New Model! ใช้ยางพาราครอบกำเเพงคอนกรีต-หลักนำทาง ลดสูญเสียบนถนน 'นักวิชาการ' เเนะกรมทางหลวงชนบท ทดลองในบางเส้นทาง ก่อนใช้จริงทั่วประเทศ
การสร้างความปลอดภัยทางถนนเป็นนโยบายหลักของกระทรวงคมนาคม เพื่อมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุเป็นศูนย์
จากการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 10 ล้านบาทต่อราย เเละการบาดเจ็บสาหัสมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย นั่นหมายความว่า หากลดจำนวนการเสียชีวิตเเละบาดเจ็บสาหัสบนท้องถนนลงได้ จะทำให้เกิดความคุ้มค่าทั้งชีวิตเเละทรัพย์สินมากขึ้น
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม จึงเตรียมนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในอุปกรณ์ความปลอดภัยทางถนน โดยใช้เเผ่นยางธรรมชาติครอบกำเเพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) ซึ่งนอกจากช่วยป้องกันอันตรายจากอุบัติเหตุ ยังช่วยสนับสนุนการใช้ยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้น เกษตรกรมีรายได้ด้วย
ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน พ.ศ. 2563 โดยเพิ่มเติมแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) เป็นพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน
(อ่านประกอบ:เพิ่มความปลอดภัยทางถนน ครม.ไฟเขียวงบฯ สร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางฯ)
ข้อมูลจากการศึกษาสภาพถนนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท พบว่า มีเกาะกลางถนน รวมทั้งสิ้น ระยะทาง 11,643.454 กิโลเมตร ประกอบด้วย
- เกาะสี จำนวน 1,238.800 กิโลเมตร
- เกาะหลุม จำนวน 4,372.963 กิโลเมตร
- เกาะยก จำนวน 5,133.414 กิโลเมตร
- กำแพงคอนกรีต จำนวน 898.277 กิโลเมตร
โดยบริเวณช่วงเกาะกลางถนนแบบเกาะสีมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้มาก เนื่องจากพฤติกรรมของผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร โดยการเลี้ยวหรือการกลับรถทับเส้นเกาะกลางในบริเวณจุดเสี่ยงอันตราย ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นหลายกรณี
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลก ด้านการป้องกันการบาดเจ็บ โรงพยาบาลขอนเเก่น เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เพราะถือเป็นความจำเป็นพื้นฐานในการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากจะออกเเบบถนนให้รถวิ่งไม่พอ เเต่ต้องมีอุปกรณ์การทางป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุด้วย ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางโค้งหรือทางตรง
"ความจริงทางหลวงวิ่งระหว่างจังหวัดของต่างประเทศจะมีกำเเพงคอนกรีตเเละการ์ดเรล เพื่อป้องกันไม่ให้รถวิ่งข้ามเกาะกลางถนนไปชนรถอีกฝั่งหนึ่ง เเละป้องกันไม่ให้ตกอยู่ในเกาะกลาง ดังนั้น การติดตั้งเป็นเรื่องถูกต้อง" ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกฯ กล่าว เเละว่า การนำเเผ่นยางพารามาหุ้ม มีการศึกษาเเละใช้ในหลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ที่มีบริษัทผลิตในประเทศ ทั้งในรูปเเบบเเท่งเเละหุ้ม ช่วยลดเเรงกระเเทกให้น้อยลง
นพ.วิทยา ย้ำว่า การนำยางพารามาทำ โดยหลักการเป็นสิ่งที่ดี ต้องมีการ์ดเรล บนถนนของเมืองไทย เเต่อาจต้องมีการทดสอบก่อน ว่าได้ประสิทธิภาพในการลดเเละป้องกันหรือไม่ เเละมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม ห่วงว่า อุปกรณ์ทางการถนนจะได้รับการบำรุงรักษาดูเเลดีหรือไม่ เนื่องจากคุณสมบัติของยางพารา เมื่อเวลาผ่านไปนานจะเเข็ง
"ในประเทศไทยยังไม่มีการใช้โมเดลนี้ในท้องถนน ครั้งนี้ถือเป็น New Model ซึ่งอาจจะทดลองในพื้นที่ศึกษา อย่าเพิ่งทำทั้งประเทศ เเล้วประเมินว่า ใช้ได้ผลจริงหรือไม่ เพื่อยืนยันสิ่งที่จะลงทุนไป อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในสมัยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยมีนโยบายลงทุนทำการ์ดเรลในหลายจังหวัด ซึ่งมีข้อพิสูจน์ชัดสามารถรักษาชีวิตได้ เเต่ขณะนั้นเป็นการลงทุนใช้โลหะ ช่วยผ่อนถ่ายเเรงกระเเทกได้ เเต่ลักษณะใหม่ใช้ยางพาราคลุม จะช่วยลดเเรงกระเเทกเช่นกัน" ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือขององค์การอนามัยโลกฯ ระบุ
**********************
แผนการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) จะใช้งบประมาณ ปี 2563 - 2565 โดยมี RFB จำนวน 12,282.735 กิโลเมตร เเละ RGP จำนวน 1,063,651 ต้น งบประมาณรวม 85,623.774 ล้านบาท คิดเป็นผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ จำนวน 30,108.805 ล้านบาท
เเน่นอนว่า หากดำเนินการสำเร็จครอบคลุมทั้งประเทศ นอกจากช่วยเหลือด้านรายได้เเก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราเเล้ว สำคัญมากกว่านั้น คือ ช่วยลดการสูญเสียของชีวิตเเละทรัพย์สินผู้ขับขี่บนท้องถนนนั่นเอง .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์อมรินทร์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/