ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่มีลูก และไม่มีลูก ทั้งชายและหญิงในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดคำถามว่า เป็นผลมาจากการขาดการสนับสนุนของภาครัฐในการเลี้ยงดูลูกอย่างเพียงพอ ทำให้แรงงานทั้งชายและหญิงต้องลดเวลาทำงานเพื่อไปดูแลลูก และก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อค่าจ้างของแรงงานทั้งสองกลุ่มหรือไม่
ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิง (gender wage gap) มีแนวโน้มลดลงทั่วโลก ในประเทศไทยก็เช่นกัน ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของการลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการลงทุนทางการศึกษาของผู้หญิงที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้คุณลักษณะของผู้หญิงมีการยกระดับขึ้น ระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานและมีบทบาทมากยิ่งขึ้น รวมถึงการกีดกันทางเพศที่ลดลง ทำให้ค่าจ้างของผู้หญิงโดยเฉลี่ยมีการปรับตัวสูงขึ้น
ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่กล่าวได้ว่า มีปัญหาการกีดกันทางเพศ (gender discrimination) ที่ค่อนข้างน้อยมาก ดังจะเห็นได้จากการลงทุนทางการศึกษาของครอบครัวไทย ที่ไม่มีปัญหาอคติในการให้การศึกษากับลูกสาวหรือลูกชาย ซึ่งแตกต่างจากบางประเทศ จึงทำให้ระดับการศึกษาของผู้หญิงไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ผู้หญิงมีการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น และค่าจ้างของผู้หญิงก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยงานวิจัยเรื่อง: ช่องว่างค่าจ้างระหว่างชายหญิงและผลของการมีลูกในประเทศไทย โดยผศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ณ ห้องแถลงข่าว อาคาร 2 ชั้น 1 ธนาคารแห่งประเทศไทย
งานวิจัยชิ้นนี้ พบผลกระทบเชิงลบต่อค่าจ้างของแรงงานที่มีลูก(Parenthood Wage Penalty) และช่องว่างค่าจ้างระหว่างกลุ่มแรงงานที่มีลูกและแรงงานที่ไม่มีลูกนั้น (Parenthood Wage Gap) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผลกระทบเชิงลบต่อค่าจ้างของแรงงานที่มีลูกนี้ ถือเป็นต้นทุนที่คุณพ่อคุณแม่ในไทยต้องแบกรับ ทั้งยังก่อให้เกิดคำถามว่า รัฐสามารถที่จะช่วยแก้ไขปัญหาบรรเทาการแบกรับต้นทุนนี้ได้อย่างไร และนโยบายช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอหรือไม่
ผศ.ดร.ศศิวิมล กล่าวถึงระดับการศึกษาของผู้หญิงไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ผู้หญิงมีการเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มมากขึ้น และค่าจ้างของผู้หญิงก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเดิมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ค่าจ้างเฉลี่ยของผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชายมากถึง 20% แต่ปัจจุบันช่องว่างลดลง แทบไม่มีความแตกต่างกัน
“ภาคการผลิตและอาชีพที่แรงงานหญิงเลือกทำ เป็น 2 ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เกิดการลดลงของความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิง โดยในส่วนภาคการผลิตนั้น พบว่า ผลของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 30 ปี จากเดิมที่เน้นการผลิตในภาคเกษตรมาเป็นการผลิตในภาคอุตสาหกรรม จนมาถึงภาคบริการในปัจจุบัน ส่งผลให้ผู้หญิงมีการเคลื่อนย้ายจากการเป็นแรงงานในภาคเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสถานะแรงงานในครัวเรือนและไม่ได้รับค่าจ้าง กลายมาเป็นกลุ่มแรงงานที่ได้รับค่าจ้างและมีสัดส่วนจำนวนที่ทำงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แนวโน้มสัดส่วนร้อยละแรงงานหญิงในภาคการผลิตหลักในประเทศไทย
ขณะที่อาชีพของแรงงานหญิง จากการศึกษาพบว่า ตลาดแรงงานไทยเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีการทำงานในอาชีพที่มั่นคงและมีระดับรายได้สูงขึ้น โดยจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า สัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานในกลุ่มงานวิชาชีพและเกี่ยวข้อง (professional jobs and related) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากร้อยละ 35 ในช่วงปี 1985–1995 เป็นร้อยละ 51 ในช่วงปี 2007–2017 แสดงถึงความก้าวหน้าในด้านการประกอบอาชีพของแรงงานหญิงไทยในช่วงปีปัจจุบัน
การมีลูกส่งผลกระทบต่อค่าจ้าง
ความน่าสนใจ งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ข้อมูลทั้งจากการสํารวจภาวะการทํางานของประชากรและการสํารวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติประกอบการวิเคราะห์ พบว่า ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่มีลูก และไม่มีลูกทั้งชายและหญิงในประเทศไทยนั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และพบว่า
- แรงงานชายที่มีลูกได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานชายที่ไม่มีลูก 17%
- ส่วนแรงงานหญิงที่มีลูกได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานหญิงที่ไม่มีลูก 22% เนื่องจากต้องจัดสรรเวลาไปเลี้ยงลูกทำให้มีเวลาทำงานลดลง
“เมื่อพิจารณากลุ่มแรงงานหญิงที่แต่งงานแล้ว พบว่า มีอัตราการเข้าร่วมแรงงานสูงถึงร้อยละ 80 ผลการศึกษาในประเทศไทย พบว่า การมีลูกส่งผลกระทบทางลบต่อค่าจ้างของแรงงานหญิง (motherhood wage penalty) และแรงงานชาย (fatherhood wage penalty) โดยแรงงานที่ไม่มีลูกจะมีระดับค่าจ้างเฉลี่ยที่สูงกว่าแรงงานที่มีลูก ซึ่งความแตกต่างของค่าจ้างนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 30 ปี (ภาพที่ 3) โดยผลการศึกษาสอดคล้องกับงานของ Srisomboon (2016) ที่พบความแตกต่างของค่าจ้างของแรงงานหญิงที่มีลูกและไม่มีลูกในช่วงปี 1985–2012 เป็นที่น่าสนใจว่า ผลการศึกษาที่พบในประเทศไทยขัดกับผลการศึกษาในประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ ที่พบว่าแม้จะเกิดผลกระทบทางลบต่อค่าจ้างของคุณแม่ แต่จะเกิดผลกระทบทางบวกต่อค่าจ้างของคุณพ่อ (fatherhood wage bonus) ด้วย”
แนวโน้มความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่ไม่มีลูกและมีลูกในประเทศไทย
ปัจจัยใดบ้างสามารถอธิบายผลกระทบของการมีลูกต่อค่าจ้าง
สาเหตุของความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่มีลูกและไม่มีลูกนั้น สามารถอธิบายได้จากความแตกต่างของพฤติกรรมการทำงานของแรงงานชายและหญิงก่อนและหลังการมีลูก
- กรณีของแรงงานหญิง ค่าจ้างเฉลี่ยที่ต่ำลงภายหลังจากการมีลูก มีสาเหตุมาจากทั้งพฤติกรรมการทำงานของแรงงานหญิงเอง ที่ภายหลังจากมีลูก ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะลดชั่วโมงการทำงานลง เนื่องจากต้องแบ่งสรรเวลาไปเลี้ยงดูลูก และจากปัจจัยทางสถาบันที่ขาดการสนับสนุนสิทธิที่พึงมีของผู้หญิงที่มีลูก ทั้งในเรื่องของการลาคลอดบุตร ความช่วยเหลือจากภาครัฐในการเลี้ยงดูลูก การกีดกันการจ้างงานของแรงงานหญิงที่มีลูกในตลาดแรงงาน
- กรณีของแรงงานชายนั้น ผลการศึกษาส่วนใหญ่ในต่างประเทศ พบว่าแรงงานชายจะได้รับผลในเชิงบวก คือ ยิ่งมีลูกยิ่งทำให้ค่าจ้างเพิ่มสูงขึ้น โดยสามารถอธิบายได้จากพฤติกรรมภายหลังจากมีลูกที่ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะทำงานเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในสังคมส่วนใหญ่ ผู้ชายเป็นผู้หารายได้หลักในครอบครัว (breadwinner in the family) ส่วนผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้หารายได้รอง (secondary earner)
กลับกัน ผลการศึกษาของไทยที่พบ ผลกระทบทางลบต่อค่าจ้างของคุณพ่อนั้น ตรงกับผลการศึกษาในประเทศนอร์เวย์ของ Cools and Strom (2016) ซึ่งได้ให้คำอธิบายว่า ผลเชิงลบนี้เกิดจากการที่ผู้ชายต้องมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูลูก รวมถึงช่วงระยะเวลาการใช้สิทธิการลาไปดูแลลูก (parental leave) ที่ค่อนข้างนาน แต่ประเด็นระยะเวลาการใช้สิทธิการลานี้ไม่น่าจะเป็นตัวอธิบายในกรณีของประเทศไทย เพราะในปัจจุบัน แม้ว่ากฎหมายไทยจะกำหนดให้ผู้หญิงมีสิทธิการลาคลอดบุตร 90 วัน แต่ยังไม่ได้กำหนดสิทธิในการลาเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้ชาย ดังนั้น สิทธิการลาของแรงงานชายในภาคเอกชนจะขึ้นอยู่กับระเบียบของแต่ละหน่วยงาน และถึงแม้ว่าแรงงานชายในภาครัฐจะได้สิทธิในการลาเป็นระยะ 15 วัน ก็เป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น ประเทศสวีเดนที่แรงงานชายสามารถลาเลี้ยงดูบุตรได้สูงสุด 480 วัน
พร้อมกันนี้ ผู้วิจัย ยังเสนอแนะ โดยมีข้อสรุปเชิงนโยบาย
ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่มีลูกและไม่มีลูกทั้งชายและหญิงในประเทศไทยนั้น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดคำถามว่า เป็นผลมาจากการขาดการสนับสนุนของภาครัฐในการเลี้ยงดูลูกอย่างเพียงพอ ทำให้แรงงานทั้งชายและหญิงต้องลดเวลาทำงานเพื่อไปดูแลลูก และก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อค่าจ้างของแรงงานทั้งสองกลุ่มหรือไม่ โดยผลกระทบเชิงลบต่อค่าจ้างนี้ถือเป็นต้นทุนที่แรงงานต้องแบกรับ ทั้งนี้ ภาครัฐอาจสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการแบกรับต้นทุนนี้และมีการช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ในประเทศไทยผ่านนโยบายต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูก เป็นต้น
อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม:ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิงและผลของการมีลูกในประเทศไทย