"เด็กนักเรียนจะต้องเรียนได้ทั้งที่บ้าน และ ที่โรงเรียน การเรียนการสอน ไม่ควรยกให้เป็นภาระของโรงเรียนเท่านั้น ที่บ้านก็จะต้องมีบทบาทมาก แม้กระทั่งท้องถิ่น ก็มีปราชญ์ชาวบ้านมากมาย ที่พร้อมจะสอนได้ การประสบความสำเร็จในชีวิตของเด็ก ไม่ได้เกิดจากการแข่งขันเข้าเรียน การกวดวิชา"
ช่วงเวลา 2 เดือนนับตั้งแต่โรงเรียนกว่า 190 ประเทศทั่วโลกต้องปิดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ยูเนสโก (UNESCO) ยูนิเซฟ (UNICEFf) และธนาคารโลก (World Bank) คาดว่า ได้ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนกว่า 1 พันล้านคน แต่ในช่วงเวลาวิกฤติยังมีโอกาส ถือว่า เป็นประวัติศาสตร์ทางการศึกษาที่รัฐบาลหลายๆประเทศ หันมาใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ โทรทัศน์ และวิทยุ
"โควิด-19" เปลี่ยนชีวิตของผู้คนทั่วโลกสู่ยุคใหม่ หรือที่เรียกว่า ชีวิตวิถีใหม่ ( New Normal) ไม่เว้นแม้แต่ในสถานศึกษา การผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ (lockdown) ให้เปิดเรียนได้ตามปกติ จึงกลายเป็นสิ่งที่ท้าทายรัฐบาลหลายประเทศ เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยากต่อการตัดสินใจว่า จะมีวิธีการอย่างไรไม่ให้มีการแพร่ระบาดของโรคนี้ในโรงเรียน
ที่ฝรั่งเศส ภายหลังจากที่ได้มีการทยอยเปิดสถานศึกษา ปรากฎว่า เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2563 ได้มีการปิดโรงเรียน (ชั้นอนุบาลหรือประถมศึกษา) เป็นการชั่วคราวแล้วจำนวน 70 แห่ง จากทั้งหมด 40,000 แห่ง เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือผู้ต้องสงสัยว่า ติดเชื้อโดยส่วนมากเป็นการติดเชื้อไวรัสจากภายนอกสถานศึกษา
การตัดสินใจปิดโรงเรียนเมื่อพบผู้ติดเชื้อหรือต้องสงสัยว่า ติดเชื้อแสดงให้เห็นถึงมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดที่เข้มงวดในสถานศึกษา
ประเทศเยอรมนีที่โรงเรียนเริ่มเปิดเรียน มีการออกกฎระเบียบเรื่องของการสวมหน้ากาก ของเด็กที่แตกต่างกันออกไป ส่วนที่เดนมาร์ก เปิดโรงเรียนเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา บางวิชาลดการอยู่ในห้องเรียนที่มีความแออัด เช่น การเรียนวิชาดนตรีนอกห้องเรียน ครูพาเด็กๆ ไปเรียนในสวนสาธารณะ หรือสนามเด็กเล่นแทน เป็นต้น
ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในโลก อย่างสหรัฐฯ ก็กำลังถกเถียงกันว่า ควรนำเด็กกลับเข้าห้องเรียนเมื่อใด แม้กระทั่งที่ อิสราเอล มีแผนการเปิดโรงเรียนบางแห่งในเดือนพ.ค.นี้ แต่ก็ถูกต่อต้านจากผู้บริหารท้องถิ่น และผู้ปกครองหลายคนที่อ้างถึงการเตรียมพร้อมของรัฐบาลที่ไม่ดีพอ
ขณะที่เกาหลีใต้ ท่ามกลางสถานการณ์การพบผู้ติดเชื้อที่เชื่อมโยงกับการไปเที่ยวสถานที่บันเทิง บริเวณอิแทวอน กรุงโซล โรงเรียนเปิดขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 พ.ค.ตามกำหนด โดยนักเรียนชั้นมัธยม ประมาณ 440,000 คนเป็นกลุ่มแรกที่เปิดการเรียนการสอน ส่วนนักเรียนชั้นเด็กเล็ก จะเปิดเรียนในวันที่ 8 มิ.ย.นี้
มาตรการการเปิดเรียนอย่างปลอดภัยที่สุด ไม่ให้มีการระบาดในโรงเรียนที่เกาหลีใต้นั้น เกือบทุกแห่งจะมีมาตรการเข้มงวด เน้นด้านสุขอนามัยเป็นพิเศษ ทั้งการวัดอุณหภูมิด้วยกล้อง แจกเจลแอกอฮอล์ล้างมือให้เด็กทุกคน การตีเส้นขนานสีแดงที่ทำเครื่องหมายไว้บนพื้น เพื่อให้มีระยะห่าง ลดการใกล้ชิดและการสัมผัสกัน การจัดโต๊ะห่างกัน 1 เมตร มีฉากกั้นบนโต๊ะทั้งในห้องเรียนและโรงอาหารของโรงเรียน เป็นต้น
