"...การเสนอกฎหมายที่มีหลักการและเนื้อหาหลายประการที่ขัดต่อกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ จะทำให้เกิดปัญหาในสังคมไทยหลายประการ ตั้งแต่ปัญหาในครอบครัว ชุมชน อาชญากรรม อุบัติเหตุ การใช้กัญชาในกลุ่มเด็ก เยาวชน ผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข..."
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ความเห็นและข้อสังเกตต่อร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... ส่งถึงนายชวน หลักภัย ประธานรัฐสภา มีใจความสำคัญ ดังนี้
เหตุผลของ ร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ....
1.หลักการ เหตุผล และเนื้อหาบางส่วนของร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... ที่เสนอโดย พรรคภูมิใจไทย มีเนื้อหาที่ขัดต่อกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ เนื่องด้วยกัญชา (cannabis) หรือพืชกัญชาถือเป็นยาเสพติดตาม “อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ.1961” (Single Convention on Narcotic Drugs, 1961) โดยอนุสัญญา ฯ ดังกล่าวได้กำหนดให้กัญชาอยู่ในประเภทที่ 1 (Schedule 1 ) และให้ถอดกัญชาออกจากประเภทที่ 4 (Schedule 4) กล่าวคือ ดอกกัญชา ยางกัญชา สารสกัด และทิงเจอร์ของกัญชาซึ่งเป็นส่วนประกอบของต้นกัญชา ยังมิได้ถูกถอดจากยาเสพติดตามอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961
เหตุผลที่กล่าวอ้างว่าประมวลกฎหมายยาเสพติดไม่ได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ เป็นการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางวิชาการรองรับ ปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดที่ออกกฎหมายถอดต้นกัญชาหรือดอกกัญชาออกจากยาเสพติด
ส่งผลทำให้ประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิกละเมิดพันธกรณีตามอนุสัญญาดังกล่าว การดำเนินนโยบายกัญชาเสรีของรัฐบาลไทยที่ให้ถอดกัญชาออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 จึงละเมิดต่อกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ กรณีกัญชามีความแตกต่างจาก “พืชกระท่อม” ซึ่งไม่ถือเป็นยาเสพติดตามอนุสัญญาเดี่ยว ฯ
2. เหตุผลที่ระบุว่า เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์ “กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ” เป็นแนวคิดที่ไม่เป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ เนื่องจากกัญชายังมีสถานะเป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ไม่มีนโยบายหรือกฎหมายที่ส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนปลูกหรือทำธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา เพราะกัญชาเป็นยาเสพติดที่ยังมีกฎหมายควบคุมอย่างเข้มงวด การให้ประชาชนปลูกกัญชา กัญชงในบ้านโดยไม่มีระบบการจดทะเบียนและได้รับอนุญาตจากบุคลากรทางการแพทย์ จะทำให้เกิดความเสี่ยงในการนำกัญชาไปใช้อย่างไม่เหมาะสม อาจส่งผลเสียต่อครอบครัว ชุมชน และสังคมในวงกว้าง
กรณีกัญชงซึ่งเป็นพืชที่ภาครัฐสามารถส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกได้นั้น จะต้องเป็น “กัญชง” ที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ที่เรียกว่า industrial hemp เท่านั้น เพราะกัญชาหรือกัญชงส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ผสม บางสายพันธุ์มีปริมาณ THC ในปริมาณสูง ไม่เหมาะสมที่จะให้ประชาชนปลูกกัญชาหรือกัญชงในบ้านหรือที่พักอาศัย ภาครัฐสามารถมีนโยบายส่งเสริมให้ “กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ” เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอ แต่ก็ควรใช้ระบบการขออนุญาตมากกว่าการเพาะปลูกเพื่อใช้ตามความจำเป็นในครัวเรือน
3.ควรแยกบทบัญญัติเกี่ยวกับการควบคุมหรือกำกับดูแล “กัญชา” ออกจาก “กัญชง” (hemp) หรือ Cannabis sativa L. subsp. sativa เนื่องจากเป็นพืชที่มีคุณสมบัติและการใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน ในต่างประเทศจะมีการแยกกฎเกณฑ์กรณีกัญชงกับกัญชาแยกจากกัน กล่าวคือ กัญชงเป็นพืชที่นำไปใช้ในประโยชน์ในอุตสาหกรรมสิ่งทอ อาหาร เครื่องสำอาง และอุตสาหกรรมอื่น ๆ กัญชงที่มีสาร THC ในปริมาณต่ำ (ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก) และมีสาร CBD ในสัดส่วนที่สูงกว่า จึงมิได้มีผลกระทบ ฉะนั้น จึงไม่เหมาะสมที่จะนำกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกัญชาและกัญชงมารวมไว้ในร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ....
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ....
เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติกัญชา ฯ มีลักษณะเป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนปลูกกัญชาตามนโยบายรัฐบาล และเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเสพหรือใช้กัญชาโดยเสรีเพื่อนันทนาการ (recreational use) มิใช่การใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อการบำบัดรักษาผู้ป่วย การเสนอกฎหมายที่มีหลักการและเนื้อหาหลายประการที่ขัดต่อกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ จะทำให้เกิดปัญหาในสังคมไทยหลายประการ ตั้งแต่ปัญหาในครอบครัว ชุมชน อาชญากรรม อุบัติเหตุ การใช้กัญชาในกลุ่มเด็ก เยาวชน ผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข ดังที่มีการนำเสนอข้อมูลปัญหาในเรื่องนี้ในหลายประเทศที่เปิดเสรีให้มีการบริโภคหรือเสพกัญชาเพื่อนันทนาการตามรายงานยาเสพติดขององค์การสหประชาชาติชื่อ World Drug Report (2022)มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เนื่องด้วยเป็นร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... เป็นปัจจัยและแนวโน้มที่คาดว่าจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างมาก และยังเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุวิสัยทัศน์ประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์ชาติ กล่าวคือ จะทำให้ประเทศไทยขาดความมั่นคง ประชาชนส่วนใหญ่มิได้รับประโยชน์จากการปลดกัญชาออกจากยาเสพติด ผู้รับประโยชน์จะเป็นกลุ่มนายทุน ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับกัญชา ในขณะที่ประชาชนจะได้รับการมอมเมาให้ใช้หรือบริโภคกัญชาที่ไม่เหมาะสม
ผลกระทบต่อนโยบายส่งเสริม สนับสนุนการใช้กัญชาของภาครัฐ ข้อมูลผลกระทบของนโยบายกัญชาเสรีเพื่อนันทนาการในต่างประเทศใน World Drug Report 2022 ของ UNODC ปี ค.ศ.2022 พบว่า ประเทศที่มีนโยบายหรือกฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ จะส่งผลเสียต่อระบบบริการสาธารณสุข ความปลอดภัยของประชาชน หลักนิติธรรม คดีอาชญากรรม อุบัติเหตุ การค้ากัญชาผิดกฎหมาย โดยเฉพาะผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน (กรุณาดู แผนภาพที่ 1) อนึ่ง แม้ว่าในบางประเทศภาครัฐจะมีรายได้จากภาษีที่จัดเก็บจากธุรกิจกัญชาเพิ่มขึ้น แต่ก็อาจไม่เพียงพอต่อภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านสาธารณสุข รวมถึงต้นทุนทางสังคม (social cost)
นอกจากนั้น ยังมีข้อมูลสถิติในเรื่องนี้ในหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาในหลายมลรัฐ ประเทศแคนาดา และหลายประเทศในยุโรป เช่น ข้อมูลการใช้กัญชาในยุโรปช่วงปี 2010 ถึง 2019 พบว่าอัตราความชุกของการใช้กัญชาของประชากรที่เป็นผู้ใหญ่เพื่อนันทนาการเพิ่มสูงคือ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25 ในกลุ่มเยาวชน ผู้ใหญ่ตอนต้นที่มีอายุระหว่าง 15-24 ปี และกลุ่มประชากรที่พบการใช้กัญชาเพิ่มมากสูงขึ้นถึงร้อยละ 82 ในประชากรอายุ 55-64 ปี และพบว่าในกลุ่มผู้ใช้กัญชานั้นใน 13 ประเทศจาก 26 ประเทศจำนวนร้อยละ 20 เป็นรูปแบบการใช้ที่มีความเสี่ยงสูง (high-risk use patterns) อีกทั้งยังพบจำนวนผู้ป่วยที่ใช้กัญชาจนเป็นปัญหาสุขภาพ (cannabis problems) ต่อจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจำนวน 100,000 คนที่เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 27 เป็นร้อยละ 35 จึงควรมีการเฝ้าระวังการใช้กัญชาที่มีความเสี่ยงสูงและการใช้กัญชาที่เป็นอันตราย รวมทั้งติดตามวิเคราะห์ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่ใช้กัญชาเสรีในประเทศไทย จำเป็นที่ต้องใช้ระยะเวลาประเมินภายหลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายปลด “กัญชา” ออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 แต่ในช่วง 2-3 ปีมานี้ เริ่มมีข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม โดย นพ.ล่ำซำ ลักขณาภิชนชัช รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและการแพทย์ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ให้ข้อมูลว่า จากการสำรวจล่าสุดพบว่า ผู้ป่วยที่เข้ามารับการบำบัดมากที่สุดคือ ผู้ป่วยที่ใช้กัญชาและมีอาการทางจิตรุนแรง เพราะผู้ที่สูบกัญชากว่าจะแสดงอาการรุนแรงใช้ระยะเวลานานกว่ายาบ้าหรือไอซ์ จึงเข้าสู่กระบวนการบำบัดช้ากว่าที่ควรจะเป็น จะเป็นอาการหลอน หูแว่ว หลงผิด หวาดระแวง และทำร้ายผู้อื่น ข้อมูลปี 2563 มีผู้ป่วยจิตเวชจากกัญชาเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 และข้อมูลปี 2564 จนถึงปัจจุบันเพิ่มเป็นร้อยละ 28 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น กัญชาเป็นสารเสพติดที่ต้องเฝ้าระวัง อนาคตจะก่อความรุนแรงในสังคม ปัจจุบันพบว่ากัญชาหาซื้อได้ตามแหล่งโซเชียล
ผลกระทบของนโยบายของรัฐที่ทำให้กัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ไม่เป็นยาเสพติด
ผลกระทบของเด็ก เยาวชนภายหลังการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด ข้อมูลที่รายงานจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ เรื่องผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กจากการใช้กัญชา แบ่งเป็นผลกระทบระยะสั้น สำหรับผลในระยะยาวหากมีการใช้ต่อเนื่องยาวนานหรือใช้ในปริมาณมาก การศึกษาต่างประเทศพบว่าส่งผลต่อไอคิวเด็กลดลงถึง 6 จุด หรือเรียกง่าย ๆ ว่า สมองพัง โง่ลง และยังมีผลกระทบระยะยาวว่า เด็กไม่ไปเรียน ออกจากโรงเรียน เรียนไม่จบ ไม่มีงานทำ มีปัญหาทางพฤติกรรม ทั้งนี้ การใช้กัญชาในเด็กมีการรักษาได้เพียง 1 โรค คือ โรคลมชักที่ดื้อยา และไม่ได้ใช้กัญชาอย่างเดียว ต้องมีแพทย์ดูแลและใช้ยาอื่นร่วมด้วย กัญชาไม่ใช่ทางเลือกแรก พญ.อดิศร์สุดา เฟื่องฟู หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางพัฒนาการ และพฤติกรรมเด็ก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) ให้ข้อมูลว่า “กลายเป็นว่ากัญชาจะเป็นเรื่องธรรมดา เหมือนบุหรี่ไปแล้ว แม้ว่าจะยังผิดกฎหมายแต่เด็กจะมองด้านกฎหมายว่ากัญชาไม่ผิดแล้ว เมื่อก่อนจะหลบ ๆ ซ่อน ๆ แต่ตอนนี้ก็เหมือนเอาของใต้ดินมาอยู่บนดิน ..... ”
