หมายความว่าบริษัทไม่ควรจะดำเนินการจัดหาหรือทำการตลาดทับทิมจากประเทศเมียนมาเลยไม่ว่ากรณีใดๆก็ตาม ซึ่งการดำเนินการที่มีความเข้มข้นมากกว่านี้นั้นเป็นสิ่งที่ทั้งทางบริษัทต่างๆและรัฐบาลไทยควรจะดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทับทิมจากเมียนมา นั้นจะไม่เข้าไปสู่ห่วงโซ่อุปทานนานาชาติผ่านทางช่องทางของประเทศไทย
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอรายงานข่าวสำนักข่าวอัลจาซีราของประเทศกาตาร์ เปิดโปงกรณีอัญมณีของเมียนมา กับช่องทางการขายในประเทศไทย สู่การเป็นแหล่งเงินทุนของเผด็จการทหารเมียนมา ที่กำลังก่อเหตุสู้รบกับกองกำลังติดอาวุธกะเหรี่ยง KNLA และกองกำลังกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ณ บริเวณหมู่บ้านริมชายแดนไทย-เมียนมา ในปัจจุบัน มีการระบุถึงข้อมูลต้นทางจากเว็บไซต์ขององค์กร Global Witness ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหรือเอ็นจีโอระดับโลกจากประเทศอังกฤษที่ทำงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ออกคำเตือนว่าประเทศไทยควรจะมีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อป้องกันไม่ให้อัญมณี โดยเฉพาะทับทิมที่ขายในประเทศไทย กลายเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนเผด็จการทหารเมียนมา
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา แปลเรียบเรียงข้อมูลในส่วนนี้ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรง จากเว็บไซต์ขององค์กร Global Witness มานำเสนอ ณ ที่นี้
ในรายงานขององค์กรGlobal Witness ได้อ้างแหล่งข่าวจากในแวดวงอุตสาหกรรมว่า มีอัญมณีจำนวน 60-90 เปอร์เซ็นต์ในเมียนมาที่ได้มาจากเหมืองในเมืองโม่โกะและเหมืองในเมืองมอง ฮซู ที่มีการลักลอบขนออกจากประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงอุตสาหกรรม ยืนยันว่า ปลายทางของอัญมณีส่วนมากที่ถูกลักลอบขนออกมานั้นโดยมากมักจะมาจบที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นฐานหลักของกระบวนการทำอัญมณี นอกเหนือจากอินเดียและจีน
ทั้งนี้ ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยนั้นได้ประโยชน์จากขีดความสามารถในการดำเนินการกับอัญมณีอันมีความซับซ้อนในเมียนมา ขณะที่ประเทศจีนเป็นเรื่องของหยก
ตัวแทนจาก Myanmar Gems and Jewelry Entrepreneurs’ Association (MGJEA) ที่เป็นสมาคมด้านอัญมณีของเมียนมาได้กล่าวตอนหนึ่งว่า “เราขายทับทิมในราคาที่ถูกมากไปยังประเทศไทย คนที่ประเทศไทยนั้นมีทักษะสูงมาก และตลาดของพวกเขาก็ใหญ่มาก โดยพ่อค้าที่ประเทศไทยนั้นก็จะได้กำไรสูงมากเมื่อพวกเขาได้ขายทับทิมไปทั่วโลกแล้ว”
มีข้อมูลว่าประเทศไทยนั้นได้ตั้งให้ตัวเอง เป็นแหล่งศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่มีความสามารถทั้งในการตัดและเจียระไนอัญมณีหลังจากที่จำนวนทับทิมส่วนมากของประเทศไทยนั้นหมดลงไปแล้ว ซึ่งในปี 2552 มีการประมาณการว่ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของทับทิมทั่วโลกนั้นผ่านมายังประเทศไทย หินที่มีคุณภาพต่ำนั้นจะถูกส่งต่อผ่านคนกลางหลายรายมาก จนกระทั่งมาถึงยังขั้นตอนการเจียระไนในประเทศไทย ก่อนที่บริษัทอัญมณีจะนำเอาอัญมณีเหล่านี้ออกสู่ตลาด