ในส่วนของประเทศไทย ขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองจัดการศึกษาทางไกลผ่านโทรทัศน์ระบบดิจิทัล โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เว็บไซต์ และแอปพลิเคชั่น ก่อนเปิดเทอมจริงในวันที่ 1 กรกฎาคมนั้น
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก รพ.จุฬาฯ ชี้ว่า แม้ว่า ขณะนี้บ้านเราติดเชื้อน้อยมาก พบการติดเชื้อ ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ มาตรการในการควบคุมทำได้ดีมาก แต่ยังมีโรคนี้ระบาดอยู่ทั่วโลก มีผู้ป่วยใหม่วันละเป็นแสนคน จึงเป็นการยากที่จะกวาดล้างไวรัสนี้ให้หมดไป ทุกคนจึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัว ให้เข้ากับวิถีชีวิตใหม่
ในทุกปี โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่นไข้หวัดใหญ่ RSV จะพบน้อยมากในฤดูร้อน และในช่วงปิดเทอม จะระบาดมากในฤดูฝน เริ่มตั้งแต่นักเรียนเปิดเทอม จะติดต่อกันง่ายมาก ในโรงเรียน โควิด-19 เป็นอีกโรคหนึ่งที่มีการติดเชื้อ เช่นเดียวกับโรคทางเดินหายใจ ผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา ชี้ว่า ไม่แปลก ที่จะระบาดในฤดูฝน โดยเฉพาะจากเด็กสู่เด็กก่อน แล้วจึงแพร่ระบาดออกไป
การระบาดในระลอก 2 ถ้าเกิดในฤดูฝน อย่างไข้หวัดใหญ่ ศ.นพ.ยง ระบุว่า ยากที่จะควบคุม จะต้องเริ่มต้นปิดบ้านปิดเมืองใหม่ หรือ ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น การเรียนการสอนปีนี้ จึงต้องอยู่ในวิถีชีวิตใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดการระบาดของโรคได้
"เด็กนักเรียนจะต้องเรียนได้ทั้งที่บ้าน และ ที่โรงเรียน การเรียนการสอน ไม่ควรยกให้เป็นภาระของโรงเรียนเท่านั้น ที่บ้านก็จะต้องมีบทบาทมาก แม้กระทั่งท้องถิ่น ก็มีปราชญ์ชาวบ้านมากมาย ที่พร้อมจะสอนได้ การประสบความสำเร็จในชีวิตของเด็ก ไม่ได้เกิดจากการแข่งขันเข้าเรียน การกวดวิชา โรงเรียนกวดวิชาไม่สามารถกำหนดระยะห่างของบุคคลได้ เด็กเรียนกวดวิชาจ่ายค่าเล่าเรียนแพง แล้วนั่งเรียนกับครูตู้ นั่งติดกัน ก็ไม่เห็นมีใครบ่น หรือดรามา"
ศ.นพ.ยง มองว่า ที่ผ่านมา คนมีฐานะสามารถให้ลูกหลานไปเรียนกวดวิชา เกิดความแตกต่างทางการศึกษา เพราะตัววัดของเราไม่ดี คุณครูเองก็จะต้องเปลี่ยนวิธีการสอนใหม่ เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสเลย การเรียนเชิงภาคปฏิบัติ ปฏิบัติงานจริง ไปทำได้จริง ถึงอยู่ที่บ้านก็สามารถทำได้
"การศึกษาในปีนี้ จึงต้องมีการเตรียมการ การเรียนการสอนแบบวิถีชีวิตใหม่ ให้เด็กไทยประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ใช่เกิดความเครียดในการเรียน ตั้งแต่เช้าจนเย็น นอกเวลาต้องไปกวดวิชา วิถีชีวิตใหม่ อาจทำให้เด็กมีความสุขมากขึ้นก็ได้"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: หน้าตาห้องเรียนแต่ละประเทศที่เปลี่ยนไป! หลังเจอ 'โควิด-19' ระบาด
ที่มาภาพ:https://en.unesco.org/news/sughra-pakistan-embracing-education-covid-19 ,https://en.unesco.org/news/new-guidelines-provide-roadmap-safe-reopening-schools