'สหรัฐฯ' เผยผลวิจัย พบเด็กติดโควิดเสี่ยงมีอาการเจ็บป่วยภาวะเส้นเลือดอุดตัน,หลอดเลือดแข็งตัว หัวใจเต้นผิดปกติ มากกว่าเด็กไม่ติดโควิด ขณะ WHO ชี้โลกเข้าสู่ช่วงเดือนเฝ้าระวังภาวะติดโควิด วอน รบ.เตรียมจัดหาชุด PPE ดำเนินมาตรการป้องกันติดเชื้อซ้ำ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานข่าวโควิด-19 ในต่างประเทศว่าที่สหรัฐอเมริกา มีการเผยผลวิจัยลงเว็บไซต์ของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ หรือว่าซีดีซี ในหัวข้อรายงานการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตรายสัปดาห์ (MMWR) โดยระบุว่านักวิจัยได้ประเมินอุบัติการณ์ของอาการที่เกิดใหม่ในกลุ่มเด็กและทารกที่ติดโควิด-19 พบข้อมูลว่ามีอาการหลังโควิดที่ไม่เคยมีการรายงานมาก่อน อาทิ อาการเส้นเลือดอุดตันที่ปอดเฉียบพลัน,การแข็งตัวของเลือด, เลือดออกอย่างผิดปกติ, ภาวะไตวายเฉียบพลัน, เหตุการณ์ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดดํา และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ในกลุ่มผู้ที่เข้าร่วมการศึกษา
อนึ่งการศึกษาก่อนหน้านี้นั้นได้เคยมีการประเมินอุบัติการณ์หลังจากภาวะโควิดในกลุ่มผู้ใหญ่ไปแล้ว แต่ว่าข้อมูลที่เกิดขึ้นในกลุ่มเด็กและทารกยังมีความจำกัดมาก ทำให้การศึกษานี้นั้นมุ่งเน้นไปที่การศึกษาอาการต่างๆในกลุ่มเด็ก ที่ยังไม่เคยมีการบันทึกลงเอกสารมาก่อน
โดยการศึกษาฉบับนี้ นักวิจัยได้มีการศึกษากลุ่มเด็กและทารกในสหรัฐฯจำนวนกว่า 781,419 ราย ที่มีอายุตั้งแต่ยังไม่ถึงหนึ่งปีไปจนถึง 17 ปี ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2563-31 ม.ค. 2565 ซึ่งกลุ่มเด็กดังกล่าวนี้เป็นกลุ่มที่ถูกวินิจฉัยจากห้องปฏิบัติการณ์ว่ามีอาการของโควิด-19 และการศึกษานั้นยังได้มีการเปรียบเทียบกับกลุ่มเด็กและทารกอีกกว่า 2,344,257 รายในสหรัฐฯ ที่ไม่พบว่ามีอาการโควิด-19
พบข้อมูลว่าในกลุ่มเด็กที่ผ่านการติดโควิดนั้นจะมีความถี่ของการเข้ารับรักษาตัวในโรงพยาบาลและอาการเรื้อรังโดยมีค่าอัตราส่วนอันตรายปรับผลกระทบแล้ว (aHRs) อยู่ที่ 4.5 และ 15.6 ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มเด็กซึ่งไม่ได้ติดโควิดพบว่าจะมีการเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลและอาการป่วยเรื้อรังของโรค โดยมีค่า aHRs อยู่ที่ 3.6 และ 11.7 ตามลำดับ
ทั้งนี้ในระหว่างการศึกษาพบว่าเด็กผู้ที่เคยผ่านการติดเชื้อโควิด-19 จะมีอัตราของการป่วยด้วยอาการที่ไม่ค่อยพบได้มากในกลุ่มเด็ก ด้วยอาการเส้นเลือดอุดตันที่ปอดเฉียบพลัน, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ,ลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดํา, ไตวายเฉียบพลัน, และโรคเบาหวานชนิดที่ 1 โดยมีค่า aHRs อยู่ที่ 2.01, 1.99, 1.87, 1.32 และ 1.23 ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม พบว่าอุบัติการณ์ของอาการเหล่านี้นั้นจะมีความแตกต่างกันไปตามช่วงอายุของเด็กและวัยรุ่น โดยในกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 2-4 ปี จะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ,ไตวายเฉียบพลัน, การแข็งตัวของเลือดและเลือดออกผิดปกติ โดยมีค่า aHRS อยู่ที่ 2.39, 1.52 และ 1.47 ตามลำดับ เด็กที่มีอายุระหว่าง 5-11 ปี จะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และไตวายเฉียบพลัน มีค่า aHRS อยู่ที่ 2.84 และ 1.38 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ และกลุ่มเด็กที่มีอายุ 12-17 ปี จะมีอาการเส้นเลือดอุดตันที่ปอดเฉียบพลัน, กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดํา มีค่า aHRS อยู่ที่ 2.03, 1.66 และ 1.52 ตามลำดับ
ทั้งนี้มีรายงานว่าอาการจำนวนหลายประการที่ว่ามานี้สามารถเกิดขึ้นได้เป็นระยะเวลานับตั้งแต่ 31-365 วันหลังจากการติดเชื้อ
ส่วนที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO พ.ญ.มาเรีย แวน เคอร์โคฟ หัวหน้าฝ่ายเทคนิคของโครงการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขแห่งของ WHO ได้ออกมาประกาศเตือนผ่านทวิตเตอร์ว่าในช่วงไม่กี่สัปดาห์ และในช่วงเดือนหลังจากนี้จะเข้าสู่ช่วงเวลาที่หลายฝ่ายต้องเฝ้าจับตา และต้องเฝ้าระวังโควิดมากที่สุด
พ.ญ.เคอร์โคฟทวีตต่อโดยเรียกร้องให้ประชาชนนั้นเร่งไปรับการฉีดวัคซีนเพิ่ม และดำเนินมาตรการที่จะลดความเสี่ยงสำหรับการติดเชื้อซ้ำ โดยเฉพาะการใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่ปิด กับบุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกในครอบครัว การทำความสะอาดร่างกาย การทำให้พื้นที่มีสภาพการระบายอากาศที่ดีที่สุด และการเว้นระยะห่างทางสังคม
“รัฐบาลควรส่งเสริมให้มีการเฝ้าระวัง การตรวจหาเชื้อ การลำดับพันธุกรรม,การเข้าถึงการรักษา และการเข้าถึงวัคซีนสำหรับกลุ่มเสี่ยง เพิ่มขีดความสามารถของการจัดหาชุดพีพีอี (ชุดป้องกันการติดเชื้อ) และการป้องกันบุคคลากรผู้ปฏิบัติงานอย่างแข็งขัน” พ.ญ.เคอร์โคฟทวีต
พ.ญ.เคอร์โคฟทวีตต่อไปว่าขอให้ทางรัฐบาลนั้นได้มีการลงทุนเพื่อพัฒนาการวิจัยสายพันธุ์โควิดต่างๆ เพื่อสนับสนุนการที่ผู้ป่วยต้องสู้กับลองโควิด
เรียบเรียงจาก:https://www.news-medical.net/news/20220809/Study-details-post-COVID-19-symptoms-and-conditions-among-children-and-adolescents-in-the-US.aspx,https://www.livemint.com/science/health/next-weeks-and-months-critical-who-expert-warn-on-covid-11660104824504.html