การเปลี่ยนผ่านจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ไปสู่มาตรการสร้างเสถียรภาพ ควรต้องเตรียมตัวและให้มั่นใจว่า มาตรการที่สําคัญยังคงอยู่ ไม่เปลี่ยนผ่านแบบรวดเร็ว ควรเริ่มจากจังหวัดกลุ่มแรกที่ไม่พบผู้ป่วย 'โควิด' ใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มได้ต้นเดือนพฤษภาคม หรืออาจนําร่องทดลองปลายเดือนเมษายน 3-4 จังหวัด หลังจากนั้นจึงเริ่มในกลุ่มจังหวัดที่พบผู้ป่วยติดเชื้อในพื้นที่แบบประปราย
- 29 จังหวัด ไม่พบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) รายใหม่ในช่วง 14 วัน (4-17 เม.ย.)
- มี 9 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท ตราด น่าน บึงกาฬ พิจิตร ระนอง สิงห์บุรี และอ่างทอง ไม่มีผู้ป่วยมาก่อน
ข้อมูล กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 18 เมษายน 2563 และยังมีอีกหลายสถิติที่บ่งชี้ว่า สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยไทยมีแนวโน้มดีขึ้น
เพื่อความ "ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก" ดั่งที่ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พูดและเน้นย้ำอยู่เสมอถึงเสียงเรียกร้องให้มีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ นั้น จะต้องอาศัยวิถีแบบใหม่ (New Normal) ของคนไทย ทั้งการใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือตลอดเวลา มีระยะห่างตลอดเวลา ควบคู่กันไปด้วย
ก่อนที่สัปดาห์หน้า ศบค. จะมีการพิจารณาผ่อนคลายมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ กรณีของร้านตัดผม และห้างสรรพสินค้า หรือผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์อื่น ๆ นั้น ล่าสุดมีนักวิชาการ ประกอบด้วย น.พ. คํานวณ อึ้งชูศักดิ์, น.พ. ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ , น.พ. ยง ภู่วรวรรณ, น.พ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา, น.พ. ทวี โชติพิทยสุนนท์, น.พ. ครรชิต ลิมปกาญจนารัตน์, น.พ. ธนรักษ์ ผลิพัฒน์
และอดีตผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย น.พ. หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ , น.พ. ไพจิตร์ วราชิต, น.พ. โสภณ เมฆธน, น.พ. เจษฎา โชคดํารงสุข, น.พ. ธวัช สุนทราจารย์, น.พ. มานิต ธีระตันติกานนท์, น.พ. ประพนธ์ ตั้ง ศรีเกียรติกุล ร่วมกันจัดทําข้อเสนอ "การเปิดเมืองอย่างปลอดภัย" โดยปัจจุบันข้อเสนอนี้อยู่ระหว่างการขอความเห็นจากทุกภาคส่วนของสังคมไทย ก่อนนำเสนอ ศบค.ต่อไป
นี่คือ บทสรุปของข้อเสนอ การเปลี่ยนผ่านจากมาตรการ “กึ่งล็อกดาวน์” เข้าสู่มาตรการ “ สร้างเสถียรภาพ” ...
โรคโควิด-19 เป็นโรคอุบัติใหม่ที่แพร่จากคนสู่คนผ่านการได้รับฝอยละอองที่ออกมาจากปากและจมูก ของผู้ติดเชื้อไปสู่คนใกล้ชิด เนื่องจากเป็นโรคที่คนไม่มีภูมิคุ้มกันจึงแพร่ระบาดได้รวดเร็วและมีความรุนแรงมากเป็นพิเศษในผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจําตัว
องค์การอนามัยโลก ได้ประกาศให้เป็นโรคระบาดทั่วโลก (Pandemic) ซึ่งไม่สามารถกําจัดให้หมดไปได้ในระยะเวลาอันสั้น มาตรการที่ใช้ในการควบคุมโรคระบาดโควิด ประกอบด้วยสามกลุ่มใหญ่ๆ
กลุ่มแรก คือ มาตรการทางด้านสาธารณสุขและการแพทย์
กลุ่มที่สอง คือ มาตรการด้านสังคมโดยการเพิ่มระยะห่างของผู้คนและยกเลิกกิจกรรมทางสังคมที่รวมกลุ่มคนมากๆ
กลุ่มที่สาม เป็นมาตรการที่บังคับให้ทุกคนอยู่ในบ้านและปิดกิจการต่างๆ ที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อ ที่เราคุ้นเคยกับศัพท์ ว่า Lockdown หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ปิดบ้านปิดเมือง โดยมีการกําหนดเคอร์ฟิวตลอดวัน
มาตรการกลุ่มที่สาม มักใช้ในสถานการณ์ที่พบว่า มีผู้ติดเชื้อจํานวน มาก และระบบการรักษาพยาบาลผู้ป่วยหนักไม่สามารถรองรับได้ทัน
