การแก้ไขปัญหาเด็กติด G ในสถานศึกษา เป็นนโยบายที่ดี แต่วันนี้สามารถกำหนดเลขประจำตัว 13 หลักของกระทรวงมหาดไทยให้เด็กเพื่อให้สิทธิขั้นพื้นฐานได้ไม่ถึงร้อยละ 10 หรือเพียง 3,400 คน จากจำนวนเด็กนักเรียนรหัส G ปีการศึกษา 2559 ทั่วประเทศ จำนวน 92,749 คน
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ จัดเวทีแถลง สรุปสถานการณ์การย้ายถิ่นและการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและครอบครัว พร้อมทั้งจัดเกรดนโยบายย้ายถิ่นรัฐบาลตู่ “รุ่ง” หรือ “ร่วง” เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากล
โดยหลายฝ่ายประสานเสียงครม.ตู่ สอบตก และยกป้ายให้ร่วงเกือบทุกประเด็น ดังนี้
เตือนต่อใบอนุญาตทำงาน มีปัญหาซ้ำรอยปี60
กรณีการต่ออายุใบอนุญาตทำงาน ซึ่งดำเนินอยู่ในขณะนี้ และมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 31 มีนาคม พ.ศ. 2563 นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มองว่า มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกรณีต่ออายุใบอนุญาตทำงานในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งพบว่า มีแรงงานข้ามชาติที่หายไปจากกลุ่มจำนวนตัวเลขเป้าหมายที่ต้องได้รับการพิสูจน์สัญชาติจำนวนสูงถึง 811,437 คน
“ มีความเป็นห่วงว่า การต่อใบอนุญาตการทำงานในอีกไม่กี่เดือนนี้ จะซ้ำรอยปี 2560 เพราะสองปีที่ผ่านมา รัฐบาลไม่มีความพร้อมใดๆในการพัฒนาระบบการต่ออายุ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่า รัฐบาลมีการดำเนินการสองส่วนโดยในส่วนของระบบออนไลน์ที่ค่อนข้างล้มเหลว ระบบล่มไม่สามารถดำเนินการต่อได้ อีกทั้งหากต้องการเปลี่ยนนายจ้าง จะต้องให้อดีตนายจ้างมาเซ็นรับรอง ทำให้ต่อไปแรงงานที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย อาจจะกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายทันทีหากเปลี่ยนนายจ้าง ซึ่งมีความกังวลว่าจะมีแรงงานนับแสนคน จะหลุดออกจากระบบในการต่ออายุปี 2563 นี้”
วิกฤตปิด10 ศูนย์การเรียนรู้จ.ระนองทำ เด็กข้ามชาติขาดโอกาสทางการศึกษา
น.ส.ลัดดาวัลย์ หลักแก้ว ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิเพื่อเยาวชนบท ให้ข้อมูลในประเด็นเรื่องการปิดศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติและการแก้ไขปัญหาเด็กที่ไม่มีเอกสารแสดงตนในสถานศึกษา (เด็กติด G) ขอให้เกรดรัฐบาลชุดนี้ร่วงด้วยเช่นกัน เนื่องจากการปิดศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติและการแก้ไขปัญหาเด็กที่ไม่มีเอกสารแสดงตนในสถานศึกษานั้น ปัจจุบันมีเด็กข้ามชาติรวมถึงเด็กที่ไม่มีสัญชาติไทยกลุ่มอื่นๆ ได้รับการศึกษาประมาณ 160,000 คน แต่ยังมีเด็กข้ามชาติกว่า 200,000 คน ที่ไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษาใดๆ
ขณะที่การศึกษาในศูนย์การเรียนรู้เด็กข้ามชาติ หรือ MLC จำนวน128 แห่งใน 18 จังหวัด ซึ่งมีเด็กข้ามชาติเข้าเรียนจำนวน 19,410 คน มีครูผู้สอนจำนวน 962 คน ทั้งครูไทยและครูเมียนมา แต่ศูนย์การเรียนเด็กข้ามชาติ ไม่ได้รับการรับรองตามกฎหมาย ทำให้สถานะนักเรียน หลักสูตรที่ใช้ ไม่ได้รับการรับรองตามไปด้วย ส่งผลให้เด็กไม่สามารถใช้วุฒิการศึกษาในการทำงาน และการเรียนต่อได้อย่างเป็นทางการ
นอกจากนี้สถานะของครูผู้สอน ยังเป็นการจ้างงานไม่ตรงกับประเภทงานที่รัฐอนุญาตให้ทำ จนนำไปสู่การเกิดเหตุการณ์กวาดจับผู้สอนในศูนย์การเรียนบางแห่งในจังหวัดระนอง ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีใบอนุญาตทำงานผิดประเภทการจ้างงาน ส่งผลให้ศูนย์การเรียนทั้ง 10 แห่งในจังหวัดระนองต้องปิดตัวลง กระทบต่อเด็กในศูนย์การเรียนที่ต้องถูกปิดลงจำนวน 2,856 คน ต้องสูญเสียโอกาสทางการศึกษา
