“...เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จําเลยอยู่อาศัยบนที่ดินของตน และมีหนังสือบอกกล่าวให้จําเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมขนย้าย ทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาทแล้ว ตามหนังสือบอกกล่าวและใบตอบรับ จําเลยจึงต้องรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์...”
........................
กรณีนางโต พลายชุมพล อายุ 91 ปี หรือ ‘ยายโต’ อยู่บ้านริมคลองแม่น้ำใน ของ บ้านเกาะเหนือ (เป็นส่วนหนึ่งของ บ้านหัวถนน หรือ บ้านคลอง 33 ) เลขที่ 71 หมู่ 6 ต.หนองหมู อ.วิหารแดง จ.สระบุรี เนื้อที่ 25 ตารางวา ถูกฟ้องขับไล่และให้รื้อถอนบ้าน เรียกค่าเสียหาย 50,000 บาท ผู้ฟ้องอ้างว่าบ้านของนางโตสร้างอยู่บนที่ดินของบรรพบุรุษของตนเอง กระทั่ง 12 ม.ค.2564 ศาลพิพากษาให้นางโตรื้อถอนบ้านชดใช้ค่าเสียหาย 17,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินต้นนับจากวันฟ้อง (20 มิ.ย.2562) และให้ชำระค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินพิพาทเป็นรายเดือนเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายรื้อถอนบ้าน และให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ค่าทนายความ 3,000 บาท ตามที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้ว
(เรื่องเกี่ยวข้อง: ยายโต วัย 91 ปี บ้านหลังเก่าริมคลอง ถูกฟ้องขับไล่ ชดใช้ 57,000 บาท)
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา เรียบเรียงคำพิพากษามารายงาน
@คำฟ้องโจทก์ อ้างที่ดินของตา ให้จำเลยปลูกบ้านอาศัย
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 6101 ตําบลหนองหมู อําเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี เนื้อที่ 4 ไร่ ของโจทก์ถูกแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7118 ตําบลหนองหมู อําเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ซึ่งเดิมคือที่ดินโฉนดเลขที่ 3023 ตําบลบ้านพริก อําเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เนื้อที่ 20 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินดังกล่าวจรดแม่น้ํา ซึ่งเดิมที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นของนายดิด ทิพย์ประเสริฐ ตาของโจทก์ จําเลยเป็นลูกจ้างนายดิด นายดิดอนุญาตให้จําเลยและลูกจ้างคนอื่นปลูกสร้างบ้านพักอาศัยในที่ดินดังกล่าวโดยไม่มีค่าเช่า ซึ่งจําเลยและบริวารได้พักอาศัยอยู่ในที่ดินดังกล่าวและปลูกสร้างบ้านเลขที่ 71 หมู่ที่ 6 ตําบลหนองหมู อําเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี บนที่ดินของโจทก์ ต่อมาประมาณปลายเดือนตุลาคม 2561 โจทก์มอบหมายให้นายเศรษฐา สุขเจริญ พี่ชายโจทก์บอกกล่าวให้จําเลยและบุคคลอื่นที่อาศัยอยู่ในที่ดินของโจทก์ทําสัญญาเช่าที่ดิน แต่จําเลยเพิกเฉย โจทก์จึงไม่ประสงค์จะให้จําเลยอยู่ในที่ดินอีกต่อไป โจทก์จึงมอบอํานาจให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จําเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 71 ออกจากที่ดินของโจทก์ แต่จําเลยเพิกเฉย ทําให้โจทก์เสียหาย โจทก์ประสงค์ที่จะให้จําเลยรื้อถอน โรงเรือนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 71 หมู่ 6 พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ และให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหาย 50,000 บาท จากการที่โจทก์ไม่สามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้
