เพื่อให้เกษตรกรไทยก้าวไปสู่ยุค “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี ผ่านเครือข่ายชุมชน สตาร์ทอัพ แพลตฟอร์มต่าง ๆ หวังเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดผู้เล่นใหม่ ๆ ในวงการนวัตกรรมการเกษตร
ไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัย “เกษตรกรรม” ยังคงเป็นภาคส่วนที่ต้องเจอกับปัญหาและผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เรื่องการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว ราคาผลผลิต รวมทั้งปัญหาจากภัยธรรมชาติ นอกจากนี้ เกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวยังคงคุ้นชินกับการทำเกษตรแบบดั้งเดิม ตลอดจนขาดผู้พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ตรงกับสภาพปัญหา จึงทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านการเกษตรของประเทศไทยในวันนี้ยังคงอยู่ในระดับคงที่ หรือมีบางปีที่อาจเพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย
เพื่อให้เกษตรกรไทยก้าวไปสู่ยุคใหม่ที่เรียกกันว่า “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA หน่วยงานหลักด้านการส่งเสริมระบบนวัตกรรมแห่งชาติจึงได้พยายามผลักดันแนวคิดดังกล่าวให้เกิดขึ้น พร้อมมุ่งลดผลกระทบและสภาพปัญหาที่บรรดาเกษตรกรต้องพบเจอ ด้วยการส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ผ่านเครือข่ายชุมชน สตาร์ทอัพ แพลตฟอร์ม และโซลูชั่นต่าง ๆ ที่จำเป็น
และนี่คือตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าสนใจที่จะช่วยให้เกษตรกรไทยเติบโตทั้งในด้านการผลิต และการขาย ซึ่งอาจเป็นโฉมหน้าใหม่ของอุตสาหกรรมเกษตรไทย และเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดผู้เล่นใหม่ ๆ ในวงการนวัตกรรมการเกษตร
โรงเรือนเพาะปลูกสตรอเบอรี่ขนาดเล็กสำหรับชุมชน การเกษตรทางเลือกช่วงเว้นจากการทำนา
การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและสภาวะเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการว่างเว้นจากการทำไร่ทำนาในบางช่วงฤดู และเพื่อไม่ให้เกษตรกรต้องสูญเสียรายได้และมีรายได้เพิ่มขึ้น บริษัท เอแอนด์จี ออร์แกนิค จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าเกษตร จึงคิดโซลูชั่นสร้างรายได้ในช่วงว่างเว้นจากการทำนาด้วยนวัตกรรมโรงเรือนเพาะปลูกสตรอเบอรี่ขนาดเล็กสำหรับชุมชน นำร่องใช้กับเกษตรกรใน จ.พิจิตร ที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกข้าวเป็นหลัก
สำหรับนวัตกรรมดังกล่าวใช้เทคนิคการคัดชุดตาดอกที่สมบูรณ์เพียง 2 ชุด และกระตุ้นตาดอกก่อนเข้าสู่กระบวนการเพาะปลูกสตรอเบอรี่ภายในโรงเรือนระบบขนาดเล็กที่เหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย ภายในโรงเรือนประกอบด้วยระบบควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น และแสงสว่าง เพื่อปรับสภาพให้เหมาะสมกับการเพาะปลูกที่สามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี รวมถึงช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตสตรอเบอรี่และสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้ถึง 2 เท่า
