วงเสวนาให้คะแนนกระทรวงแรงงานจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติหลังโควิด 3 ใน 4 ผู้เข้าร่วมให้ระดับ 'ถอยหลัง' เผยปัญหาระบบลงทะเบียนซับซ้อน-เจ้าหน้าที่รัฐขาดความเข้าใจ-ดำเนินนโยบายไม่คำนึงถึงสิ่งที่เกิดขึ้น-ไม่มีล่ามในโรงพยาบาล
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2565 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group : MWG) จัดงานวันผู้ย้ายถิ่นสากล (International Migrant Day 2022) ในงานมีการเสวนา 'เช็คคะแนนกระทรวงแรงงาน เดินหน้า ย่ำอยู่กับที่ หรือถอยหลัง กับการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ หลังสถานการณ์โควิด' โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมเสวนา
ก่อนเริ่มเวทีเสวนา Maximilian Pottler หัวหน้าแผนกการเคลื่อนย้ายแรงงานและการบูรณาการทางสังคมองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ 'เปิดกว้างการจ้างงานที่เป็นธรรม เชื่อมโยงการจัดหางานอย่างมีจริยธรรม เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ'
นายอดิศร เกิดมงคล
ต่อมานายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรประชากรข้ามชาติกล่าวถึงประเด็น แรงงานข้ามชาติที่หลุดออกจากระบบในช่วงก่อนและหลังการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีแรงงานข้ามชาติหายไปจากระบบการจ้างงานมากถึง 642,016 คน ปัญหาจากการลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่ไม่โปร่งใส ขั้นตอนการลงทะเบียนมีความซับซ้อน มีค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนยิบย่อยสิ้นเปลือง ความเสี่ยงของการเกิดแรงงานเถื่อนที่มาจากผู้ลี้ภัย
ในส่วนของการประเมินคะแนนกระทรวงแรงงานว่า รัฐบาลสอบตกและถอยหลังในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติ 4 ประการ ได้แก่ แรงงานข้ามชาติหลุดออกจากระบบได้ง่ายเนื่องจากข้อจำกัดในการย้ายนายจ้าง ระบบการจัดการแรงงานข้ามชาติซับซ้อนยุ่งยากเอื้อต่อนายหน้าและคอรัปชั่น จำนวนแรงงานข้ามชาติที่เดินทางเข้าเมืองด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องเพิ่มมากขึ้น และนโยบายที่เน้นการแก้ปัญหาและดำเนินงานในระยะสั้น ไม่มีการวางแผนแก้ปัญหาและดำเนินงานในระยะยาว
นายอดิศรกล่าวถึงข้อเสนอต่อภาครัฐว่า ต้องการให้รัฐบาลมีการทบทวนแนวทางและระยะเวลาในการดำเนินการจดทะเบียนและขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน การปรับระบบการให้บริการของภาครัฐให้มีความซับซ้อนยุ่งยากน้อยลง ในระยะยาวต้องการให้วางแผนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่เ็นระบบและการบริหารจัดการปัญหาผู้ลี้ภัย
นางแฉล้ม สุกใส
นางแฉล้ม สุกใส ตัวแทนนายจ้างกิจการก่อสร้าง กล่าวถึงประเด็นปัญหาการลงทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่มีความล่าช้าและซับซ้อน ทำให้แรงงานที่ขึ้นทะเบียนไม่ทันถูกจับดำเนินคดี อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐที่ดำเนินการจับกุมแรงงานไม่มีความเจ้าใจในเอกสารของแรงานข้ามชาติที่มีความหลากหลายรูปแบบจากมติของคณะรัฐมนตรี ในส่วนของการประเมินคะแนนกระทรวงแรงงานให้ถอยหลังเนื่องจากปัญหาที่พบเป็นปัญหาที่เกิดจากระบบเอกสารที่มีความซับซ้อนล่าช้า มีข้อเสนอแนะ คือ หน่วยงานภาครัฐที่มีความเกี่ยวข้องเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติควรสื่อสารทำความเข้าใจในนโยบายของแต่ละหน่วยงาน เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดความเข้าใจผิดและนำไปสู่การจับกุมแรงงาน
นางสาวธนพร วิจันทร์
นางสาวธนพร วิจันทร์ นักปกป้องสิทธิแรงงาน กล่าวถึงประเด็น ปัญหาการปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในช่วงโควิด-19 ที่ไม่รวดเร็วจนทำให้คนงานไม่ทันได้เตรียมตัวรับมือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น การออกเอกสารรับรองแรงงานข้ามชาติในช่วงโควิด-19 ที่ไม่สามารถทำเอกสารแล้วถูกจับดำเนินคดี กลไกการทำงานของหน่วยงานรัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่คำนึงถึงสิ่งที่แรงงานข้ามชาติต้องแบกรับ การเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้ ส่วนการให้คะแนนการทำงานของกระทรวงแรงงานนั้น มองว่าถอยหลังและถอยหลังทั้งรัฐบาล เพราะว่ากระบวนการจัดการที่มีปัญหา มีทัศนคติที่ไม่ดีกับแรงงานข้ามชาติ มีข้อเสนอแนะ คือ กระทรวงแรงงานควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยของแรงงานทุกคนในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใด รัฐบาลควรแก้ไขปัญหาการขึ้นทะเบียนแรงงานให้มีความซับซ้อนน้อยลง ประหยัดเวลามากขึ้น
Thandar Myo
สุดท้าย Thandar Myo อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.) กล่าวถึงประเด็นปัญหาสถานพยาบาลในไทยไม่มีล่าม ทำให้แรงงานข้ามชาติที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลสื่อสารกับบุคคลากรทางการแพทย์ไม่เข้าใจ แต่หากให้ประเมินการทำงานของรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์โควิด ยังมองว่ามีความก้าวหน้า เนื่องจากภาครัฐมีการสนับสนุนการทำงานของตน มีโรงพยาบาลสนาม ยารักษาและถุงยังชีพให้กับแรงงานข้ามชาติในช่วงสถานการณ์โควิดระบาด รวมถึงจัดเตรียมวัคซีนให้กับ อสต. ที่เป็นด่านหน้าและให้กับแรงงานข้ามชาติอย่างทั่วถึง มีข้อเสนอแนะ คือ อยากให้หน่วยงานรัฐเพิ่มจำนวน อสต. ให้มากขึ้นและมีค่าตอบแทนและได้รับการยอมรับเหมือน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Migrant Working Group