ไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศ "สุดท้าย" ของภูมิภาคอาเซียนที่ยังไม่มีกฎหมายรับรองการให้บริการ Ride-hailing มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา ปรับแก้กฎหมายให้รองรับการให้บริการนี้แล้ว ลักษณะที่แตกต่างกัน
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านแอปพลิเคชั่น หรือ Ride-hailing ได้เปลี่ยนวิถีชีวิตและการเดินทางของคนในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (CONC Thammasat) เปิดผลการศึกษาและวิจัยเชิงวิชาการ หัวข้อ "อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านแอปพลิเคเชั่น (Ride-hailing service) บทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยและความจำเป็นในการพัฒนาหลักเกณฑ์และกฎหมายให้ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน" มีดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการศึกษาและวิจัยฯ
ในงานวิจัยชิ้นนี้ พบว่า ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศ "สุดท้าย" (พม่า ไทย ลาว) ของภูมิภาคอาเซียนที่ยังไม่มีกฎหมายรับรองการให้บริการ Ride-hailing
7 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย บรูไน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และกัมพูชา มีการปรับแก้กฎหมายให้รองรับการให้บริการ Ride-hailing แล้ว ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกัน
โดยเฉพาะที่ สิงคโปร์ มีการดำเนินการควบคุม โดย LTA (Land Transport Authority of Singapore) ได้ออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่ส่งเสริมการแข่งขันที่เท่าเทียมระหว่างรถแท็กซี่เดิม และรถยนต์ส่วนบุคคลที่ให้บริการ Ride-hailing ปกป้องผลประโยชน์ผู้โดยสาร
CONC Thammasat ได้ศึกษาเจาะลึก Ride-hailing ในประเทศสิงคโปร์ไว้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่พฤติกรรมของผู้โดยสาร จำนวนแท็กซี่เทียบกับรถยนต์ การกำกับดูแล และอัตราค่าโดยสาร
พฤติกรรมของผู้โดยสาร
2 ใน 3 ของการเดินทางในสิงคโปร์เกิดขึ้นผ่าน Ride-hailing
ประชาชนสิงคโปร์ไม่นิยมซื้อรถมาขับ เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลมีการควบคุมปริมาณรถในประเทศ ทำให้การซื้อรถมีภาระและค่าใช้จ่ายสูง (ภาษี ประกันรถ ใบอนุญาตครอบครองรถยนต์ ค่าธรรรมเนียม) อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประชาชนบางส่วนที่ใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน
ประเทศเล็กๆ อย่างสิงคโปร์ มีรถแท็กซี่ 20,000 คัน และรถยนต์ส่วนบุคคล 45,000 คัน ในปี 2561 สิงคโปร์ นับได้ว่า เป็นตลาด Ride-hailingที่มีขนาดใหญ่อันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย และไทย
สิงคโปร์มีแนวทางการกำกับ (regulatory approach) ที่พอจะเป็นแนวทางให้กับประเทศไทยได้
1.จูงใจให้เกิดการแข่งขันและพัฒนานวัตกรรมทั้งด้านมาตรฐานการให้บริการ ความปลอดภัย และค่าโดยสาร
2.การกำกับดูแลที่ไม่เข้มงวดจนเกินไป (Light Touch Approach) ด้วยหลักที่ว่า กลไกการตลาดสามารถหาจุดสมดุลได้ด้วยตัวเอง เพราะมีการแข่งขันกัน ทั้งแท็กซี่และ Ride-hailing
3. ปัจจุบันการกำกับดูแลเฉพาะส่วนผู้ขับขี่และรถยนต์ ส่วนการกำกับดูแลผู้ให้บริการ Ride-hailing อยู่ระหว่างการร่าง และจะบังคับในปี 2563
ผู้ขับขี่ ต้องได้รับใบอนุญาตขับรถ สำหรับการขับรถส่วนบุคคลรับจ้าง หรือ Driver's Vocational Licence (PDVL) เพิ่มเติม จากใบอนุญาตขับรถแบบปกติ ซึ่งประกอบด้วยการตรวจสอบทางการแพทย์ และการฝึกอบรมเพิ่มเติม
รถยนต์ ที่ให้บริการ Ride-hailing จำเป็นต้องติดสติกเกอร์ (Car Decal) เพื่อแสดงตัว
ระบบการตรวจสอบสภาพรถและวิธีการ ยังคงใช้วิธีการเดียวกับรถยนต์ส่วนบุคคลปกติ โดยความถี่ในการตรวจอยู่ระหว่าง 1-3 ปี ขึ้นอยู่กับอายุรถ
ขณะที่อัตราค่าโดยสาร แท็กซี่และผู้ให้บริการ Ride-hailing มีระบบการคิดค่าโดยสารเป็นของตัวเอง โดยควบคุมผ่านกลไกตลาดทั้งเรื่องจำนวนรถยนต์และจำนวนผู้โดยสาร ซึ่งทำให้ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการให้บริการและภาพรวมของอุตสาหกรรม Ride-hailing มีประสิทธิภาพ
ดังนั้น ผู้ให้บริการต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อดึงดูดผู้โดยสาร ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ด้านราคา เงินจูงใจ หรือบริการเสริมที่สร้างมูลค่าเพิ่มต่างๆ
นอกจากนี้ผู้ให้บริการสามารถกำหนดราคาสำหรับการเดินทางได้อย่างอิสระ แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขว่า ราคาดังกล่าวต้องแสดงให้กับผู้โดยสารก่อนตัดสินใจเดินทาง เพื่อให้ผู้โดยสารมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งราคากำหนดแบบ Dynamic Pricing นั้นจะสนับสนุนให้เกิดการจับคู่กันระหว่างอุปสงค์และอุปทานในอนาคต โดยราคาจะสูงช่วงที่มีความต้องการใช้บริการสูง และต่ำลงในช่วงที่มีความต้องการใช้บริการต่ำ
ส่วนประเทศอินโดนีเซีย Indonesian Association for public Opinion Surveys (Persepi) ได้จัดทำงานวิจัยใน 5 เมืองหลักของประเทศอินโดนีเซีย (จาการ์ตา บันดุง สุราบายา มากัสซาร์ และเมดาน) ช่วงเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2561 โดยมีประชากรกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักของ Ride-hailing (Grap) ที่มีการใช้งานตลอดช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ GrapBike และ GrapCar สุ่มตัวอย่างสัมภาษณ์ตัวต่อตัว ได้ผลการวิจัยดังนี้
- ประชากร 70.5 ล้านคนของอินโดนีเซีย หรือคิดเป็นร้อยละ 53 ของลูกจ้างทั้งหมด ทำงานนอกระบบ โดยส่วนใหญ่ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำของภูมิภาค เนื่องจากทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
- GrapBike และ GrapCar ช่วยทำให้ประชากรกลุ่มนี้สามารถใช้เทคโนโลยีที่มีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ สร้างอาชีพเสริม รวมถึงมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่มีรายได้มาก่อน และผู้ที่มีอายุสูงกว่า 40 ปี อีกทั้งยังสร้างประโยชน์ในด้านความยืดหยุ่นในชั่วโมงการทำงาน และมีเวลาให้กับครอบครัวเพิ่มขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น บริการ Ride-hailing นี้ ยังสร้างมูลค่ากว่า 48.9 ล้านรูเปียห์ หรือ 1.1 แสนล้านบาท ให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซีย...
ตอนต่อไป จะว่าด้วยเรื่อง "มองไปข้างหน้า อนาคตสังคมเมืองไทย ที่มี Ride-hailing ที่ถูกกฎหมาย"
ขอบคุณภาพประกอบจาก:https://www.grab.com
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/