“แม้การย้ายเด็กเข้าไปเรียนในโรงเรียนไทยทั้งหมดจะเป็นแนวทางที่ดี แต่ในทางปฏิบัติพบว่า มีเด็กจากศูนย์การเรียนเพียงประมาณ 300 คนเท่านั้น ที่เข้าไปเรียนในโรงเรียนไทย ขณะนี้ปัญหาใหญ่คือ เด็กกว่า 2,000 คน ยังคงอยู่ในชุมชน และกำลังเผชิญกับความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น เนื่องจากพ่อแม่ยังทำงานอยู่ในไทย ดังนั้น ควรหาช่องทางการปรับสถานะและคุณภาพของศูนย์การเรียน โดยที่ศูนย์การเรียนสามารถเปิดดำเนินการได้ นอกจากนี้ควรให้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษาของเด็กข้ามชาติที่ชัดเจนทั้งในทุกระดับ และกระทรวงแรงงาน ควรพิจารณากำหนดประเภทอาชีพที่อนุญาตให้คนต่างด้าว จากประเทศเพื่อนบ้าน ให้สามารถเข้ามาทำงานเพื่อสอนหนังสือให้กับเด็กข้ามชาติในศูนย์การเรียนรู้ได้" น.ส.ลัดดาวัลย์ ระบุ
ส่วนการแก้ไขปัญหาเด็กติด G ในสถานศึกษา น.ส.ลัดดาวัลย์ มองว่า เป็นนโยบายที่ดี แต่วันนี้สามารถกำหนดเลขประจำตัว 13 หลักของกระทรวงมหาดไทยให้เด็กเพื่อให้สิทธิขั้นพื้นฐานได้ไม่ถึงร้อยละ10 หรือเพียง 3,400 คน จากจำนวนเด็กนักเรียนรหัส G ปีการศึกษา 2559 ทั่วประเทศ จำนวน 92,749 คน ขณะเดียวกันยังพบว่า อาจมีเด็กบางส่วนตกหล่นในการสำรวจ เช่น มีการกำหนดรหัสขึ้นต้นด้วยอักษรอื่น ๆ ในสถานศึกษาสังกัดอื่น ๆ เช่น รหัส P หรือ รหัส 0 ด้วย รวมถึงควรประสานไปยังต้นสังกัดสถานศึกษาให้ครบทุกสังกัด และเน้นย้ำแนวทางการปฏิบัติฯ การติดตาม ช่วยเหลือสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง
เรียกร้องรัฐให้มีมาตรการคัดกรองผู้ลี้ภัยที่เป็นสากล
ขณะที่น.ส. รวิสรา เปียขุนทด ผู้แทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ กล่าวถึงนโยบายคัดกรองและคุ้มครองผู้ลี้ภัย “ความหวังที่ยังมาไม่ถึง” พร้อมให้คะแนนรัฐบาลชุดนี้ในการบริการจัดการผู้ลี้ภัย ซึ่งมีความก้าวหน้าไปในทางบวกอย่างเห็นได้ชัด จึงให้เกรดอยู่ระหว่างกลางรุ่งหรือร่วง
น.ส.รวิสรา ยังให้ข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ด้วยว่า ประเทศไทยรองรับผู้ลี้ภัยประมาณ 93,000 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยจากเมียนมา ซึ่งอาศัยอยู่ที่ศูนย์พักพิงชั่วคราวบริเวณพรมแดนไทย-เมียนมา และยังมีอีกกลุ่มหนึ่งคือ “ผู้ลี้ภัยในเขตเมือง” ประมาณ 6,000 คนจากกว่า 40 ประเทศ รวมถึงปากีสถาน เวียดนาม โซมาเลีย อิรัก ปาเลสไตน์ ซีเรีย จีน และประเทศอื่น ๆ โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครเพื่อดำเนินการขอการรับรองสถานะผู้ลี้ภัยจาก UNHCR และส่วนใหญ่ผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้มีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมาย เนื่องจากในปัจจุบันกฎหมายไทยยังไม่ได้รับรองสถานะการแสวงหาที่ลี้ภัยของกลุ่มดังกล่าว ผู้ลี้ภัยจึงมักถูกจับกุมตามความผิดข้อหาคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรืออยู่เกินกำหนด และถูกกักตัวโดยไม่มีกำหนดเวลาที่แน่ชัด
"รัฐบาลได้จัดทำร่างระเบียบการคัดกรองและบริหารจัดการประชากรผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ซึ่งองค์กรที่ทำงานกับผู้ลี้ภัยในไทย 13 แห่ง เรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำระเบียบที่ครอบคลุมเนื้อหาเพื่อประกันการป้องกันเพื่อไม่ให้มีการส่งกลับไปยังประเทศที่อาจเสี่ยงต่อการถูกทรมาน ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (CAT) ไว้แล้วตั้งแต่ปี 2550 รวมทั้งการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ให้จัดทำเนื้อหาของระเบียบฯ ที่สอดคล้องกับนิยามของคำว่าผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และสนธิสัญญาระหว่างประเทศอื่น ๆ ให้บุคคลทุกคนสามารถเข้าถึงกลไกการขอสถานะผู้ลี้ภัยอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม เข้าถึงสิทธิในการอุทธรณ์คำสั่งโดยศาลที่เป็นอิสระ เข้าถึงการมีผู้แทนด้านกฎหมาย เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และประกันสุขภาพ เข้าถึงโอกาสในการศึกษา โอกาสในการทำงานและความช่วยเหลือในรูปแบบอื่น ๆ
