเป็นจุดสำคัญของหลายๆ บริษัทอยากเข้าร่วม Libra ทำให้ cryptocurrency มีสปอตไลท์ คนรู้จัก cryptocurrency ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เทรนด์ แต่จะเป็นเทคโนโลยีของบล็อกเชนที่จะอยู่กับเราไปในอนาคต
เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จัดเสวนาเวทีวิชาการในหัวข้อ “Libra ก้าวที่กล้าของเฟซบุ๊ก : ก้าวสู่โลกใหม่ไร้พรมแดน” ณ สำนักงาน ก.ล.ต. (ถ.วิภาวดีฯ) โดยนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งถึงพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งออกร่วมกับกระทรวงการคลัง ที่เป็นกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลในเรื่องนี้ โดยมี ก.ล.ต. เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลตาม พ.ร.ก. ดังกล่าว จึงมีความเกี่ยวข้องกับ Libra ที่เป็นคริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency)
"เมื่อเราได้ยินข่าว “Libra” ก.ล.ต.จึงออกบทความสั้นๆ เผยแพร่สู่สังคม ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลกก็จับตาดูเรื่องนี้อย
จากนั้น ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษา ก.ล.ต. ได้ปูพื้น และฉายภาพให้เห็นสกุลเงินตัวใหม่ Libra ว่า เป็นสกุลเงินตัวใหม่ที่สื่อสังคมออนไลน์อย่าง Facebook จับมือกับ 28 พันธมิตร เช่น Visa Mastercard PayPal eBay Uber เป็นต้น จัดตั้งสมาคมหนึ่งขึ้นมาที่ไม่แสวงหากำไร จดทะเบียนที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ โดยมีแผนจะนำ Libra มาใช้ในครึ่งปีแรกของปี 2563 นี้
"รูปแบบของเหรียญที่เขาจะสร้างมี 2 ตัว ที่เราคุ้นชิน คือ Libra คือ เงินตรา (currency) เป็น “stable coin” ราคาค่อนข้างคงที่ เพราะมีสกุลเงินหลักๆ ของโลกนี้สำรองเอาไว้ ไม่เพียงเท่านั้น Facebook เอง ก็จะตั้ง wallet platform อีก 1 บริษัทที่ชื่อ “Calibra” เพื่อเป็นผู้ให้บริการ wallet สำหรับผู้ประสงค์จะใช้ Libra"
สิ่งที่น่าสนใจ ดร.ภูมิ มองถึงผลกระทบของเทคโนโลยีนี้ จริงๆ ก็คือ Peer-To-Peer Payments แต่ครั้งนี้เป็นระดับโลกและไร้พรมแดน ทุกคนสามารถโอนเงินหากันได้ แค่มีบัญชีเฟชบุ๊ก นี่คือสิ่งที่เฟชบุ๊กฝัน ทำให้ระบบการเงินทั้งโลกเชื่อมเป็นอันเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะทำได้ เพราะจะมีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย เช่น ต่อไปนี้ประเทศไหนบัญชีเงินฝากให้ดอกเบี้ยสูงสุด เงินทั้งโลกก็จะไหลไปกองประเทศนั้น ขณะที่ปัจจุบันยังทำไม่ได้
"Libra สกุลเงินข้ามชาติมากๆ พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ กำกับได้แค่ตอนแลกเปลี่ยนเงินตรา ระหว่างเงินบาท กับ Libra แต่ไม่สามารถกำกับควบคุมคนที่รับชำระเป็นสกุลเงิน Libra ได้ นี่คือความยากของโลกการเงินในแง่ของกฎหมาย"
ด้านนายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้ข้อมูลประชากรโลกมีประมาณ 8 พันล้านคน แบ่งเป็นคนที่ใช้อินเทอร์เน็ต 4 พันล้านคน โดย 2 พันล้านคนมีบัญชีเฟชบุ๊ก
ขณะที่การทำธุรกรรมโอนเงินข้ามประเทศกว่า 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ "สมมุติมีต้นทุน 6% หากเฟชบุ๊กออก Libra มาแล้วบอกไม่มีค่าธรรมเนียม เชื่อจะจะส่งผลกระทบกับธุรกิจของธนาคาร ฉะนั้นประโยชน์ก็มี ข้อกังวลก็มีเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคล (Data Privacy)"
ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ยังชี้ให้เรามองอีกว่า หากเฟชบุ๊กมีวัตถุประสงค์ที่หวังดี อยากให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินเต็มรูปแบบระดับโลก ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่า มีคนเข้าไม่ถึงธุรกรรมทางการเงินในระดับหลายพันล้านคน แต่สำหรับประเทศไทย การโอนเงินข้ามธนาคาร เราไม่มีค่าธรรมเนียม ไม่มีต้นทุนแล้ว ส่วนระบบการชำระเงินธนาคาร ก็มีพร้อมเพย์ เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นการปรับตัว ในส่วนการโอนเงินข้ามประเทศ ยังมีกฎระเบียบ มีขั้นตอนการพิสูจน์ตัวตน ทำให้ตรงนี้มีต้นทุน
"หาก Libra มีการประสานงานกับพันธมิตรในแต่ละประเทศ มีกระบวนการในการรู้จักลูกค้า (Know Your Customer: KYC) ก็อาจปลดล็อกบางสิ่งบางอย่างได้ แต่ไม่ถึงขั้นโอน 10-20 ล้านบาทไปประเทศไหนก็ได้"นายฐากร กล่าว และเสนอแนะว่า เราควรอยู่ใกล้ชิดกับเทคโนโลยี เรียนรู้ ลองดูว่า หากควบคุมได้ก็ดี หากควบคุมไม่ได้ ทำอย่างไรให้ประเทศชาติมีความเสี่ยงน้อยที่สุด
สำหรับ คนรุ่นใหม่กับมุมมองเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล "พราว ลิ่มพงศ์พันธุ์" Chief Strategy Officer บริษัท Zipmex Asia มองเห็นถึงสิ่งที่เฟชบุ๊กอยากได้ คือ ข้อมูลทางการเงิน (financial data) ซึ่งเป็นจุดสำคัญของหลายๆ บริษัทอยากเข้าร่วม "Libra ทำให้ cryptocurrency มีสปอตไลท์ คนรู้จัก cryptocurrency ไม่ใช่เป็นเพียงแค่เทรนด์แต่จะเป็นเทคโนโลยีของบล็อกเชนที่จะอยู่กับเราไปในอนาคต"
ส่วนนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ผู้ร่วมก่อตั้ง และ Group CEO บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ชี้ว่า ประชากรโลกมีอยู่ 8 พันล้านคน ในจำนวนนี้ 2.3 พันล้านคนใช้เฟชบุ๊ก ซึ่งการจะเพิ่มจำนวนผู้ใช้งาน เฟชบุ๊กจึงมีโครงการเรียกว่า NBU (The Next Billion Users) ถามว่า แล้วจะหาจากไหน มองไปมองมา NBU อยู่ที่พวกเรา คนที่อยู่ในประเทศฟิลิปินส์ แอฟริกา กว่าพันล้านคนเป็นคนที่มีมือถือ แต่ไม่มีบัญชีธนาคาร (bank account) นี่คือเหตุผลสร้าง Libra ขึ้นมา เพื่อให้คนเหล่านี้ใช้แค่มือถือ ก็เข้าถึงบริการทางเงิน สามารถโอนเงิน รับเงินได้ หรือชำระเงินจากการซื้อขายสินค้าและบริการได้ และที่ดีกว่า คือ การรับเงิน โอนเงินเหมือนกับการส่งสติกเกอร์หากัน ไม่มีค่าใช้จ่ายอีกต่อไป
ทั้งนี้ เขายังมองว่า Libra เป็นโอกาส "ถนนเส้นใหม่ของวงการการเงิน"
"เฟชบุ๊กไม่ได้กำไรจากการสร้าง Libra เปรียบเทียบ Libra ไม่ต่างจากการสร้างสะพานลอย เฟชบุ๊กเป็นเจ้าของห้าง ลงทุนสร้างสะพานลอย ซึ่งไม่ได้ทำเงิน และก็ไม่ต่างจากถนน ไฟฟ้า อินเทอร์เน็ต ผมยังเชื่อว่า นวัตกรรมที่เป็นระบบเปิด ย่อมจะดีกว่าระบบปิด"
มุมมองจากตัวแทนภาครัฐ กับคำถาม Libra เป็นเงินหรือไม่นั้น ดร.สุมาพร (ศรีสุนทร) มานะสันต์ นิติกรชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดกฎหมาย เอา Libra เทียบกับ 4 คุณลักษณะตาม พ.ร.บ.เงินตราฯ ก็พบว่า Libra อยู่บนสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ ฉะนั้น การตีความจึงยังห่างไกล เรียกว่า ปิดตายไม่ใช่ 'เงิน' แน่นอน
ในประเด็นการประกอบธุรกิจ ดร.สุมาพร หยิบยกพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงินฯ มาตรา 4 บอกชัดว่า จะเป็นสถาบันการเงินได้ต้องเป็น ธนาคารพาณิชย์ เครดิตฟองซิเอร์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialised Financial Institutions: SFIs) ฉะนั้น สมาคม Libra Association จึงไม่ใช่แน่นอน
และเมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินฯ วัตถุประสงค์ควบคุมเงินเข้าเงินออกการชำระเงินระหว่างประเทศ ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้กฎหมายนี้ คือ บุคคลรับอนุญาต (Money Changer) เช่น ซุปเปอร์ริช ลินดาเอ็กซ์เชนจ์ และผู้ให้บริการโอนเงิน (Money Transfer) เช่น ธนาคารพาณิชย์ ไปรษณีย์ไทย
ถามว่า ผู้จัดจำหน่ายเหรียญ Libra พอจะเป็นใครสักคนในกฎหมายนี้ได้ไหม ดร.สุมาพร เห็นว่า ก็จะไปตายตรงปัจจัยการชำระเงินต่างประเทศ ที่บอกว่า ต้องเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายต่างประเทศ ตีความได้ว่า เงินต้องแลกกับเงิน เงินต้องซื้อกับเงิน Libra จึงปิดตายในกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน
นอกจากนี้ นิติกรชำนาญการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ยังเทียบกับพ.ร.บ.การชำระเงิน 2560 หรือ กฎหมายอีเพย์เมนต์ ว่า กำกับผู้เล่น 2 ผู้เล่น คือระบบการชำระเงิน (งานหลังบ้านของแบงก์) และบริการการชำระเงิน หากดูการโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ และ E-Money ซึ่ง Libra เทียบกันได้แต่ก็ไม่สนิท ฉะนั้นในทางกฎหมายปิดตายพอสมควร
ขณะที่ในทางภาษี ดร.สุมาพร ชี้ว่า หากอนาคตย้ายจากแพลตฟอร์มปกติ ไปอยู่แพลตฟอร์มโซเชี่ยลมีเดีย ข้อมูลธนาคารจะไม่ได้เป็นที่ที่สรรพากรสามารถตรวจสอบได้อีกต่อไป
"แปลว่า จะเกิดธุรกิจทดแทน e-Payment ที่ได้ใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งภาครัฐกำกับดูแลเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ หากทุกคนไปอยู่ในที่ที่เรากำกับไม่ได้ แปลว่า ภาครัฐจะสูญเสียข้อมูลเรื่อง Payment และภาษี ส่วนภาคเอกชนจะถูก disrupt ครั้งใหญ่ ประชาชนเองความเสี่ยงขณะนี้แม้จะยังไม่มีอะไรมาก แต่ก็อย่าให้โดนหลอก เพราะเวลามีนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ออกมา มักจะมีเรื่องร้องเรียนเรื่องการโดนหลอกให้ลงทุน เหมือนกรณีบิทคอยน์ สุดท้ายกลายเป็นแชร์ลูกโซ่ เป็นต้น"
สุดท้ายดร.ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมายกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุถึงการปรับตัวของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงสร้างการกำกับดูแล ให้ทันสมัย เหมาะสมกับระบบของภาคการเงิน และภาคเศรษฐกิจยุคใหม่ ไม่ใช่ไปกำกับดูแลแบบบีบคอจนเขาไม่สามารถสร้างนวัตกรรมได้ หรือปล่อยจนกระทั่งไปสร้างกิจกรรม หรือกระทำการที่ส่งผลกระทบแง่ลบกับประชาชน ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
"โจทย์นี้ใหญ่มาก ทั่วโลกกำลังคุยกันว่า เมื่อโลกมีระบบฟินเทค นโยบายการกำกับดูแลต้องเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง"ดร.ณรัณ กล่าว พร้อมกับทิ้งท้ายว่า libra coin ต่างจากสกุลเงินอื่นๆ ที่มีในประเทศไทย เพราะมัน global แปลว่า ผู้ประกอบการไทยไม่ได้รับการป้องกันจากภาครัฐ ฉะนั้น โลกยุคใหม่ที่เปิดอิสระให้กับผู้ประกอบการ ประชาชน จึงต้องปรับตัวดูแลตัวเองให้มากขึ้น ไม่ใช่รอรัฐให้คอยแต่ป้องกัน