Farmbook.co นักวางแผนการเพาะปลูกมือโปรสำหรับเกษตรกร
ภาคส่วนต่าง ๆ กำลังถูกขับเคลื่อนไปด้วยการใช้ข้อมูล ไม่เว้นแม้แต่ในภาคเกษตรกรรม ที่ปัจจุบันยังขาดทั้งข้อมูลเชิงลึกด้านการตลาดสำหรับวางแผนการผลิต รวมถึงการประยุกต์ใช้เครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพึ่งพาตนเอง และเศรษฐกิจแนวคิดแบ่งปัน
จากปัญหาดังกล่าวจึงนำมาสู่การพัฒนา Farmbook แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยเหลือทั้งการวางแผนการผลิต การคาดการณ์ผลผลิต ตลอดจนการวิเคราะห์ข้อมูลกิจกรรมทางการเกษตร ได้แก่ สภาพอากาศ ความอุดมสมบูรณ์ของดิน การจัดการโรคและแมลงศัตรูพืช การนำเทคโนโลยีทางด้านระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ การสำรวจระยะไกล การตรวจสอบคุณภาพดิน และระบบการให้น้ำ
นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างสังคมการแบ่งปันอุปกรณ์เครื่องจักรกลทางการเกษตร แรงงาน และวัตถุดิบในกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ส่งผลให้สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตและการจัดสรรสัดส่วนพื้นที่การเกษตรได้ รวมถึงการเพิ่มช่องทางการตลาด การตรวจสอบและติดตามกระบวนการเพาะปลูกของผลผลิตได้ทุกขั้นตอน
GetzTrac เทคโนโลยีจองรถเกี่ยวข้าว หมดปัญหาขาดแคลนเครื่องมือในฤดูเก็บเกี่ยว
ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวโดยเฉพาะการเกี่ยวข้าว เกษตรกรหลายรายต้องประสบกับปัญหาการจองรถเกี่ยว รวมทั้งในบางพื้นที่มีผู้ให้บริการเครื่องมือดังกล่าวในปริมาณที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น GetzTrac : เก็ทแทรค แอปพลิเคชั่นสำหรับจ้างรถเกี่ยวข้าวและอุปกรณ์การเกษตรจึงเกิดขึ้น เพื่อช่วยให้ชาวไร่ชาวสวนเข้าถึงอุปกรณ์ทางด้านการเกษตรที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังทำให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ผู้ให้บริการเครื่องมือการเกษตรได้มีช่องทาง – เครือข่ายในรูปแบบ Machine Matching
สำหรับบริการที่สามารถจองผ่านแอปพลิเคชั่นมี 3 บริการ คือ
1.จองรถเกี่ยวข้าว ซึ่งมีรถเกี่ยวข้าวในระบบ 400 กว่าคันทั่วประเทศ
2.บริการจองโดรนสำหรับฉีดยาวัชพืช ฉีดย่าแมลง หว่านปุ๋ย
และ 3.จองรถแทร็กเตอร์ สำหรับเตรียมดินก่อนทำการเกษตร หรืออัดฟางหลังจากเกี่ยวข้าว
ทั้งนี้ การจองสามารถจองล่วงหน้าได้ 1 เดือน จองได้เฉพาะในพื้นที่ใกล้เคียง โดยอัตราค่าบริการจะคิดตามขนาดที่นา พันธุ์ข้าวที่จะต้องเกี่ยว ซึ่งหากเป็นข้าวจ้าวจะอยู่ที่ 450 บาทต่อไร่ ข้าวเหนียว 500 บาทต่อไร่ ข้าวหอมมะลิ 600 บาทต่อไร่
ส่วนค่าบริการของโดรนจะอยู่ที่ 120 บาทต่อไร่ รถแทรกเตอร์สำหรับเตรียมดินราคา 500 บาทต่อไร่ การอัดฟางราคา 15 บาทต่อก้อน นอกจากนี้ ในอนาคตเก็ทแทรคยังจะมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้สามารถแจ้งเตือนได้ว่าขณะนั้นมีโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อพืชผลอย่างไร เพื่อให้เกษตรกรได้เตรียมความพร้อมและหาทางป้องกันได้อย่างถูกวิธีอีกด้วย
ระบบการให้น้ำใต้ดินผ่านเซรามิกรูพรุนสำหรับการผลิตทุเรียนนอกฤดู มิติใหม่ของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน
การปลูกทุเรียนนอกฤดู เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรเนื่องจากผลไม้ดังกล่าวเป็นที่นิยมในการรับประทานตลอดทั้งปี แต่อย่างไรก็ตาม เทคนิคสำคัญในการจัดการทุเรียนนอกฤดูต้องควบคุมระบบการผลิต โดยเฉพาะการควบคุมระบบการให้น้ำ ซึ่งระบบการให้น้ำสำหรับต้นทุเรียนในปัจจุบัน เป็นการให้น้ำบนดิน เช่น สปริงเกอร์ ระบบพ่นฝอย ระบบน้ำหยด
ปัญหาที่ตามมาก็คือ เกิดการสูญเสียน้ำบนผิวดินในปริมาณมาก ทำให้ดินมีความหนาแน่นสูง เกิดปัญหาท่อแตกและอุดตันทำให้มีค่าใช้จ่ายการบริหารจัดการสูง ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกและแปรรูปทุเรียนพันธุ์หลงลับแลจังหวัดอุตรดิตถ์ จึงได้ร่วมมือกับนักวิจัยพัฒนาระบบการให้น้ำใต้ดินผ่านเซรามิกรูพรุน (Subsoil Irrigation System, SIS) ขึ้น พร้อมนำมาใช้เป็นแนวทางการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ให้กับชุมชนเพื่อขยายผลการใช้งานระบบการให้น้ำใต้ดินผ่านเซรามิกรูพรุนเป็นแหล่งน้ำต้นทุนใต้ผิวดิน ร่วมกับการควบคุมการผลิตทุเรียนนอกฤดูที่มีคุณภาพตลอดทั้งปีให้กับชาวสวนทุเรียนจังหวัดอุตรดิตถ์และทั่วประเทศ
เซรามิกรูพรุนเป็นเครื่องมือควบคุมปริมาณน้ำ ปุ๋ย แร่ธาตุ และวัคซีน ออกสู่ดินอย่างช้า ๆ และเป็นแหล่งน้ำต้นทุนใต้ผิวดินตลอดทั้งปี มีการบำบัดน้ำวัตถุดิบก่อนเข้าระบบ จึงแก้ปัญหาโรครากเน่าและเปลือกเน่า และสามารถแก้ไขปัญหาเกิดการสูญเสียน้ำบนผิวดิน ลดการสูญเสียปุ๋ย และธาตุอาหารจากการชะล้างผิวดิน เป็นการให้อาหารทางราก จึงใช้ได้กับทุเรียนทุกช่วงอายุ รวมทั้งสามารถประยุกต์ใช้ระบบการให้น้ำในพืชอื่น ๆ ได้อีกด้วย
พรรัตภูมิฟาร์ม ฟาร์มไข่ไก่ IoT
พรรัตภูมิฟาร์ม คือ “ฟาร์มไก่ไข่ระบบอัจฉริยะ” ซึ่งเป็นกระบวนการเลี้ยงไก่ไข่และการจัดการฟาร์มไก่ไข่ระบบอัจฉริยะ ผ่านการควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT มีเซ็นเซอร์วัดระดับความชื้น อุณหภูมิ ความเข้มของแสง และปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของไก่ อีกทั้งจะมีการรับส่งข้อมูลจากโรงเรือนของผู้เลี้ยงมายังศูนย์วิเคราะห์ข้อมูลโดยตรงที่มีทีมสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเลี้ยงช่วยเป็นที่ปรึกษา และยังมีทีมเฝ้าติดตามระบบที่จะคอยตรวจสอบเฝ้าระวังสถานะการทำงานของอุปกรณ์ในโรงเรือนตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากขึ้น โดยยังสามารถใช้แอปพลิเคชั่นในมือถือสั่งการควบคุมระดับความชื้น อุณหภูมิและปัจจัยต่างๆ ในโรงเรือนได้ ช่วยให้เจ้าของกิจการสามารถตัดสินใจในการลงทุนและช่วยป้องกันเหตุที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น ไฟไหม้ ไฟดับ อุปกรณ์ภายในโรงเรือนเสีย ถือเป็นการบริหารความเสี่ยงที่ถูกต้องและแม่นยำที่เกษตรกรมมยุคใหม่ควรมี
ทั้งนี้ นอกจากจะช่วยลดปัจจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับฟาร์มไก่ไข่ได้แล้ว ยังช่วยให้ไข่ไก่มีคุรภาพดี มีฟองใหญ่ สดใหม่ ขายได้ราคาสูง และระบบนี้ยังสามารถนำไปใช้กับระบบฟาร์มอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/