ตัวอย่างที่พบเห็นเช่นในเมืองอู่ฮั่นและหลายเมืองหลายรัฐในยุโรป
สําหรับประเทศไทย ได้นํามาใช้ทั้งสามกลุ่มมาตรการ โดยมาตรการกลุ่มที่สามหรือ " ล็อกดาวน์” นั้น กําลังใช้อยู่ในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่ถึงกับการปิดประเทศปิดเมืองอย่างเต็มที่ น่าจะจัดเป็น "กึ่งล็อกดาวน์” โดยมีการออกข้อกําหนดตามพ.ร.ก. บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเคอร์ฟิวบางช่วงเวลา แต่ครอบคลุมทุกจังหวัด
ในขณะนี้สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยไทยมีแนวโน้มดีขึ้น ...มาตรการกึ่งล็อกดาวน์ ที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน มีส่วนสําคัญในการควบคุมการแพร่ระบาดในประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีสถานการณ์รุนแรง
อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการนี้โดยครอบคลุมทุกจังหวัดทั้งประเทศ มีต้นทุนสูงทางเศรษฐกิจและสังคม ควรดําเนินการเพียงชั่วคราวในระยะเวลาจํากัดเท่าที่เป็นประโยชน์ หากเนิ่นนานโดยไม่จําเป็นจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อประชากรที่มีรายได้น้อย มีหนี้สินครัวเรือนสูง ทําให้เกิดการตกงาน 5-7 ล้านคน สร้างความกดดันทางจิตใจ และอาจกระทบกับเสถียรภาพของครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม รัฐบาลจําเป็นต้องใช้งบประมาณสูงมาก ในการช่วยเหลือเยียวยา ประชาชน และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ
หลายประเทศที่กําลังใช้มาตรการล็อกดาวน์ในการแก้ไขวิกฤตโควิด-19 ต่างเริ่มหาทางออกที่จะดําเนินการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไปอย่างได้ผล พร้อมกับการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจและผ่อนคลายความตึงเครียดในสังคม โดยตระหนักว่า การแพร่เชื้อจะยังไม่ยุติโดยสิ้นเชิง ยังมีโอกาสจะเกิดการติดเชื้อต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคมาใช้อย่างเพียงพอ
ในการพิจารณาดังกล่าว มีฉากทัศน์ ทางเลือกที่สําคัญสองฉากทัศน์ สําหรับประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทย ได้แก่
ฉากทัศน์ที่หนึ่ง คือการทําให้ประเทศปลอดจากเชื้อโควิด-19 โดยการปิดเมืองหรือล็อกดาวน์เป็นระยะยาว เช่น 2 หรือ 3 เดือน และทําการค้นหาผู้ติดเชื้อทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการแบบเคาะประตูบ้าน มาแยกรักษา แต่การทําแบบนี้ได้ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล และต้องใช้บริบททางสังคมการเมืองที่สามารถ บังคับใช้กฎระเบียบอย่างเข้มแข็งได้
ในขณะเดียวกันก็จะมีต้นทุนทางสังคมและเศรษฐกิจที่สูงมาก ทางเลือกนี้ ไม่เหมาะที่จะทําทั้งประเทศ แต่อาจนํามาใช้ในพื้นที่หรือชุมชนเล็กๆที่มีการติดเชื้อสูง ดังนั้น ความคิดที่ว่า คนไทยทั้งประเทศควรยอมทนเจ็บครั้งเดียว เป็นเวลาสักสามเดือน ให้จบปัญหาโควิด-19 แล้วกลับไปมีชีวิต ปกติ จึงไม่อาจเป็นจริงได้
ฉากทัศน์ที่สอง คือการยอมรับว่า เราไม่สามารถหยุดการแพร่ของเชื้อโควิด-19 ได้ แต่เราสามารถควบคุมให้มีการแพร่ในระดับที่ต่ำ (low transmission) มีการสูญเสียชีวิตน้อย เพราะโรงพยาบาลรองรับได้ทัน ในขณะเดียวกันก็เริ่มเปิดให้ผู้คนทํามาหาเลี้ยงชีพ ทําธุรกิจ ทําการผลิดนักเรียนได้เรียนหนังสือ คนได้ทํางาน และสังคมไม่หยุดนิ่ง มีการพัฒนาที่สมดุลย์ทั้งการควบคุมโรคและการประกอบกิจการและกิจกรรมต่างๆ เป็น การกลับสู่ชีวิตปกติแต่ด้วยวิถีแบบใหม่ (New Normal)
ฉากทัศน์นี้จะสามารถทําให้เป็นจริงและเกิดขึ้นได้ โดยอาศัยองค์ประกอบที่สําคัญ 5 ประการคือ
1) เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการทางสาธารณสุขและการแพทย์ ประกอบด้วยการขยายการตรวจให้ ครอบคลุมทุกจังหวัด มีการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็ว แยกรักษา เฝ้าระวังค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในบางกลุ่มประชากร ที่เสี่ยงต่อการระบาด เช่นกลุ่มที่อยู่กันแออัด เรือนจํา บ้านคนชรา ชุมชนแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น มีการติดตามผู้สัมผัสอย่างรวดเร็ว มีสถานที่รองรับการแยกกัก และหอพักผู้ป่วยโควิด ที่เพียงพอ สะดวกได้ มาตรฐานในทุกจังหวัด
2) ทําให้ทุกคน ทุกสังคม และทุกพื้นที่ เข้าใจและปฏิบัติตามมาตรการสุขลักษณะ ล้างมือ สวม หน้ากากอนามัยเมื่อออกจากบ้าน การมีระยะห่างทางกายงดการชุมนุม งดงานสังคมที่จัดใหญ่โตมีคนมากๆ เปลี่ยนเป็นงานขนาดเล็กภายในหมู่ญาติสนิทและครอบครัว เป็นต้น
3) เปิดให้ธุรกิจเริ่มเดินหน้า โดยมีการประเมินความเสี่ยงของการดําเนินงานโดยองค์กร ธุรกิจ อุตสหกรรม หากมีความเสี่ยงต้องปรับให้เข้ามาสู่ความเสี่ยงต่ําที่จัดการได้ เช่นใช้มาตรการตรวจวัดไข้ เว้นระยะห่างทาง กาย ลดการใช้เสียง เพิ่มการระบายอากาศ การลดจํานวนผู้คนที่มาติดต่อใช้บริการ และการใช้เทคโนโลยี่ให้ ทํางาน ประชุม ติดต่อบริการ โดยไม่ต้องมีการพบปะกันมากๆ
4) การปิดแหล่งแพร่โรคที่สําคัญ บริการหรือกิจการที่มีความเสี่ยงสูงซึ่งถูกสอบสวนพบว่าเป็นแหล่งแพร่ ระบาดให้เกิดผู้ติดเชื้อมากๆ อันได้แก่ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ สถานบริการทางเพศทั้งตรงและแฝง สนามการพนันในรูปแบบต่างๆ ต้องปิดในระยะยาว สําหรับการปิดกิจการอื่นๆ ในอนาคต ควรใช้วิธีปิดแบบ จําเพาะ Selective measures แทนการปิดแบบครอบจักรวาล
5) มีระบบเฝ้าระวังตรวจจับและคาดการณ์ความรวดเร็วของการแพร่ระบาดในระดับพื้นที่และ ระดับประเทศ เพื่อเป็นการจัดระดับสถานการณ์ เป็นการเตือนและเพิ่มมาตรการหรือผ่อนคลายมาตรการ ตามบริบทของแต่ละจังหวัดหรือหากเป็นไปได้ย่อยลงไประดับอําเภอ และมีการเฝ้าระวังโดย ภาคประชาชน
การเปลี่ยนผ่านจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ไปสู่มาตรการสร้างเสถียรภาพควรต้องเตรียมตัวและให้มั่นใจว่า มาตรการที่สําคัญยังคงอยู่ ไม่เปลี่ยนผ่านแบบรวดเร็ว ควรดําเนินการโดยเริ่มจากจังหวัดกลุ่มแรกที่ไม่ พบผู้ป่วยในสองสัปดาห์ที่ผ่านมา (ประมาณ 32 จังหวัด) สามารถเริ่มได้ในต้นเดือนพฤษภาคม หรืออาจนําร่องทดลองปลายเดือนเมษายนสักสามหรือสี่จังหวัด หลังจากนั้นจึงเริ่มในกลุ่มที่สองคือจังหวัดที่พบผู้ป่วยติด เชื้อในพื้นที่แบบประปราย (ประมาณ 38 จังหวัด) ประมาณกลางเดือนพฤษภาคม
สําหรับกลุ่มที่สามคือ จังหวัดที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่องเป็นกลุ่มก้อน (ประมาณ 7 จังหวัด) หากจังหวัดเหล่านี้สามารถลดการ ระบาดลงมาได้ในระดับต่ําตามเกณฑ์ และไม่มีการระบาดเป็นกลุ่มก้อนใหญ่ ก็ควรให้เริ่มเปลี่ยนผ่านได้ในต้น เดือนมิถุนายน หรืออาจเริ่มก่อนหน้านั้นได้ หากควบคุมสถานการณ์ได้ดี
หากศูนย์บริหารโควิด (ศบค.) และรัฐบาลเห็นชอบกับข้อเสนอดังกล่าวนี้ ก็สามารถให้นโยบายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและทุกจังหวัดเพื่อเตรียมการ สําหรับรายละเอียดแผนการเปลี่ยนผ่านในภาคธุรกิจ และภาคสังคม ควรให้แต่ละภาคส่วนร่วมปรึกษาหารือจัดทํารายละเอียด เพื่อให้ดําเนินการได้ด้วยความปลอดภัย เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด โดยหน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาคหรือจังหวัด ให้การสนับสนุน ด้านเทคนิควิชาการ เป็นการร่วมมือของคนทั้งสังคม
ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ ก่อนจะถึงเวลาที่มีวัคซีนป้องกันโรคโควิค-19 ประเทศไทยจะสามารถควบคุมให้มีการติดเชื่อโควิด-19 ในระดับต่ำ มีผู้เสียชีวิต จํานวนไม่มาก ในขณะที่ประชาชนสามารถเริ่มทํางาน ประกอบอาชีพได้ ประเทศไทยมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมและประชาชนเกิดการปรับเปลี่ยน วิถีชีวิตแบบใหม่