หากโจทก์นําที่ดินออกให้บุคคลภายนอกเข่าจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 1,500 บาท โจทก์ขอคิดค่าเสียหายนับตั้งแต่วันบอกกล่าวทวงถามคือวันที่ 27 ธันวาคม 2561 จนถึงวันฟ้อง เป็นเวลา 5 เดือน เป็นเงิน7,500 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 57,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจําเลยจะชําระเสร็จแก่โจทก์ และให้จําเลยชําระค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินพิพาทเป็นรายเดือน เดือนละ 1,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจําเลยและบริวารจะขนย้ายรื้อถอนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างตลอดจนทรัพย์สินอื่นของจําเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินของโจทก์ ขอให้บังคับจําเลยรื้อถอนบ้าน สิ่งปลูกสร้างหรือโรงเรือน เลขที่ 71 หมู่ 6 ตําบลหนองหมู อําเภอวิหารแดงจังหวัดสระบุรี พร้อมขนย้าย ทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์และออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6101 ตําบลหนองหมู อําเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี และห้ามจําเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินแปลงดังกล่าว ให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 57,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจนกว่าจําเลยจะชําระเสร็จแก่โจทก์ และให้จําเลยชําระค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินพิพาทเป็นรายเดือน เดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจําเลยและบริวารจะขนย้ายรื้อถอน บ้านเลขที่ 71 ออกจากที่ดินพิพาท
@ ยายโตให้การ อยู่ในที่ดินชลประทาน-ขอเลขที่บ้านปี 2515-ไม่มีใครโต้แย้ง
จําเลยให้การว่า ที่ดินที่จําเลยปลูกสร้างบ้านเลขที่ 71 หมู่ 6 ตําบลหนองหมู อําเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี ไม่ได้อยู่ในแนวเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 6101 ตําบลหนองหมู อําเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี ของโจทก์ ที่ดินโจทก์ไม่มีอาณาเขตจรดแม่น้ำ ที่ดินที่จําเลยปลูกสร้างบ้านเลขที่ 71 เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ไม่ใช่ที่ดินหัวไร่ปลายนาตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จําเลยไม่เคยเป็นลูกจ้างของนายดิด ทิพย์ประเสริฐ และนายดิดไม่เคยอนุญาตให้จําเลยปลูกสร้างบ้าน จําเลยและนายแฉล้มพลายชุมพล สามีจําเลยปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยและครอบครองใช้ประโยชน์บนที่ดินพิพาทนานแล้ว นายแฉล้มเป็นผู้ยื่นคําขอมีบ้านเลขที่ที่ว่าการอําเภอวิหารแดงเมื่อปี 2515 จึงได้มีการปลูกสร้างบ้านเลขที่ 71 และครอบครองใช้ประโยชน์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่มีบุคคลใดโต้แย้งคัดค้าน จําเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายเนื่องจากโจทก์ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอํานาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
@ศาลกำหนด 2 ประเด็นพิจารณา
ชั้นชี้สองสถาน ศาลกําหนดประเด็นข้อพิพาทดังนี้
1. จําเลยและบริวารต้องออกไปจากที่ดินพิพาทหรือไม่
2. จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด
พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจําเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 6101 ตําบลหนองหมู อําเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี ของโจทก์ ถูกแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7118 ตําบลหนองหมู อําเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ซึ่งเดิมคือที่ดินโฉนดเลขที่ 3023 ตําบลบ้านพริก อําเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เดิมที่ดินดังกล่าวเป็นของ นายดิด และนางเทียบ ทิพย์ประเสริฐ บรรพบุรุษโจทก์ ซึ่งต่อมาลูกหลานของนายดิดและนางเทียบได้รับโอนที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดต่อ ๆ กันมา นางสาวบุญส่ง ทิพย์ประเสริฐ เป็นบุตรของนายดิดและนางเทียบเคยมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าว โจทก์ได้รับมรดกที่ดินดังกล่าวมาจากนางน้อย ธิบดี น้องสาวของมารดาโจทก์ หลังจากโจทก์และพี่น้องของโจทก์ได้รับมรดกที่ดินดังกล่าวจึงได้มีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นสัดส่วน ภายหลังจากรังวัดที่ดินปรากฏว่าบ้านของจําเลยเลขที่ 71 อยู่นอกแนวเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 6101 ตรงเส้นสีแดงในแผนที่พิพาท โจทก์มอบหมายให้นายเศรษฐา สุขเจริญ พี่ชายโจทก์นําสัญญาเช่าไปให้จําเลยลงลายมือชื่อ แต่จําเลยไม่ยินยอม โจทก์จึงมายื่นฟ้องจําเลยเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรกว่า จําเลยและบริวารต้องออกไปจากที่ดินพิพาทหรือไม่
โจทก์มีโจทก์และนายเศรษฐา สุขเจริญ พี่ชายโจทก์ เบิกความเป็นพยานในทํานองเดียวกันว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 6101 ตําบลหนองหมู อําเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี ของโจทก์ถูกแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7118 ตําบลหนองหมู อําเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ซึ่งเดิมคือที่ดินโฉนดเลขที่ 3023 ตําบลบ้านพริก อําเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก เดิมที่ดินดังกล่าวเป็นของนายดิดและนางเทียบ ทิพย์ประเสริฐ บิดามารดาของยายโจทก์ ต่อมานายดิดโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่บุตรของนายดิด และบุตรนายดิดโอนที่ดินให้บุตรหลานต่อ ๆ มา จนถึงรุ่นของโจทก์และนายเศรษฐา ซึ่งที่ดินพิพาทของโจทก์เดิมเป็นที่ดินของนางน้อย ธิบดี น้องสาวมารดาโจทก์ ที่ดินส่วนของนายเศรษฐาเดิมเป็นของนางย้อย สุขเจริญ ยายของโจทก์และนายเศรษฐา ที่ดินส่วนของนางสาวบุญส่ง ทิพย์ประเสริฐ บุตรสาวนายดิดโอนให้แก่นางสาวรัตนา ศรีปัญญาพล
เดิมนายดิดมีที่ดินรวมเนื้อที่ประมาณ 200 ถึง 300 ไร่ และมีบริวารจํานวนมาก นายดิดจะให้บริวารทํานาบนที่ดินของตน จําเลยเป็นลูกจ้างนางสาวบุญส่ง ส่วนมารดาจําเลยเป็นลูกจ้างนายดิด นางสาวบุญส่ง อนุญาตให้จําเลยปลูกสร้างบ้านอยู่บนที่ดินพิพาท นอกจากนั้นนางสาวบุญส่งยังอนุญาตให้ นายเฮง อินทร์มะลิ นางไป๋มารดานายพูน โคกเย็น ปลูกสร้างบ้านอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 7118 ด้วย นางไป๋ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับจําเลย บ้านจําเลยและบ้านนางไป๋ปลูกโดยใช้ฝาผนังเดียวกัน รูปแผนที่เดิมของที่ดินโฉนดเลขที่ 7118 ทางด้านทิศตะวันตกติดแม่น้ำใน
@แจ้งให้เช่าแต่ไม่ยอมทำสัญญาเช่า
ต่อมาปี 2559 มีการรังวัดขอแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 7118 ออกเป็น 4 แปลง ซึ่งรวมถึงที่ดินพิพาทของโจทก์และที่ดินส่วนของนายเศรษฐา ขณะรังวัดโจทก์มอบอํานาจให้นายเศรษฐาเป็นผู้นําชี้แนวเขตที่ดิน ซึ่งนายเศรษฐาเบิกความว่า นําชี้แนวเขตที่ดินไปจนติดริมแม่น้ำ ที่บรรพบุรุษของโจทก์และนายเศรษฐาครอบครอง แต่เนื่องจากในวันรังวัดเจ้าหน้าที่ของกรมชลประทานไม่มาระวังแนวเขต เจ้าหน้าที่ที่ดินเกรงว่าแนวเขตที่นายเศรษฐานำชี้จะไปทับซ้อนกับแนวเขตที่ดินของกรมชลประทาน เจ้าหน้าที่ที่ดินจึงออกโฉนดที่ดินเลขที่ 6101 ให้ หลังจากรังวัดที่ดินปรากฏว่าบ้านของจําเลยอยู่นอกเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 6101
ต่อมาโจทก์มอบหมายให้นายเศรษฐา พี่ชายโจทก์นําสัญญาเช่าที่ดินไปให้นายพูน นายเฮงจําเลย และนายสุรินทร์ พลายชุมพล บุตรชายจําเลยลงนาม ซึ่งนายพูนและนายเฮงยินยอมลงลายมือชื่อในสัญญาเช่า แต่จําเลยและนายสุรินทร์ไม่ยอมลงนาม