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์จุดยืนของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่องผลกระทบของกฎหมายกัญชาเสรีต่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่น โดยระบุว่า ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 9 ก.พ. พ.ศ. 2565 ประกาศยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยเฉพาะกัญชา ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิ.ย. พ.ศ.2565 จะส่งผลให้ประชาชนทุกคนในประเทศไทยรวมถึงกลุ่มเปราะบาง คือ เด็กและวัยรุ่น สามารถเข้าถึงกัญชา และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย จากการบริโภคอาหาร และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา รวมถึงการนำกัญชา ซึ่งเป็นสารที่มีฤทธิ์ทำให้เสพติดมาใช้เพื่อนันทนาการ หากมีการนำกัญชาหรือสารสกัดกัญชามาใช้เป็นส่วนผสมของอาหาร หรือการแปรรูปต่าง ๆ หรือให้มีการใช้กัญชาได้อย่างเสรีโดยไม่มีกฎหมายควบคุม ประชาชนก็จะมีโอกาสได้รับสารแคนนาบินอยด์เหล่านั้น เข้าไปจนอาจจะมีผลกระทบที่รุนแรง โดยเฉพาะอาจส่งผลต่อสมองของเด็กและวัยรุ่น เช่น พัฒนาการล่าช้า ปัญหาพฤติกรรม เชาวน์ปัญญาลดลง และส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ เช่น มีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคจิตเภท เสี่ยงต่อการติดสารเสพติดชนิดอื่น ๆ รวมถึงส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
ข้อเสนอแนะอื่น ๆ
การบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม ควรมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม และควรกำหนดให้คณะกรรมการและกระทรวงสาธารณสุขมีบทบาทหลักในการรับผิดชอบเรื่องนี้ เนื่องจากเมื่อกัญชาไม่เป็นยาเสพติด จะส่งผลทำให้ผู้ป่วยที่ติดกัญชาไม่สามารถเข้ารับการบำบัดฟื้นฟูตามกฎหมายยาเสพติดได้ ทำให้เกิดปัญหาการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยกลุ่มนี้
กองทุนป้องกันและลดผลกระทบจากกัญชาควรมีบทบัญญัติเรื่องการจัดตั้ง “กองทุนป้องกันและลดผลกระทบจากกัญชา” ที่มีสถานะนิติบุคคล อยู่ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข แหล่งรายได้ของกองทุน ฯ คือ เงินค่าธรรมเนียมตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งหมดเป็นรายได้ของกองทุน ฯ กองทุนป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด และรายได้จากการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต โดยกำหนดจำนวนเงินกองทุนสูงสุดไว้ หากมีเงินกองทุนเกินวงเงินที่กำหนดไว้ เช่น 1,000 ล้านบาท ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน โดยกองทุนมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ
1) ส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม แต่ไม่รวมถึงการบำบัดรักษาที่สามารถเบิกจ่ายได้ตามกฎหมายอื่น
2) สร้างความตระหนักเรื่องอันตรายหรือความเสี่ยงจากการบริโภคกัญชาที่ไม่เหมาะสม
3) สนับสนุนการรณรงค์ให้หลีกเลี่ยงการบริโภคกัญชาด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ
4) ศึกษาวิจัยหรือสนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัย เฝ้าระวัง ฝึกอบรม ติดตาม ประเมินผล หรือดำเนินการให้มีการประชุมเกี่ยวกับอันตรายหรือผลเสียจากกัญชา
5) พัฒนาความสามารถของชุมชนในการป้องกันหรือลดผลกระทบจากการใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสม ซึ่งดำเนินการโดยชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรสาธารณประโยชน์ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
ข้อเสนอแนะต่อร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. ....
