รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์ถึงสถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงในเมียนมา ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งผลทางการเมืองและสงครามกลางเมืองของเมียนมาด้วย รวมถึงบทบาทของอาเซียนที่จะเข้าไปสร้างกระบวนการสันติภาพและลำเลียงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
อาจารย์ฐิติวุฒิ ให้ข้อมูลสถานการณ์ล่าสุดว่า ศูนย์กลางแผ่นดินไหวเกิดในภาคกลางของเมียนมา ทั้งสะกาย มัณฑะเลย์ และมะก่วย ขณะที่ส่วนอื่นๆ ของประเทศ เช่น รัฐคะยา ทางตะวันออกเฉียงใต้ของปรเทศ ไม่มีรายงานความเสียหายมากนัก
สาเหตุที่เสียหายหนัก และมีภาพปรากฏต่อสายตาชาวโลกมาก เนื่องจากวันเกิดแผ่นดินไหวเป็นวันพระใหญ่พอดี คนไปทำบุญกันจำนวนมาก จึงมีภาพเจดีย์หักหรือถล่มลงมาเยอะ เพราะคนไปทำบุญช่วยกันบันทึกภาพเอาไว้
ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิต ตัวเลขมากกว่าพันคนแน่นอน เพราะในซากตึกหลายแห่ง เพิ่งมีข่าวมาช่วงสายวันนี้ก็มีเด็กติดอยู่ 60 คน ขณะที่พื้นที่มัณฑะเลย์เป็นพื้นที่เศรษฐกจ มีอพาร์ทเมนต์ คอนโดฯ ถล่มลงมาเยอะมาก และยังไม่มีการเข้าไปกู้ชีพกู้ภัย ฉะนั้นความเสียหายที่ยังไม่เป็นข่าวและยังไม่มีรายงาน ยังมีอีกมาก ล่าสุดรัฐบาลจีนส่งหน่วยกู้ชีพกู้ภัย และหน่วยบรรเทาทุกข์เข้าไปด้วย เพราะจีนเป็นประธานสมาพันธ์กู้ภัยโลก นอกจากนั้นก็ทีมของรัสเซีย
อาจารย์ฐิติวุฒิ กล่าวต่อว่า ได้คุยกับคีย์แมนคนสำคัญของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ทราบว่ากำลังมีความพยายามคุยกับฝั่งรัฐบาลว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่จะหยุดยิงชั่วคราว เพราะจุดที่เกิดแผ่นดินไหวหนักๆ เป็นพื้นที่ที่รบกันหนักเช่นกัน เนื่องจากฝ่ายต่อต้านต้องการปิดเส้นทางไปเนปิดอว์
อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความขัดแย้งและสงครามกลางเมืองในเมียนมาว่า ภัยพิบัติไม่เคยส่งผลต่อการหยุดยิงอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลย เพียงแต่ตอนนี้มีความหวังขึ้นมาบ้าง เพราะความสูญเสียเยอะ และรัฐบาลทหารน่าจะต้องการความช่วยเหลือจากนานาชาติค่อนข้างมาก แตกต่างจากเหตุการณ์พายุนากีสถล่ม เมื่อปี 2551 เพราะครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์ที่จบเร็ว เมื่อพายุผ่านไป สถานการณ์ก็คลี่คลาย แม้จะมีผู้เสียชีวิตมากถึง 43,000 กว่าคนก็ตาม แต่ครั้งนี้มีคนติดในซากแผ่นดินไหว และ พลเอกอาวุโส มิน อ่องหล่าย ถึงขั้นแถลงขอความช่วยเหลือจากนานาชาติด้วยตัวเอง แปลว่ายอมรับสภาพว่ารับมือไม่ไหวจริงๆ
แต่ปัญหาในการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในเมียนมาคือ ความช่วยเหลือโดยเฉพาะเครื่องอุปโภคบริโภคมักไปติดกั๊กเฉพาะพื้นที่อิทธิพลของฝ่ายรัฐบาลทหาร ไม่ส่งเข้าไปถึงพื้นที่ที่ฝ่ายกบฏ หรือฝ่ายต่อต้านมีอิทธิพลอยู่
อาจารย์ฐิติวุฒิ ยังประเมินว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่น่าจะส่งผลกระทบต่อแผนจัดการเลือกตั้งของรัฐบาลทหารด้วย โดยเฉพาะหากตัวเลขความสูญเสียแตะถึงหมื่น เนื่องจากพื้นที่ที่สามารถเลือกตั้งได้ คือเมืองใหญ่อย่างย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เนปิดอว์ ล้วนเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ถ้าตัวเลขสูญเสียมาก การเลือกต้งอาจจะถูกเลื่อนไป เพราะเป็นฐานการเมืองของฝ่ายรัฐบาลทหาร ที่สำคัญคือเมื่อจับปฏิกิริยของ พลเอกอาวุโส มิน อ่องหล่าย ชัดเจนว่า “เอาไม่อยู่” เพราะจำนวนทหารที่จะเข้าเข้าไปกู้ภัยก็ไม่พร้อม เนื่องจากที่ผ่านมาถูกส่งไปทำการรบ และสูญเสียเยอะมาก
อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา ยังบอกว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวน่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 2 ประการ ที่เป็นความหวังได้ คือ
1.คำประกาศหยุดยิง
2.การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
โดยอาเซียนน่าจะเข้าไปมีบทบาท เพียงแต่ต้องเจรจากันดีๆ โดยใช้ช่องทางของศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ หรือ AHA Centre ซึ่งมีแนวโน้มของความเป็นไปได้ เนื่องจากครั้งนี้รัฐบาลทหารเป็นฝ่ายขอความช่วยเหลือเอง ผิดกับที่ผ่านมาซึ่งนานาชาติขอส่งความช่วยเหลือเข้าไป แต่รัฐบาลทหารไม่อนุญาต
อาจารย์ฐิติวุฒิ ย้ำว่า การส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการประกาศหยุดยิงด้วย แต่ต้องเจรจาให้ดีว่า ต้องส่งความช่วยเหลือได้ทุกพื้นที่ ไม่ใช่เฉพาะพื้นที่ที่กองทัพจะจัดเลือกตั้งหรือมีฐานเสียงเท่านั้น
ส่วนบทบาทไทย บังเอิญว่าไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวด้วย จึงต้องดูแลตัวเองก่อน และเฝ้าระวังต่อไปอีกประมาณ 1 สัปดาห์ ฉะนั้นไทยก็ควรใช้กลไกศูนย์ AHA และอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ เช่น การอนุญาตให้ใช้สนามบิน หรือประสานการเจรจา