สำหรับคนกลางหลายกลุ่มที่ว่านั้นมีตั้งแต่ผู้ที่ทำหน้าที่เจียระไนอัญมณีไปจนถึงผู้ค้าเมืองที่เหมืองตั้งอยู่ กลุ่มโบรกเกอร์ผู้ที่ขนหินจากภายในประเทศเมียนมามายังเมืองชายแดน ซึ่งเมืองชายแดนที่ว่านี้ได้แก่เมืองมิวส์ริมพรมแดนประเทศจีน เมืองท่าขี้เหล็กและเมืองเมียวดีที่อยู่ริมพรมแดน อ.แม่สอดและ อ.แม่สาย ในประเทศไทย และก็มีตัวแทนจำหน่ายในนามบริษัทจากประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ซึ่งทำหน้าที่ซื้อหินมาจากทั้งฝ่ายโบรกเกอร์และซื้อหินมาจากบริษัทที่ดำเนินการอีกต่อหนึ่ง
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีข่าวลือด้วยว่าก่อนการรัฐประหารในเมียนมานั้นกลุ่มผู้ค้าต่างประเทศได้มีการซื้อหินโดยตรงจากเหมืองในเมืองโม่โกะและเหมืองในเมืองมอง ฮซู
แม้ว่าชาวต่างชาติจะถูกห้ามไม่เข้าถึงเหมืองทั้งสองแห่งก็ตาม ซึ่งหินที่มีคุณภาพสูงกว่านั้นพบว่าเมื่อถึงเวลาที่มีการขุดหินเหล่านี้ออกมาแล้วจะมีการขายไปเพียงไม่กี่มือเท่านั้นในประเทศเมียนมา
เส้นทางทับทิมในเมียนมาสู่ชายแดนประเทศไทย
“หินที่ดีนั้นมักจะถูกลักลอบออกมาโดยตรงเลย โดยผ่านสนามบินมัณฑะเลย์ และมีทั้งการทุจริต สมรู้ร่วมคิดอย่างเป็นกระบวนการกับทางเจ้าหน้าที่สนามบิน” ผู้ขายอัญมณีในเมืองย่างกุ้งรายหนึ่งกล่าวและยังระบุต่อด้วยว่าเนื่องจากทับทิมที่มีมูลค่าสูง นั้นมีขนาดเล็กจึงง่ายที่จะทำการลักลอบขนย้าย
ขณะที่หินที่มีมูลค่าสูงอื่น ๆ นั้นจะมีการขนย้ายทางบกผ่าน อ.แม่สายและแม่สอด โดยเชื่อกันว่ามีนายทหารที่เกษียณอายุราชการไปแล้วเกี่ยวข้องกับการค้าหินดังกล่าว และกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธนั้นก็เชื่อกันว่ามีส่วนเกี่ยวข้องเป็นอย่างยิ่งกับการลักลอบขนอัญมณีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการกรรโชกทรัพย์กับผู้ค้าและผู้ลักลอบขนของเถื่อนและกระบวนการแหล่านี้ก็ยังคงดำเนินต่อไปแม้จะพบกับอุปสรรคจากสถานรการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 และสถานการณ์การสู้รบในประเทศก็ตาม
@อย่าถามคำถาม:ผู้ค้าชาวไทยนั้นล้มเหลวที่จะดำเนินการตรวจสอบสถานะขั้นพื้นฐาน
เนื่องจากประเทศไทยนั้นเป็นแหล่งที่สำคัญในการดำเนินการจัดการและการค้าอัญมณี ดังนั้นจึงต้องมีความรับผิดชอบในแง่ของการตรวจสอบสถานะ บริษัทที่ดำเนินการกับอัญมณีรวมไปถึงผู้ค้ามีหน้าที่สำคัญในบทบาทที่จะควบคุมห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งสถานการณ์ของทั้งการรัฐประหารและการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นส่งผลทำให้กระบวนการตรวจสอบสถานะมีความยากและท้าทายกว่าเดิม แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการดังกล่าวนี้ก็ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรจะยกเลิกเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งนี้ องค์กร Global Witness ได้เข้าไปสืบสวนกระบวนการตรวจสอบสถานะทั้งในบริษัทและผู้ค้าในประเทศไทย และตรวจสอบการขายทับทิมเมียนมาไปยังประเทศตะวันตก จากการพบปะกับตัวแทนจากบริษัทกว่า 20 แห่งในกรุงเทพ (แต่ไม่ได้มีการไปยัง จ.จันทบุรี ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเจียระไนอัญมณีของประเทศ เนื่องจากข้อห้ามด้านโควิด-19)