1. ขอบเขตของกฎหมาย
"มาตรา 2/1 การใช้กัญชา กัญชง หรือสารสกัด เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยาตามกฎหมายว่าด้วยยา อาหารตามกฎหมายว่าด้วยอาหาร เครื่องสำอางตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องสำอาง หรือผลิตภัณฑ์อื่นใดตามที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้ รวมถึงการนำเข้า การส่งออก การขาย และการโฆษณา ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น เว้นแต่มาตรา 37 มาตรา 37/1 และ 37/2"
ควรพิจารณาแก้ไขมาตรา 2/1เนื่องจากหากมีการนำกัญชามาใช้เป็นวัตถุดิบหรือส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น เช่น ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร ฯลฯ แม้ว่าจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้อง แต่ยังมีประเด็นข้อกฎหมายคือ ผู้ที่ดำเนินการตามกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่น จะยังมีหน้าที่ต้องขออนุญาตตามร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง พ.ศ. .... ด้วย เพราะวัตถุดิบจากกัญชาอาจมีสาร THC สูงกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก กฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพมิได้มีมาตรการป้องกันการผลิต จำหน่าย หรือโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคที่เหมาะสมเพียงพอ
การบัญญัติตาม มาตรา 2/1ยังไม่สอดคล้องกับการจัดการหรือควบคุมกัญชาในต่างประเทศ ซึ่งจะมีการกำหนดให้ “วัตถุดิบ” โดยเฉพาะสารสกัดจากกัญชา ยังถือเป็นยาเสพติดที่ต้องมีการควบคุมตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูปกัญชาเพื่อให้ได้สารสกัดเพื่อใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพชนิดต่าง ๆ เพื่อเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ยาแผนปัจจุบัน ยังมีช่องโหว่ที่จะมีการนำไปใช้ในเป็นยาเสพติดหรือเป็นช่องทางให้ธุรกิจสีเทา พ่อค้ายาเสพติดสามารถผลิตยาเสพติดได้ โดยจัดตั้งบริษัทเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพบังหน้า
และควรบัญญัติให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกัญชา ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติต่าง ๆ ในร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ฯ ตามแนวทางของกฎหมายต่างประเทศ และเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยในการบริโภคและการใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาชนิดต่าง ๆ เช่น การขออนุญาตเกี่ยวกับการขาย การผลิต การนำเข้าหรือส่งออก (ถ้ามี) การควบคุมเรื่องฉลากและบรรจุภัณฑ์ คำเตือน
มาตรา 3 ให้กัญชา กัญชง ที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือประมวลกฎหมายยาเสพติด
การบัญญัติให้ “กัญชา” (cannabis) ไม่ถือเป็นยาเสพติดนั้น ขัดต่อกฎหมายเสพติดระหว่างประเทศคือ “อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ.1961” (Single Convention on NarcoticDrugs, 1961) ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศสมาชิก โดยอนุสัญญา ฯ ดังกล่าวกำหนดให้กัญชา (ช่อดอก) อยู่ในยาเสพติดประเภท 1 หรือ Schedule 1 จึงต้องมีการควบคุมต้นกัญชาที่มีช่อดอกในฐานะยาเสพติดด้วย โดยอนุสัญญาเดี่ยว ฯ กำหนดให้ประเทศสมาชิกสามารถอนุญาตให้มีการปลูกกัญชาได้ แต่จะต้องมีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่เข้มงวด โดยนำกรณีการปลูกพืชฝิ่นมาปรับใช้ อนุสัญญาเดี่ยว ฯ มิได้อนุญาตให้ถอดกัญชาออกจากยาเสพติดแต่อย่างใด การบัญญัติให้กัญชาที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ไม่ถือเป็นยาเสพติด จะทำให้ประเทศไทยละเมิดพันธกรณีตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ
หากมีการบัญญัติให้กัญชาที่ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว ไม่ถือเป็นยาเสพติดให้โทษ จะทำให้เกิดปัญหาการตีความกฎหมายและการปรับใช้กฎหมาย และกลายเป็นช่องว่างที่ทำให้พ่อค้ายาเสพติด องค์กรอาชญากรรมอาศัยช่องทางตามพระราชบัญญัติกัญชา ฯ ในการกระทำความผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งเจ้าหน้าที่จะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามีความเกี่ยวพันกับการค้ายาเสพติดหรือไม่ การบัญญัติให้กัญชาไม่เป็นยาเสพติดก็ขัดต่อแนวทางการควบคุมกัญชาในต่างประเทศ ซึ่งจะกำหนดให้ผู้รับอนุญาตตามกฎหมายยาเสพติดเท่านั้นที่จะเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบให้แก่ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทยาที่ต้องการนำกัญชามาใช้ทำผลิตภัณฑ์ยา เพื่อป้องกันการเข้ามาขององค์กรอาชญากรรมเพื่อฟอกเงิน
2. นิยาม
“กัญชา” หมายความว่า พืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา เช่น ช่อดอก ยาง น้ำมัน
“กัญชง” หมายความว่า พืชในสกุล Cannabis และวัตถุหรือสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชง เช่น ช่อดอก ยาง น้ำมัน และมีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ในส่วนช่อดอกและใบไม่เกินปริมาณร้อยละ ๐.๒ โดยน้ำหนัก
“สารสกัด” นิยาม “สารสกัด” มีข้อบกพร่องบางประการกล่าวคือ ในทางวิทยาศาสตร์กระบวนการสกัดสารจากกัญชาจะได้สารสกัดจากกัญชา (Cannabis Extracts) ที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลในสัดส่วนที่สูง เช่น ร้อยละ 5-20 เกินกว่าร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก จึงถือเป็นยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด
ฉะนั้น การบัญญัติให้สารสกัดตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นสารสกัดตามกฎหมายยาเสพติด ย่อมเป็นไม่ได้ในทางวิทยาศาสตร์ และอาจกลายเป็นปัญหาในการตีความกฎหมาย และทำให้เป็นช่องโหว่หรือจุดอ่อนให้พ่อค้ายาเสพติด กลุ่มธุรกิจสีเทาสามารถหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีตามกฎหมายยาเสพติด
“ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ สกัด เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุด้วยช่อดอก หรือสารสกัดเพื่อขาย แต่ไม่รวมถึงการแปรเปลี่ยนรูปอย่างง่ายทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ สกัด หรือเปลี่ยนรูป เพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือน การประกอบอาหารในร้านอาหาร และเพื่อใช้ประโยชน์จากเส้นใยตามประเพณี วัฒนธรรม หรือวิถีชีวิต เพื่อใช้ในครัวเรือน จึงควรแก้ไขนิยาม “ผลิต” เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์
“ใช้ประโยชน์ในครัวเรือน” ที่ระบุความหมายว่า การบริโภคส่วนบุคคลเพื่อดูแลรักษาสุขภาพของตนเองและบุคคลในครอบครัวที่อาศัยอยู่ในที่อยู่อาศัยเดียวกัน ไม่สอดคล้องกับกฎหมายและแนวปฏิบัติในต่างประเทศเกี่ยวกับการนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ แต่เปิดโอกาสให้มีการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ สะท้อนให้เห็นว่าหลักการสำคัญในร่าง พ.ร.บ.กัญชา ฯ คือ การเปิดโอกาสให้มีการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการในครัวเรือน มิใช่การใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แต่อย่างใด
วิธีแก้ไข ควรยกเลิกนิยาม “ใช้ประโยชน์ในครัวเรือน” และควรบัญญัตินิยามใหม่คือ “ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” แทน โดยใช้แนวทางตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 58 เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการใช้กัญชาทางการแพทย์ตามกฎหมายต่างประเทศ ดังนี้
“ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์” หมายความว่า การใช้กัญชาที่มุ่งหมายสำหรับเพื่อบำบัด บรรเทา รักษาอาการของโรคของบุคคล ตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทยที่ได้รับใบอนุญาต หรือใช้เพื่อการศึกษาวิจัย
3.การขออนุญาตและการอนุญาต
ควรแยกประเภทใบอนุญาตกรณี “กัญชา” ออกจาก “กัญชง” โดยการขอใบอนุญาตกัญชงควรมีความเข้มงวดน้อยกว่ากัญชา เนื่องจากกัญชงไม่ถือเป็นยาเสพติดตามกฎหมายยาเสพติดระหว่างประเทศ มีปริมาณ THC ต่ำ ในขณะที่กัญชาจะต้องมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการขออนุญาตที่เข้มงวดมากกว่า
ประเภทของใบอนุญาตกัญชา ควรกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนเป็นประเภทต่าง ๆ เหมือนในต่างประเทศ โดยควรนำแนวทางการกำหนดประเภทใบอนุญาตของประเทศแคนาดามาปรับใช้ ซึ่งมีประเภทใบอนุญาต 6 ประเภทคือ
1) ใบอนุญาตเพาะปลูก (Cultivation Licences)
2) ใบอนุญาตการผลิตและแปรรูป (Processing Licences)
3) ใบอนุญาตการขายเพื่อใช้ในทางการแพทย์ (Licence for sale for Medical Purposes)
4) ใบอนุญาตการทดสอบ (Licence for Analytical Testing)
5) ใบอนุญาตการวิจัย (Licence for Research)
6) ใบอนุญาตผลิตยาจากกัญชา (Cannabis drug licences)
กรณีใบอนุญาตการเพาะปลูกจะมีประเภทย่อยอีก 3 ประเภทย่อย ได้แก่ 1) a licence for micro-cultivation 2) a licence for standard cultivation 3) a licence for a nursery ซึ่งจะมีข้อดีในการกำหนดความเข้มงวดในการกำกับดูแลที่เหมาะสม การปลูกกัญชาควรกำหนดมาตรการควบคุมหรือการกำกับดูแลที่เข้มงวดแตกต่างกัน โดยหากเป็นผู้ประกอบธุรกิจเชิงอุตสาหกรรมหรือรายใหญ่ ควรมีมาตรการที่เข้มงวดมากกว่ารายย่อย หากการกำหนดประเภทใบอนุญาตที่ขาดความชัดเจน มิได้กำหนดประเภทย่อยของใบอนุญาตแล้ว ก็อาจเป็นช่องว่างให้พ่อค้ายาเสพติด องค์กรอาชญากรรมสามารถยื่นขออนุญาตปลูกหรือผลิตกัญชา เพื่อนำไปขายในตลาดมืด ขายให้แก่เด็ก เยาวชน หรือนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมได้
กรณีการนำเข้าและส่งออกกัญชาหรือสารสกัดกัญชานั้น ตามกฎหมายแคนาดามิได้กำหนดเรื่องใบอนุญาตไว้ เนื่องจากภาครัฐจะกำหนดให้มีการยื่นคำขออนุญาตนำเข้าหรือส่งออกเป็นครั้งคราวเท่านั้น ซึ่งก็สอดคล้องกับกฎหมายยาเสพติดของไทย ข้อสำคัญคือกฎหมายต่างประเทศจะอนุญาตให้ดำเนินการเฉพาะการนำเข้าหรือส่งออกกัญชา เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ทางการแพทย์หรือศึกษาทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น เช่น กฎหมายแคนาดาเรียกว่า การยื่นขออนุญาตนำเข้าและส่งออกกัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ (Importation and Exportation for Medical or Scientific Purposes) หรือประเทศนิวซีแลนด์กำหนดให้มีใบอนุญาตกัญชาทางการแพทย์ (Medicinal cannabis licence) ซึ่งผู้ถือใบอนุญาตสามารถนำเข้าและส่งออกเมล็ดพันธุ์กัญชา สารประกอบตั้งต้น
4. การขอจดแจ้ง ควรแก้ไขหลักการและเนื้อหาในหมวด 4 การขอจดแจ้งและการรับจดแจ้ง (มาตรา 18 – 20/4) เป็น หมวด 4 การขึ้นทะเบียนผู้เพาะปลูกกัญชา
5.การโฆษณา ควรห้ามโฆษณา ส่งเสริมการขาย หรือสื่อสารการตลาดเกี่ยวกับกัญชา ผลิตภัณฑ์กัญชาที่เป็นอาหารในทุกกรณี ยกเว้นการโฆษณายาแผนปัจจุบันตามพระราชบัญญัติยา หรือยาแผนไทยที่ได้รับประกาศรับรองตำรับยาแล้วตามกฎหมายยาเสพติดและพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร
การโฆษณาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์กัญชา จึงไม่ควรอนุญาตให้มีการโฆษณาอาหารที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เช่น ขนมคบเคี้ยวหรือ snack ที่มีส่วนผสมของกัญชา เพราะมีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กเยาวชน จะเป็นการเชิญชวน จูงใจโดยอ้อมให้เด็กเยาวชนสนใจหรือต้องการใช้กัญชาอื่น ๆ ในทางที่ไม่เหมาะสมและเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ แม้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารผสมกัญชาที่ผ่านการรับรองตามพระราชบัญญัติอาหารก็ตาม