ผู้ลี้ภัยทุกคนต้องได้รับการคุ้มครองระหว่างประเทศ บุคคลที่เข้าสู่กระบวนการคัดกรอง สามารถเข้าถึงทนายความที่มีความสามารถ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และมีล่ามที่มีคุณภาพ รวมทั้งมีหลักประกันในขั้นตอนปฏิบัติ ได้รับโอกาสที่จะสามารถนำเสนอข้อมูลและพยานหลักฐานเกี่ยวกับสภาพที่เกิดขึ้นกับตน นอกจากนี้ผู้เข้ารับการคัดกรองต้องได้รับแจ้งผลการตัดสินอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเป็นคำวินิจฉัยที่มีข้อมูลมากเพียงพอที่จะสามารถยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้หากต้องการ และที่สำคัญคือข้อมูลรวมทั้งการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ต้องอยู่บนหลักการของการของการเก็บรักษาความลับเพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับการคัดกรอง" น.ส.รวิสรา ระบุ
แรงงานข้ามชาติ 42 เปอร์เซ็นต์ ไร้ระบบประกันสุขภาพ
ด้านนายชูวงค์ แสงคง ผู้จัดการพันธกิจโครงการพิเศษ มูลนิธิศุภมิตรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความสำเร็จของนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ทำให้เป็นคนเข้าเมืองถูกกฎหมายเพิ่มขึ้น ซึ่งควรจะมีแรงงานที่เข้าสู่ประกันสังคมเพิ่มขึ้นด้วย แต่ในระดับปฏิบัติการ ทั้งแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ แรงงานที่เข้ามาทำงานตาม MOU และผู้ประกอบการจำนวนหนึ่ง ยังไม่เข้าใจในเรื่องของระบบประกันสังคมในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ยังไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติว่าแรงงานกลุ่มไหนจะต้องเข้าสู้ระบบประกันสังคม แล้วต้องทำอย่างไร ทำให้มีการหลีกเลี่ยงให้แรงงานเข้าระบบประกันสังคม ทำให้แรงงานกลุ่มนั้นไม่มีหลักประกันสุขภาพ เป็นอุปสรรคในการเข้ารับบริการด้านสุขภาพ หรือแม้นแต่แรงงานข้ามชาติที่เข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้วก็ตาม การให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสิทธิ การไปใช้สิทธิ ตามที่มีให้ประกันสังคมก็ยังกระทำอยู่ในวงที่จำกัด
"แรงงานที่สามารถใช้สื่อออนไลด์ได้ เข้าใจภาษาไทยก็จะเข้าถึงข้อมูล ซึ่งก็เป็นคนส่วนน้อย นอกจากนั้นระบบประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างชาติและยังส่งผมกระทบในเรื่องการดูแลสุขภาพเชิงรุก คือการส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรค ในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ยังไม่สามารถดำเนินโดยระบบประกันสังคม และนอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการกองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวด้วย"
นายชูวงค์ มองว่า จากเดิมที่ระบบหลักที่ดูแลด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติ คือกระทรวงสาธารณสุข โดยการขายบัตรประกันสุขภาพนำเงินเข้ากองทุนหลักประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว ที่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี ต้องกลายมาเป็นกองทุนที่ดูแลแรงงานข้ามชาติจำนวนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จำนวนผู้ซื้อบัตรประกันสุขภาพ ของกองทุนหลักประกันสุขภาพที่ลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงทั้งต่อตัวกองทุนและสถานพยาบาลที่ขายประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติ ขณะที่การเข้าสู่ระบบประกันสังคมตามกฎหมายทำให้แรงงานข้ามชาติมีตัวเลือกของสถานพยาบาลในการรับบริการด้านสุขภาพที่มากขึ้น แต่โจทย์ที่สำคัญของระบบประกันสุขภาพก็คือ การมีแนวทางการบริหารจัดการกองทุน และระบบบริการด้านสุขภาพที่ยังมีความสำคัญกับกลุ่มประชากรข้ามชาติอีก 30 เปอร์เซ็นต์อย่างไรให้เกิดความยั่งยืน ไม่สร้างผลกระทบต่อระบบบริการรวมถึงสถานพยาบาล และยังสามารถรักษามาตรฐานในการบริการให้ครอบคลุมถึงงานส่งเสริมสุขภาพ งาน ป้องกันโรคไว้ได้ด้วย