พบสาระสำคัญดังต่อไปนี้
-มีอย่างน้อย 6 บริษัทค้าอัญมณีชั้นนำในประเทศไทยที่ขายทับทิมจากเมียนมาในช่วงปี 2563
-บริษัทส่วนมากที่ทางองค์กรได้ติดต่อไปไม่ได้ระบุว่าอัญมณีส่งตรงมาจากเหมืองในเมียนมา หมายความว่าข้อมูลของที่ไปที่มาอัญมณีพวกนี้นั้นขึ้นอยู่กับว่าผู้ดำเนินการจัดหาหรือซัพพลายเออร์นั้นจะจัดทำข้อมูลอะไรขึ้นมา
-บริษัทที่ได้รับการติดต่อกล่าวว่าเป็นไปได้ที่จะกำหนดประเทศต้นของหินอันมีค่าได้ และในบางครั้งก็สามารถกำหนดได้ด้วยว่าจะเอาหินอย่างใดจากประเทศเมียนมาในเมืองเมืองโม่โกะและในเมืองมอง ฮซู อย่างไรก็ตามพวกเขา (บริษัท) ไม่รู้เลยว่าเหมืองใดในพื้นที่เหล่านี้ที่เป็นต้นกำเนิดของหิน
-การตามรอยไปถึงเหมืองต้นกำเนิดในประเทศเมียนมานั้นเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะว่ามีตัวกลางอยู่หลายรายด้วยกันที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลาที่บริษัทได้ซื้ออัญมณี ในขณะที่ซัพพลายเออร์ น้อยครั้งมากที่จะให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า
-มีหลายบริษัทที่รับรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานในเมียนมา แต่บริษัทเหล่านี้ก็ไม่เต็มใจจะพูดคุยในรายละเอียด
-บริษัทหลายแห่งอ้างเรื่องความท้าทายในการดำเนินการตรวจสอบสถานะ จึงไม่ได้แม้แต่จะพยายามทำในสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น ขณะที่บริษัทซึ่งพยายามนั้นก็พบว่ายังไม่เพียงพอ
หลังจากการสำรวจข้อมูล องค์กรพบความชัดเจนว่าเมื่ออัญมณีถูกส่งออกจากต้นกำเนิดในเมียนมา อัญมณีเหล่านี้ก็ถูกปิดบังต้นกำเนิดที่แท้จริงอยู่แล้ว ซึ่งเจ้าของบริษัท ABC Stone ในกรุงเทพ ที่เป็นหนึ่งในซัพพลายเออร์อัญมณี ได้ให้ข้อมูลกับองค์กรว่า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าทับทิมจากเมียนมาที่ขัดต่อหลักจริยธรรมแต่อย่างใด
แผนที่แสดงพื้นความขัดแย้งและเขตอิทธิพลบนเส้นทางการค้าอัญมณีในเมียนมา
ส่วนผู้จำหน่ายทับทิมจากเมียนมาอีกราย คือบริษัท ไฟ ดี เจมส์ ได้มีการระบุชื่อเหมือง ซึ่งทางองค์กรตรวจสอบดูแล้วก็พบว่าเป็นเหมืองนี้ถูกควบคุมเป็นระยะเวลานานกว่า 20 ปี โดยบริษัท MEHL ที่เป็นบริษัทข้ามชาติของกองทัพเมียนมา
เมื่อพิจารณาจากขอบเขตที่กองทัพเมียนมาได้เข้าไปควบคุมอุตสาหกรรมแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ค่อนข้างสูงที่ซัพพลายเออร์รายอื่นที่ไม่ได้มีมาตรการตรวจสอบเท่ากับบริษัท ไฟ ดี เจมส์ นั้นจะมีส่วนในการให้เงินทุนอุดหนุนกองทัพเมียนมาผ่านห่วงโซ่อุปทานของพวกเขา
ทั้งนี้ ข้อมูลจากผู้ค้าอัญมณีในประเทศไทยชี้ว่า ณ เวลานี้นั้นยังไม่เพียงพอที่จะหินที่ถูกขายไปนั้นจะเป็นส่วนหนึ่งในการให้เงินอุดหนุนกองทัพเมียนมาหรือกลุ่มติดอาวุธหรือไม่ เพราะบริษัทเหล่านี้ไม่ได้มีข้อมูลแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม การสำรวจข้อมูลดังกล่าวนั้นก็เพียงพอที่จะทำให้เห็นชัดแล้วว่าบริษัทค้าอัญมณีในประเทศไทยมีกระบวนการตรวจสอบสถานะของอัญมณีกันอย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่ว่าในที่สุดนั้นลูกค้าของผู้ขายอัญมณีเหล่านี้ก็จะกลายเป็นผู้ให้การสนับสนุนต่อทับทิมที่มาจากความขัดแย้งเสียเอง