บ้านของโจทก์และนายเศรษฐา ซึ่งปลูกสร้างมาก่อนมีการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 6101 ก็อยู่นอกแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 6101 เช่นกัน แต่อยู่ในพื้นที่ที่นายดิดครอบครอง
@พยานโจทก์เบิกความ จำเลยเป็นลูกจ้าง
นอกจากโจทก์ยังมีนายสุรินทร์ เกตุสุวรรณ์ มาเบิกความเป็นพยานว่า พยานรู้จักนายดิดกับนางเทียบ บุคคลทั้งสองมีฐานะร่ำรวยเพราะมีที่นาเกือบ 1,000 ไร่ มีควายเกือบ 100 ตัว พยานเคยเป็นลูกจ้างนางสาวบุญส่ง บุตรสาวนายดิด ขณะพยานทํางานเป็นลูกจ้างนางสาวบุญส่งนั้น นางไข่มารดาจําเลย จําเลยและนางไป๋ก็เป็นลูกจ้างนางสาวบุญส่งด้วย นางสาวบุญส่งอนุญาตให้จําเลยและนางไป๋ปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินของนางสาวบุญส่ง ซึ่งที่ดินที่นางสาวบุญส่งอนุญาตให้จําเลยปลูกสร้างบ้านอยู่ห่างจากบ้านนายดิดประมาณ 100 เมตร
@จำเลย-ลูกชายปัด-ไม่เคยถูกฟ้องขับไล่
ส่วนจําเลย มีจําเลยและนายหิรัญ พลายชุมพล บุตรจําเลยมาเบิกความในทํานองเดียวกันว่า จําเลยและนางไข่มารดาจําเลยไม่เคยเป็นลูกจ้างนางสาวบุญส่ง นางไข่ไม่เคยขออนุญาตปลูกสร้างบ้านจากนางสาวบุญส่ง นางสาวบุญส่งไม่เคยอนุญาตให้นางไข่และจําเลยปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาท นายแฉล้ม พลายชุมพล สามีจําเลยเป็นผู้ขอออกบ้านเลขที่ 71 บ้านเลขที่ 71 ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินของจําเลย ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของนายดิดและนางสาวบุญส่ง นายดิดและนางสาวบุญส่งไม่เคยฟ้องขับไล่จําเลย และไม่เคยกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตน
@ศาลเชื่อคำให้การพยานโจทก์คนกลาง
เห็นว่า พยานโจทก์ปากนายสุรินทร์เป็นพยานคนกลาง ไม่ปรากฏว่าเคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับทั้งโจทก์และจําเลย น่าเชื่อว่าพยานมาเบิกความตามความจริงที่ตนรับรู้รับทราบมา เมื่อรับฟังพยานปากนายสุรินทร์ประกอบคําเบิกความของโจทก์และนายเศรษฐาซึ่งเบิกความในทํานองเดียวกันว่า จําเลยเป็นลูกจ้างของ นางสาวบุญส่ง ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเดิม โดยนางสาวบุญส่งเป็นคนอนุญาตให้จําเลยปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาท นอกจากนั้นนายพูน โคกเย็น บุตรนางไป๋พี่สาวจําเลย ยังมาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่านายพูนลงนามในสัญญาเช่าที่ดิน ซึ่งที่ดินดังกล่าวคือบริเวณที่ปลูกบ้านตามภาพถ่ายหมาย ล.3 ภาพบน ซึ่งเดิมเป็นบ้านของนางไป๋ซึ่งปลูกอยู่ติดกับบ้านของจําเลย แสดงว่านายพูนยอมรับว่าที่ดินดังกล่าวไม่ใช่ของตนหรือของนางไป๋มารดาตน แต่เป็นที่ดินของบรรพบุรุษโจทก์มิฉะนั้นนายพูนคงไม่ยอมลงนามในสัญญาเช่าดังกล่าว ส่วนที่นายพูนเบิกความตอบทนายจําเลย ถามค้านว่า ไม่ทราบว่าสัญญาเช่าที่นายเศรษฐานํามาให้นายพูนลงนามนั้นเป็นการเช่าที่ดินบริเวณใด น่าเชื่อว่าเพราะนายพูนประสงค์จะเบิกความเพื่อช่วยเหลือจําเลย เนื่องจากนายพูนเป็นญาติจําเลย ส่วนจําเลยเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ว่า ไม่เคยเป็นลูกจ้างนางสาวบุญส่ง นางสาวบุญส่งไม่ได้อนุญาต ให้จําเลยปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาท พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจําเลย
@นายช่างชลประทานไม่ชี้ชัดบ้านอยู่ในเขตชลประทาน
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จําเลยเป็นลูกจ้างนางสาวบุญส่งและได้รับอนุญาตจากนางสาวบุญส่ง ให้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาท นอกจากนั้นยังได้ความจากที่นายสิทธิชัย ทับทิมทอง เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสระบุรี สาขาหนองแค ตําแหน่งนายช่างรังวัดอาวุโส เบิกความเป็นพยานจําเลยว่า หากดูตามสําเนาโฉนดที่ดิน ระบุว่า ที่ดินด้านทิศตะวันตกจรดที่ดินเลขที่ 8 และ แม่น้ำใน ซึ่งหากดูเปรียบเทียบกับแผนที่รูปโฉนด เอกสารหมาย จ.5 ที่ดินเลขที่ 8 จะอยู่ทางด้านทิศตะวันตกฝั่งใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 7118 ที่ดินส่วนที่เหลือทางด้านทิศตะวันตกจะติดแม่น้ำในซึ่งระวางแผนที่ เอกสารหมาย ล.1 เป็นการนําเอาแผนที่รูปโฉนด ตามเอกสารหมาย จ.5 มาลง รายละเอียดในระวางแผนที่เอกสารหมาย ล.1 ส่วนแนวเส้นในระวางแผนที่ดังกล่าว ที่เขียนทับด้วยตัวเอส หรือเส้นครอสเอส (CROSS S) หมายความว่า เป็นแนวเส้นเขตแดนเดิม แต่ปัจจุบันไม่ได้ใช้แล้ว เพราะมีการรังวัดและแก้ไขหลักหมุดใหม่ตามจุดวงกลมสีแดงในระวางแผนที่ เอกสารหมาย ล.1 เมื่อได้ความจากที่นายหิรัญ พลายชุมพล บุตรจําเลย เบิกความว่า บ้านของจําเลยปลูกสร้างอยู่ตรงตําแหน่งลูกศรสีน้ำเงินในระวางแผนที่ เอกสารหมาย ล.1 ซึ่งอยู่ภายในบริเวณเส้นครอสเอสตามที่นายสิทธิชัยเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า พื้นที่สีฟ้าในระวางแผนที่ เอกสารหมาย ล.1 ตรงกับพื้นที่สีฟ้าในระวางแผนที่ เอกสารหมาย จ.4 ซึ่งอยู่ในเส้นครอสเอสและอยู่ภายในแนวเขตโฉนดที่ดินเลขที่ 7118 เดิม นอกจากนั้นเมื่อพิจารณาประกอบรูปแผนที่ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6101 ตามเอกสารหมาย จ.2 ก็ปรากฏว่า แนวเขตที่ดินดังกล่าวทางด้านทิศตะวันตกติดแม่น้ำใน เหมือนกับรูปโฉนดที่ดิน เลขที่ 7118 เดิม โดยไม่ปรากฏว่ามีที่ดินสาธารณประโยชน์หรือที่ดินของบุคคลอื่นคั่นระหว่างที่ดินโฉนดเลขที่ 6101 กับแม่น้ำใน ยิ่งทําให้คําเบิกความพยานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของจําเลยว่า บ้านของจําเลยปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 7118 เดิม ก่อนที่จะมีการรังวัดแบ่งแยกและปักหมุดใหม่ออกมาเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 6101 ของโจทก์ ที่จําเลยนําสืบว่า จําเลยปลูกสร้างบ้านอยู่บนที่ดินของตน จําเลยก็ไม่มีเอกสารสิทธิใด ๆ มาแสดงให้เห็นตามที่กล่าวอ้าง อีกทั้งทางนําสืบจําเลยยังขัดแย้งกับคําให้การของตนที่ให้การต่อสู้ในทํานองว่าจําเลยปลูกสร้างบ้านบนที่ดินสาธารณประโยชน์ ซึ่งและมีเพียงนายถนัดกิจ ทรัพย์ประทุม นายช่างชลประทาน มาเบิกความเป็นพยานว่า พยานมาดูการรังวัดที่ดินพิพาท แต่ไม่ได้นําชี้แนวเขตที่ดินของกรมชลประทาน นอกจากนั้นพยานปากดังกล่าวยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า ตรงบริเวณที่ดินพิพาทไม่มีหลักเขตระบุว่าเป็นที่ดินของกรมชลประทานและไม่มีป้ายแสดงว่าบริเวณดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน เมื่อพยานปากดังกล่าวไม่ได้เบิกความยืนยันว่า บริเวณที่ดินพิพาทที่ปลูกสร้างบ้านจําเลยนั้น เป็นที่ดินของกรมชลประทานหรือที่ดินสาธารณประโยชน์ คํากล่าวอ้าง ของจําเลยจึงเป็นข้อกล่าวอ้างลอย ๆ รับฟังไม่ได้ว่า จําเลยปลูกสร้างบ้านอยู่บนที่ดินของกรมชลประทานหรือที่ดินสาธารณประโยชน์ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจําเลย
@ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินของโจทก์-ให้รื้อถอน
