วันที่ 30 กรกฎาคม คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน พร้อมหลักฐานที่พิสูจน์ความมีอยู่จริงของทรัพย์สินและหนี้สิน รวมทั้งหลักฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีที่ผ่านมาของรัฐมนตรีในการเข้ารับตำแหน่งและพ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของเรื่อง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 234 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 102 และมาตรา 105 และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่เกี่ยวข้องได้กำหนดเกี่ยวกับการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้
1. วันเข้ารับตำแหน่ง
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตามที่มีอยู่จริงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ภายใน 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันเข้ารับตำแหน่ง (วันเข้ารับตำแหน่ง หมายถึง วันถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์)
2. วันพ้นจากตำแหน่ง
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตามที่มีอยู่จริงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ภายใน 60 วัน นับแต่วันถัดจากวันพ้นจากตำแหน่ง (วันพ้นจากตำแหน่ง หมายถึง วันที่ลาออก หรือวันที่พ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุอื่น แล้วแต่กรณี ส่วนในกรณีที่คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้หมายถึง วันที่คณะรัฐมนตรีคณะใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์)
3. กรณีพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ หรือเข้ารับตำแหน่งอื่นที่ต้องยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินหรือหนี้สิน
กรณีที่นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเดิมหรือตำแหน่งใหม่ภายใน 1 เดือน นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีดังกล่าวไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งและกรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ต้องห้ามที่จะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน
4. บุคคลที่ถือว่าเป็นคู่สมรส
การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของคู่สมรสตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย ดังนี้
4.1 บุคคลซึ่งได้ทำพิธีมงคลสมรสหรือพิธีอื่นใดในทำนองเดียวกันกับนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี โดยมีบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลภายนอกรับทราบว่าเป็นการอยู่กินกันฉันสามีภริยาตามประเพณี
4.2 บุคคลซึ่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีแสดงให้ปรากฏว่า มีสถานะเป็นสามีภริยากัน หรือมีพฤติการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะดังกล่าว
4.3 บุคคลซึ่งจดทะเบียนสมรสกับนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีและต่อมาได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกันตามกฎหมายแล้ว แต่ยังแสดงให้ปรากฏหรือมีพฤติการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะเป็นสามีภริยากัน
5. การขอขยายเวลาการยื่นบัญชีแสดงรายการฯ และการขอแก้ไขบัญชีแสดงรายการฯ
5.1 ก่อนครบกำหนดตามระยะเวลาข้อ 1 และข้อ 2 ผู้ยื่นบัญชีอาจยื่นคำขอขยายระยะเวลายื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ โดยต้องระบุเหตุผลและความจำเป็นต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ โดยอาจมีการขยายระยะเวลาได้ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน
5.2 กรณีการขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ได้ยื่นไว้แล้ว มีดังนี้
5.2.1 ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามข้อ 1 และข้อ 2 ผู้ยื่นบัญชีสามารถยื่นคำขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบที่ได้ยื่นไว้แล้ว
5.2.2 หากครบกำหนดระยะเวลาตามข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว ให้ผู้ยื่นบัญชียื่นคำขอแก้ไขหรือเพิ่มเติมบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบพร้อมคำชี้แจงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
6. ทรัพย์สินที่จะต้องแสดงรายการฯ
6.1 ทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะตามที่มีอยู่จริงในวันเข้ารับตำแหน่งหรือวันที่พ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี
6.2 ทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะในต่างประเทศตามที่มีอยู่จริง
6.3 ทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะที่มอบหมายให้อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
7. เอกสารที่ต้องยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
7.1 บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินหรือหนี้สินที่มีอยู่จริงในวันที่เข้ารับตำแหน่งหรือวันที่พ้นจากตำแหน่ง แล้วแต่กรณี ตามแบบที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกำหนด
7.2 สำเนาหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินและหนี้สินนั้นมีอยู่จริง
7.3 สำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในรอบปีภาษีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เอกสารที่ยื่นจะต้องมีลายมือชื่อผู้ยื่นรับรองกำกับไว้ทุกหน้า โดยให้จัดทำเอกสารทั้งหมดจำนวน 2 ชุด ชุดหนึ่งเป็นต้นฉบับ และอีกชุดหนึ่งเป็นสำเนาคู่ฉบับ
8. วิธียื่นบัญชีแสดงรายการฯ
8.1 จัดส่งด้วยตัวเอง หรือมอบหมายให้บุคคลอื่นจัดส่งแทน
8.2 จัดส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ
9. ผลของการไม่ยื่นบัญชี หรือยื่นบัญชีเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ
9.1 ผู้ที่จงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้น ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอเรื่องให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัย โดยให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง และถ้าหากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่าผู้ใดกระทำความผิด ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