"เมื่อนำข้อมูลจาก 3 แหล่ง มาเทียบกัน ( กรมจัดหางาน สำนักงานประกันสังคม และกองทุนหลักประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว) พบว่ายังมีประชากรข้ามชาติอีกจำนวนมาก ถึง 42 % ที่ยังไม่ได้อยู่ในระบบประกันใด ๆ จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมจะต้องมีมาตรการในเรื่องนี้ นอกจากนี้เห็นว่า คนที่อยู่ในประเทศไทยทุกคนต้องมีหลักประกันสุขภาพอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องทบทวนเรื่องกฎหมายให้เรื่องการให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพมีสถานะเป็นกฎหมายด้วย และด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดตนจึงขอจัดเกรดรัฐบาลชุดนี้ร่วงด้วยเช่นกัน เพราะถึงแม้นโยบายบางส่วนจะดีแต่การนำมาปฏิบัติยังร่วงอยู่"
รัฐล้มเหลว ไร้การดูแล แรงงาน -นักปกป้องสิทธิถูกฟ้องปิดปาก
นางณัฐาศิริ เบิร์กแมน ผอ.สมาคมนักกฏหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงผลกระทบจากการใช้มาตรการฟ้องคดีปิดปากต่อนักสิทธิมนุษยชนด้านแรงงาน [SLAPP] ว่า การฟ้องคดีปิดปาก คือการฟ้องคดีเพื่อระงับ ยับยั้ง ไม่ให้ประชาชนหรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเพื่อเรียกร้องการคุ้มครองสิทธิสามารถทำงานต่อไปได้อย่างมีอิสระ เป็นการสร้างภาระทางคดี ทำให้การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต้องยุติไปหรือทำได้น้อยลง
พร้อมยกตัวอย่างกรณีแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ในฟาร์มเลี้ยงไก่ จังหวัดลพบุรี ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อพนักงานตรวจแรงงาน ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าได้มีการละเมิดกฎหมายสิทธิแรงงานหรือไม่ เพราะฟาร์มไม่ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดทั้งเรื่องค่าแรง ชั่วโมงการทำงาน วันหยุดพักผ่อน และวันพักร้อน ซึ่งการกระทำของแรงงานเป็นสิทธิที่สามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ในที่สุดเมื่อเจ้าพนักงานพบว่า มีการละเมิดสิทธิแรงงานจริง จึงสั่งให้ฟาร์มไก่จ่ายค่าชดเชยให้แรงงาน แต่เจ้าของฟาร์มกลับฟ้องแรงงานข้ามชาติที่ออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง รวมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งนักกิจกรรมด้านแรงงาน และสื่อมวลชน ภายหลังจากเรื่องดังกล่าวถูกเผยแพร่เป็นข่าวสาร
"กรณีนี้เห็นได้ชัดว่าการฟ้องคดีเช่นนี้เป็นการฟ้องคดีเพื่อยุติการมีส่วนร่วมในประโยชน์สาธารณะ ที่น่าเศร้าก็คือ แม้เอกชนรายนี้จะได้ดำเนินคดีกับแรงงาน นักข่าว นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการรวมกันเกือบ 20 คดีแล้ว แต่จนถึงปัจจุบันนี้รัฐบาลก็ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการแก้ไขการฟ้องปิดปากเช่นนี้ ถือว่า รัฐบาลล้มเหลวในการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และล้มเหลวในการปกป้องสิทธิแรงงานไปในคราวเดียวกัน นอกจากนี้เห็นว่าจะต้องมีการออกกฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีปิดปาก เพื่อให้นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจะไม่ต้องถูกฟ้อง เพราะคนเหล่านี้กำลังช่วยรัฐบาลแก้ไขปัญหาอยู่ " นางณัฐาศิริ ระบุทิ้งท้าย
ทั้งหมดคือ การสรุปสถานการณ์การย้ายถิ่นและการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ซึ่งจัดเกรดโดยเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ที่แม้รัฐบาลดูจะมีความพยายามแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์สอบตก ในสายตาของอีกหลายๆ ฝ่าย
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/