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จําเลยปลูกสร้างบ้านอยู่บนที่ดินของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จําเลยอยู่อาศัยบนที่ดินของตน และมีหนังสือบอกกล่าวให้จําเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมขนย้าย ทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาทแล้ว ตามหนังสีอบอกกล่าวและใบตอบรับ จําเลยจึงต้องรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาทของโจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการสุดท้ายว่า จำเลยต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่วินิจฉัยในประเด็นแรกว่า จําเลยปลูกสร้างบ้านอยู่บนที่ดินพิพาทของโจทก์ เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ให้จําเลยอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทและมีหนังสือนอกกล่าวให้จําเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จําเลยเพิกเฉย การกระทําของจำเลยจึงเป็นการกระทําละเมิดต่อโจทก็ทําให้โจทก์เสียหาย โจทก์จึงมีสิทธิ์เรียกค่าเสียหาย และค่าขาดประโยชน์
จากการใช้ที่ดินพิพาทจากจําเลย
@เรียก 50,000 บาท ไม่สมเหตุ
แต่ที่โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายมาจํานวน 50,000 บาท นั้น โจทก์ไม่ได้นําสืบให้เห็นว่า โจทก์จะหาประโยชน์จากที่ดินพิพาทได้เป็นเงินจํานวนดังกล่าวอย่างไร เมื่อพิเคราะห์จํานวนที่ดินซึ่งมีเนื้อที่เพียง 25 ตารางวา และสภาพที่ดินพิพาทที่มีน้ำท่วมถึงแล้ว เห็นสมควรกําหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้เป็นเงิน 12,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์ในอัตราเดือนละ 1,500 บาท นั้น โจทก์ก็กล่าวอ้างลอย ๆ ว่า สามารถนำที่ดินพิพาทให้บุคคลอื่นเช่าได้ในอัตราดังกล่าว
เมื่อพิเศราะห์จํานวนเนื้อที่ที่ดินพิพาทประกอบอัตราค่าเช่าตามที่ระบุในสัญญาเช่า จึงเห็นควรกําหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้ในอัตราเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันครบกําหนดให้จําเลยรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาทจนถึงวันฟ้องโดยกําหนดให้เป็นระยะเวลา 5 เดือน เป็นเงิน 5,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่จําเลยต้องชดใช้ให้แก่โจทก์คำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 17,000 บาท และเมื่อหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้เงินที่เกิดจากมูลละเมิดโจทก์ซึ่งมีสิทธิ์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันละเมิด ซึ่งก็คือวันครบกำหนดที่โจทก์กําหนดให้จําเลยรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อใจทก์ไม่ได้ขอนับแต่วันดังกล่าว
จึงกําหนดให้จําเลยชําระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชําระเสร็จแก่โจทก์
นอกจากนั้นจําเลยยังต้องชําระค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินพิพาทในอัตรา
เดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจําเลยและบริวารจะขนย้ายรื้อถอนบ้านเลขที่ 71 ออกจากที่ดินพิพาท
@ จ่ายค่าเสียหาย 17,000 บาท ดอกเบี้ย 7.5 %ต่อปี
พิพากษาให้ จําเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 71 หมู่ 6 ตําบลหนองหมู อําเภอวิหารแดง จังหวัดสระบุรี พร้อมขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาทตรงเส้นสีแดงในแผนที่พิพาท เอกสารหมาย จล.1 และห้ามจําเลยและบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว ให้จําเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 17,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินจํานวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 20 มิถุนายน 2562) จนกว่าจําเลยจะชําระเสร็จแก่โจทก์ และให้จําเลยชําระค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินพิพาทในอัตราเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจําเลยและบริวารจะขนย้ายรื้อถอนบ้านเลขที่ 71 ออกจากที่ดินพิพาท กับให้จําเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกําหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/