9.2 ผู้กระทำความผิดตามข้อ 9.1 จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี ด้วย
9.3 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรีในการเข้ารับตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 170 และมาตรา 187 และพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 และมาตรา 10 ได้กำหนดเกี่ยวกับการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี สรุปได้ดังนี้
1. การจัดการหุ้นส่วนของรัฐมนตรี
1.1 รัฐมนตรี คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของรัฐมนตรี ต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือ ผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทหรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท (รวมถึงการถือหุ้นของรัฐมนตรีที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลของบุคคลอื่นไม่ว่าโดยทางใด ๆ ด้วย) เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ในห้างหุ้นส่วนจำกัด รัฐมนตรีเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดได้ไม่เกินร้อยละห้าของทุนทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น
(2) ในบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด รัฐมนตรีเป็นผู้ถือหุ้นได้ไม่เกินร้อยละห้าของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในบริษัทนั้น
1.2 ในกรณีที่รัฐมนตรี คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของรัฐมนตรี ประสงค์จะได้รับประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท ในส่วนที่เกินกว่าจำนวนที่กำหนดไว้ ให้รัฐมนตรีดำเนินการดังต่อไปนี้1
(1) แจ้งเป็นหนังสือให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และ
(2) โอนหุ้นส่วนหรือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้นิติบุคคลภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้แจ้งให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ และเมื่อได้ดำเนินการโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นให้กับนิติบุคคลใดแล้ว ให้รัฐมนตรีแจ้งเป็นหนังสือให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้โอนหุ้นส่วนหรือหุ้นนั้น
2. นิติบุคคลที่รัฐมนตรีจะโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นให้จัดการได้
2.1 ต้องเป็นนิติบุคคลที่มีอำนาจจัดการกองทุนส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือนิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นตามกฎหมายโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
2.2 ต้องเป็นนิติบุคคลที่ไม่มีกรรมการหรือพนักงานซึ่งนิติบุคคลนั้นมอบหมายให้เป็นผู้จัดการในการบริหารและจัดการหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรีที่มีผลประโยชน์ หรือมีส่วนได้เสียกับรัฐมนตรี คู่สมรสของรัฐมนตรี เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ของรัฐมนตรี
3. ในการโอนหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรีให้กับนิติบุคคล ให้รัฐมนตรีโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นส่วนหรือหุ้นให้กับนิติบุคคลโดยเด็ดขาดแต่การจัดการหรือการจัดหาผลประโยชน์เกี่ยวกับหุ้นส่วนหรือหุ้นของรัฐมนตรี ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาจัดการหุ้นส่วน หรือหุ้นของรัฐมนตรี โดยต้องจัดทำตามแบบที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด
4. ผลของการที่รัฐมนตรีไม่แจ้งการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ในส่วนที่เกินร้อยละ 5 ให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งจะทำให้ถูกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกว่า ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีคนนั้นสิ้นสุดลง และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับคำร้องส่งคำร้องนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีคนนั้นสิ้นสุดลง หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ด้วย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82
--------------------------------------
1 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2551 ได้วางหลักไว้ว่าพระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2543 มาตรา 5 กำหนดให้รัฐมนตรีต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ทราบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี และโอนหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทนั้นให้นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นภายใน 90 วันนับแต่วันที่แจ้งให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ทราบ และจะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. ทราบอีกครั้งภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้โอนหุ้นให้นิติบุคคลนั้น ซึ่งแม้ว่ามาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจะไม่มีบทบัญญัติให้รัฐมนตรีแจ้งความประสงค์ที่จะรับประโยชน์จากการเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นของคู่สมรสและบุตร ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะนั้นเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญให้นำบทบัญญัติสำหรับนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมาใช้บังคับ เมื่อบทบัญญัติสำหรับนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมีกฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร ก็ย่อมจะนำมาใช้บังคับกับคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะได้ด้วย ดังนั้น รัฐมนตรีจึงมีหน้าที่ต้องแจ้งความประสงค์จะรับประโยชน์จากกรณีดังกล่าวของคู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะต่อประธานกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย