ช่วงนี้มีการเปิดภาพ “หมู่บ้านป่าแหว่ง” ที่กลายเป็น “หมู่บ้านร้าง” เชิงดอยสุเทพ ใกล้กับห้วยตึงเฒ่า จ.เชียงใหม่ เตือนความจำกันอีกครั้ง เนื่องจากมีความคืบหน้าทางคดี
ปรากฏว่าที่จังหวัดปลายด้ามขวานก็มี “ท่าเรือร้าง” ที่ภาคใต้ตอนล่าง แต่ไม่ได้เป็นข่าวโด่งดังเท่า “หมู่บ้านป่าแหว่ง” ทั้งๆ ที่ความเสียหายอาจไม่น้อยไปกว่ากัน และมีสภาพไม่ต่างจากสุสานคล้ายกัน
“ทีมข่าวอิศรา” ลงพื้นที่สำรวจ “โครงการปรับปรุงแผงกันคลื่นที่จอดพักเรือท่าเทียบเรือปัตตานี และปรับปรุงพื้นที่หลังท่า จังหวัดปัตตานี” ซึ่งเป็นโครงการของกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม
โครงการนี้ตั้งอยู่ที่ ตำบลบานา อำเภอเมืองปัตตานี ภาพที่เห็นผ่านสายตาภาพแรกที่ทีมข่าวเดินทางไปถึงก็คือ แค่ป้ายชื่อโครงการซึ่งทำเป็นป้ายหินอ่อนด้านหน้า ก็มีสภาพร้างอย่างเห็นได้ชัด ไม่มี รปภ.เฝ้าแม้แต่คนเดียว สามารถขับรถผ่านเข้าไปได้อย่างง่ายดาย
ที่ตั้งโครงการอยู่ห่างจาก “สี่แยกสะพานปลา” ตัวเมืองปัตตานีเพียง 1 กิโลเมตร เมื่อถึงป้ายบอกชื่อโครงการที่เป็นหินอ่อน ขับรถต่อเข้าไปจะพบสิ่งก่อสร้างที่เป็น “แผงกันคลื่นของที่จอดเรือ” และ “พื้นที่หลังท่า” ทั้งหมดเมื่อสังเกตด้วยตา น่าเชื่อว่าก่อสร้างเสร็จแล้ว แต่ไม่มีการเปิดให้เรือเข้าเทียบท่า
บรรยากาศโดยรวมเงียบเหงา ไม่มีผู้ดูแล ส่วนในทะเล บริเวณท่าเรือ มีเพียงซากเรือ และเรือที่ไม่สามารถใช้การได้จอดทิ้งไว้เป็นจำนวนมาก
ภาษาชาวบ้านแถวนั้นเรียกกันว่า “สุสานเรือ” เป็นสถานที่ที่นำเรือเก่ามาทิ้ง มีแต่ความเงียบสงัด เหมือน “ป่าช้าเรือ”
@@ สร้างเสร็จเกือบ 7 ปี สูญ 400 ล้าน แต่ถูกทิ้งร้าง
“ทีมข่าวอิศรา” ตรวจสอบโครงการนี้ หลังจาก รศ.วรวิทย์ บารู สส.ปัตตานี เขต 1 พรรคประชาชาติ อภิปรายประเด็นนี้ในสภาผู้แทนราษฎร
จากการพูดคุยสัมภาษณ์เพิ่มเติมกับ อาจารย์วรวิทย์ ได้ข้อมูลว่า
- โครงการนี้ก่อสร้างเสร็จตั้งแต่เดือน พ.ย.2561
- เจ้าของโครงการคือ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม
- งบประมาณรวมกว่า 400 ล้านบาท แต่ไม่สามารถใช้งานได้จริง
- ตัวเลขงบประมาณ 400 กว่าล้านบาท เป็นการรวมงบจากโครงการปรับปรุงแผงกันคลื่นที่จอดพักเรือ 160 กว่าล้าน และมีโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ ใช้งบอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งยังมีการเพิ่มการก่อสร้าง “ท่าจอดพักเรือ” ซึ่งมีศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. สนับสนุนงบประมาณ เพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่สำหรับขนถ่ายสินค้า ตามการขยายด้วยทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะด้านการประมงด้วย
- สาเหตุของปัญหาที่ทำให้ใช้งานไม่ได้ คือ น้ำทะเลตื้นเขิน ความลึกเพียง 1-2 เมตรเท่านั้น ประชาชนงมหาหอยได้ แต่เรือผ่านเข้าไปจอดไม่ได้ ส่งผลให้เรือประมงยังต้องจอดในจุดเดิม (เท่ากับไม่ได้ขยายพื้นที่จอดพักเรือ)
- ผลที่ตามมา คือ แทนที่โครงการนี้จะช่วยขยายศักยภาพด้านการประมงของจังหวัดปัตตานี ซึ่งถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางอุตสาหกรรมประมงที่สำคัญของประเทศ แต่กลับใช้งานไม่ได้ กลายเป็นสุสานจอดเรือประมงที่ปลดระวางแล้วแทน
@@ ซ้ำรอย “เสมาตานี” - จ่อตรวจสอบ “นิคมฮาลาล”
ความน่าสนใจของปัญหาท่าเรือร้างก็คือ ก่อนหน้านี้ไม่ได้ อาจารย์วรวิทย์ บารู สส.คนเดียวกันนี้ เพิ่งอภิปรายในสภาเรื่อง “อาคารหอประชุมร้าง” ที่ชื่อ “เสมาตานี” ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองปัตตานีเช่นกัน ใช้งบประมาณก่อสร้างกว่า 7 ล้านบาท แต่ใช้งานไม่ได้ เนื่องจากไม่มีงบซื้อเฟอร์นิเจอร์ และอุปกรณ์โสตสำหรับการประชุม ทำให้ต้องปิดอาคารไว้เกือบตลอดเวลาเกือบ 4 ปี สภาพจึงทรุดโทรมลงเรื่อยๆ
อ่านประกอบ : “เสมาตานี” หอประชุมนี้ใกล้ร้าง ทุ่มสร้าง 7 ล้าน ใช้งานไม่ได้ เหตุไร้งบตกแต่ง!