ขณะที่ บริษัท AJS Gems เป็นบริษัทอีกแห่งในกรุงเทพที่ระบุตัวเองว่าเป็นทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกทั้งอัญมณีหยาบและอัญมณีที่ถูกเจียระไนแล้วจากหลายแห่งรวมถึงในเมียนมา ได้ให้ข้อมูลกับองค์กรยืนยันว่าบริษัทนี้นั้นมีมาตรการตรวจสอบสถานะอัญมณีอย่างเต็มที่ซึ่งรวมไปถึงการหลีกเลี่ยงการประมูลจากรัฐบาลหรือจากบริษัทที่ถูกควบคุมโดยกองทัพ
“มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตรวจสอบว่าทับทิมจากเมียนมานั้นมาจากเหมืองใดกันแน่ แต่สิ่งที่สามารถทำได้ก็คือการซื้ออัญมณีผ่านตัวแทนจำหน่ายอิสระเท่านั้นที่จะหลีกเลี่ยงจากการสนับสนุนกองทัพได้” บริษัท AJS Gems ระบุ
ทหารจากองทัพรัฐฉานกำลังทำงานในโรงงานอัญมณี โดยกองทัพรัฐฉานนั้นมีศูนย์บัญชาการตั้งอยู่ ณ ดอยไตแลง ริมชายแดนประเทศไทย โดยมีผู้นำทัพคือ พล.อ.เจ้ายอดศึก
@บริษัทค้าอัญมณีและรัฐบาลไทยควรจะทำอย่างไร
เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งที่บริษัทอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศไทยนั้นจะต้องดำเนินการตรวจสอบ กำกับดูแลเต็มรูปแบบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าพวกเขานั้นไม่ได้เข้าไปมีส่วนอยู่ในเส้นของความขัดแย้ง ด้วยการดำเนินการตามแนวทางตรวจสอบสถานะของ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่ระบุเอาไว้ในเรื่องของความรับผิดชอบด้านแร่ธาตุในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและมีความเสี่ยงสูง
ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง เนื่องจากกองทัพได้เข้าไปควบคุมทั้งอุตสาหกรรมอัญมณีและควบคุมประเทศเมียนมาไว้แล้ว ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะค้าทับทิมกับเมียนมา แล้วจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่เผด็จการทหารอันโหดร้าย หรือให้การสนับสนุนต่อความขัดแย้งและการละเมิดสิทธิมนุษยชน
หมายความว่าบริษัทไม่ควรจะดำเนินการจัดหาหรือทำการตลาดทับทิมจากประเทศเมียนมาเลยไม่ว่ากรณีใด ๆ ก็ตาม ซึ่งการดำเนินการที่มีความเข้มข้นมากกว่านี้นั้นเป็นสิ่งที่ทั้งทางบริษัทต่างๆและรัฐบาลไทยควรจะดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง เพื่อสร้างความมั่นใจว่าทับทิมจากเมียนมา จะไม่เข้าไปสู่ห่วงโซ่อุปทานนานาชาติผ่านทางช่องทางของประเทศไทย
ประเทศไทย จึงต้องแสดงให้เห็นว่าเป็นประเทศที่ดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบในการจัดหาแหล่งที่มาของอัญมณีอย่างจริงจัง ถ้าหากยังต้องการที่จะเป็นประเทศที่มีสถานะว่าเป็นจุดศูนย์รวมของการค้าอัญมณีในระยะยาว
การดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบที่ว่านั้นก็คือการยึดหลักมาตรฐานการจัดหาอัญมณี รวมไปถึงแนวทางของ OECD ควบคู่ไปกับการทำข้อจำกัดในด้านกฎหมาย การห้ามนำเข้าทับทิมจากเมียนมาและจะต้องมีการควบคุมชายแดนให้กระชับมากกว่านี้ เพื่อป้องกันกรณีการลักลอบที่จะเกิดต่อไปในอนาคต