“ปัญหาที่สำคัญที่เกิดขึ้นในพื้นที่ คือการก่อสร้างโครงการต่างๆ โดยขาดการวางแผนที่เหมาะสม ส่งผลให้โครงการเหล่านั้นถูกปล่อยทิ้งร้าง หรือใช้งานไม่ได้จริง” สส.วรวิทย์ กล่าว
สส.ปัตตานี ซึ่งเคยเป็นอาจารย์และผู้บริหารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวอีกว่า ยังมีประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนอีกหลายโครงการที่เกิดจากภาษีของประชาชน แต่เมื่อสร้างแล้ว ใช้งบแล้ว กลับไม่สามารถใช้งานได้ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลที่จะอภิปรายเรื่องของโครงการนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานีด้วย
@@ เปิดตัวผู้รับเหมา - รัฐฝันใหญ่...ใครผิด?
จากการตรวจสอบเพิ่มเติมของ “ทีมข่าวอิศรา” พบว่า โครงการปรับปรุงแผงกันคลื่นที่จอดพักเรือท่าเทียบเรือปัตตานี และปรับปรุงพื้นที่หลังท่า จังหวัดปัตตานี มีกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เป็นผู้ว่าจ้าง โดยมี บริษัท พอร์ท แอนด์ มารีน คอร์ปอเรชั่น (พี.เอ.เอ็ม.) จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ระยะเวลาก่อสร้าง 900 วัน เริ่มทำสัญญา 1 เม.ย.2560 สิ้นสุดสัญญา 17 ก.ย.2562 มูลค่างานเฉพาะส่วนนี้ 160,179,000 บาท
บริษัท พอร์ท แอนด์ มารีน คอร์ปอเรชั่น (พี.เอ.เอ็ม.) จำกัด ดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอาคาร, ท่าเทียบเรือ, เขื่อนป้องกันตลิ่ง ,Break Water, ตั้งอยู่ถนนสุทธิสาร เขตห้วยขวาง กทม.
ที่มาของโครงการ เริ่มจากเมื่อวันที่ 14 พ.ย.57 ส่งหนังสือขอความอนุเคราะห์ งบประมาณจัดทำ “ชีทไพล์” หรือ “ระบบป้องกันดินพัง” มีลักษณะเป็นเหล็กลอน ใช้ตอกแนวดิ่ง ติดตั้งบริเวณท่าจอดเรือปัตตานี เพื่อป้องกันตะกอนดินไม่ให้ไหลเข้าที่จอดพักเรือ เพื่อให้การใช้งานท่าเทียบเรือมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับการสัญจรทางน้ำที่ขยายตัวขึ้น และรองรับเรือขนาดใหญ่ ประหยัดงบประมาณในการขุดลอกที่จอดพักเรือ และสามารถแก้ไขปัญหาเรือแน่น เรือล้น เพราะรองรับเรือได้ 100 ลำในภาวะปกติ และ 300 ลำในช่วงมรสุม
วิธีการจะมีการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ยาว 875 เมตร ตลอดแนวหน้าท่าเทียบเรือ พร้อมขยายพื้นที่ใช้สอย 875 ตารางเมตร และติดตั้งระบบกันกระแทกด้านหน้าท่าเทียบเรือจำนวน 230 จุด
ต่อมาวันที่ 4 ก.พ.2558 ศอ.บต.ได้สนับสนุนการจัดสรรงบประมาณท่าจอดพักเรือ ส่วนที่ 2 เพื่อรองรับเรือขนาดใหญ่และการขยายด้วยทางเศรษฐกิจด้านการประมง เมื่อขนถ่ายสินค้าประมงเรียบร้อยแล้ว จะได้ไม่ต้องจอดเรือขวางลำน้ำปัตตานี แต่เนื่องจากบริเวณที่พักเรือไม่มีระบบสาธารณูปโภคที่จะรองรับลูกเรือเข้าไปใช้บริการ ทำให้ไม่มีผู้เข้าไปใช้บริการ
กรมธนารักษ์จึงอนุญาตให้เปลี่ยนวัตถุประสงค์ของการบริหารและให้บริการท่าจอดเรือ แต่สุดท้ายก็ติดปัญหาน้ำทะเลตื้นเขิน เรือไม่สามารถเข้าไปจอดได้อีก แม้ ศอ.บต.ได้ขอความร่วมมือบูรณาการแก้ปัญหาปรับปรุงท่าเทียบเรือ เพื่อเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนธุรกิจประมงจังหวัดชายแดนภาคใตในเวที AEC หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็ตาม
------------------------